เฟดขึ้นดอกเบี้ย ยึด Data Dependent ไม่เป็นมิตรต่อลงทุน‘สินทรัพย์ดิจิทัล’
หากจะเอ่ยว่าตลอดปี 2565 “การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC)” เป็นหนึ่งใน Event ใหญ่ของโลกการเงินและการลงทุนที่สร้างความผันผวนมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนผ่าน ปัจจุบันตลาดการเงินโลกยังเผชิญ "แรงกดดัน" จากนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากเจ้าหน้าที่เฟดหลายคนแสดงความเห็นสนับสนุน การขึ้นดอกเบี้ยให้ “แรง” เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มระดับสูง
แม้ว่าที่ผ่านมา “เฟดขึ้นดอกเบี้ย” จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชะลอลง สอดคล้องกับนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า
ทว่าตลาดพันธมิตรบอนด์สวนทาง เนื่องจากบอนด์ปรับตัวสูงขึ้น โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐพลิกกลับมาปรับตัวขึ้น สู่ระดับ 3.77% และยังมีความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวจะปรับตัวสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ อาทิ ข้อมูลตลาดแรงงาน หรือ ข้อมูลเงินเฟ้อ ยังคงสนับสนุนแนวโน้มเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนอาจเกินระดับ 5%
ประกอบกับ สถานะความเป็นเส้นเลือดใหญ่ของสกุลเงิน “ดอลลาร์” ที่ยังคงอยู่ ซึ่งหมายถึงการเป็นสกุลเงินหลักที่ทั่วโลกยังคงให้ความเชื่อมั่นในการถือครองเพื่อเป็นทุนสำรอง และใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าในปัจจุบัน
ทำให้ การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ นั้น ไม่ว่าจะเป็นไปในทางที่ “ดี หรือ แย่” ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางก่อนถึง การประชุมเฟดครั้งสุดท้ายของปีนี้ (วันที่ 13-14 ธ.ค.) ซึ่งเฟดจะประกาศคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Dot Plot ใหม่ อีกหนึ่งสินทรัพย์เสี่ยงที่จับตาผลประชุมของเฟด อย่าง “สินทรัพย์ดิจิทัล” ยังคงเผชิญความผันผวนต่อเนื่อง ดังนั้น นักลงทุนควรจะทำตัวเช่นไร !
“ณัฐนันท์ บ่างสมบูรณ์” หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) ฟินโนมีนา จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ประเด็นดังกล่าวหากย้อนความกลับไปก่อนการประชุมเฟดเมื่อเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา ประมาณ 1 สัปดาห์ ตลาดยังมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การปรับตัวลงของราคาน้ำมัน และความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัวจะกดดันให้ FOMC นั้นชะลอท่าทีที่แข็งกร้าวต่อการใช้นโยบายการเงินลง
อย่างน้อยที่สุด ก็คือคาดหวังว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบเดือนพ.ย.ที่ผ่านมานั้น จะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ครั้งสุดท้าย ก่อนที่ในเดือนธ.ค. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50% และทยอยลดลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหยุดขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2 ปี 2566 และเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว FOMC จะกลับมาลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งก่อนปลายปี 66
แต่ผลสุดท้ายแล้วนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุม FOMC ที่ผ่านมานนั้น อาจกล่าวได้ว่า โดยส่วนใหญ่แล้วนั้นค่อนข้างผิดความคาดหวังของตลาดไปมาก โดยหลักๆ แล้วมีเพียงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่ม 0.75% สู่ระดับ 3.75% -4.0% ที่เป็นไปตามคาดการณ์ของตลาดแบบ 100%
หากแต่สิ่งอื่นๆ ที่ Fed พยายามสื่อสารออกมานั้น เรียกได้ว่าค่อนข้างผิดความคาดหวังในเชิงบวกของตลาดพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคาดหวังว่า Fed จะค่อยๆ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยลงนั้นเป็นไปตามคาดการณ์บางส่วน คือ การที่ FOMC เริ่มพิจารณาถึงความเป็นไปได้
แต่ก็ผิดคาดในหลากหลายจุด อาทิ การที่เจอโรมม์ พาเวลล์ ประธาน Fed ในฐานะตัวแทน Fed ระบุชัดว่าเมื่อพิจารณาจากข้อมูลล่าสุดนั้น ยังเร็วเกินไปที่จะคิดถึงเรื่องการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย และยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกไกล (ways to go)
กรณีที่ "เจอโรมม์ พาเวลล์" ยืนยันท่าทีเดิม ด้วยถ้อยคำใหม่คือ เงินเฟ้อที่สูงนั้นส่งผลต่อตลาดแรงงานมากกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ Fed เต็มใจที่จะใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวมากเกินไป ดีกว่าที่่จะตึงตัวน้อยเกินไป หรือ ผ่อนคลายเร็วเกินไป
แต่ถึงอย่างนั้น เจอโรมม์ พาเวลล์ ก็ไม่ได้ปิดตายความเป็นไปได้ที่จะค่อยๆ ลดโทนลงแต่อย่างใด เพราะท้ายที่สุดแล้วนั้น Fed ยังได้ยืนยันถึงหลักการ Data Dependent อย่างหนักแน่นผ่านทั้งการแถลงการณ์ที่ผ่านการร่างและตรวจสอบเป็นอย่างดีว่า
“ในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยในอนาคตนั้น คณะกรรมการจะพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงผลสะสมของนโยบายการเงินในอดีต, ผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อจากนโยบายการเงินที่ล่าช้า ตลอดจนพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเงิน”
เฟด ย้ำตัดสินใจบน Data Dependent
“ณัฐนันท์" มองว่า การที่ Fed ย้ำจะตัดสินใจตามข้อมูลที่ได้รับนั้น สำคัญอย่างยิ่งต่อการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหลาย กล่าวคือ Fed เลือกที่จะเปิดช่องเอาไว้ ทำให้ Fed มีความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินได้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์มากยิ่งขึ้น
ทั้งในโหมดปัจจุบันที่พยายามอย่างยิ่งยวดในการเอาเงินเฟ้อลง เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการจ้างงานหรือเศรษฐกิจในระยะยาว
ทั้งในโหมดที่เงินเฟ้ออาจเริ่มชะลอตัวลงมาแล้ว แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะ “เอาอยู่” จริงหรือไม่ ก็สามารถที่จะค้างดอกเบี้ยเอาไว้ได้ก่อน
ไปจนกระทั่งหาก Fed ประเมินแล้วว่าเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบมากเกินไป และเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าแล้ว ก็สามารถที่จะลดดอกเบี้ย เสริมสภาพคล่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้
มองว่า “ความยืดหยุ่น” นี่เอง ที่จะช่วยลดข้อครหา และความคลางแคลงใจต่อ Fed ที่ก่อนหน้านี้มักถูกโจมตีว่า “Behind The Curve” จากการที่ยืนยันอย่างต่อเนื่องว่าเงินเฟ้อเพียงชั่วคราว ก่อนที่จะเปลี่ยนท่าทีในช่วงปลายปี 2564 ผ่านมา ซึ่งการเปลี่ยนท่าทีดังกล่าวนั้นเป็นความพยายาม “กล่อม” ตลาด และ เอาตลาดไม่อยู่ จนต้องยอมรับความจริงในที่สุด ว่าเงินเฟ้อไม่ “ชั่วคราว” อีกต่อไป
ท่าทีเฟด “ไม่เป็นมิตร”กับนักลงทุนรันเทรนด์
อย่างไรก็ตาม ท่าทีดังกล่าวกลับไม่เป็นมิตรต่อนักลงทุนอย่างเราๆ เท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักลงทุนแบบรันเทรนด์ เพราะความ Data Dependent จะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่รายงาน โดยเฉพาะการจ้างงาน , รายได้ , เงินเฟ้อ และ คาดการณ์เศรษฐกิจ จะ สร้างความผันผวนได้อย่างต่อเนื่อง ยากที่จะรันเทรนด์ได้สุดแนวโน้ม
ดังนั้น ในแง่ของการเก็งกำไรแล้ว อาจเหมาะสมกับนักลงทุนที่เล่นรอบ หรือ Swing Trade เสียมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผันผวนสูงกว่าสินทรัพย์ทั่วๆ ไป ที่อาจทำให้เกิดรอบได้ถี่มากกว่า ในส่วนนักลงทุนระยะยาว อาจใช้การ ทยอยสะสมไม้น้อยๆ เพื่อบริหารความเสี่ยงไม่เข้าหนักจนเกินไป แต่ก็ไม่พลาดราคาที่ไม่สูงมาก
สุดท้ายมองว่า “จนกว่าข้อมูลที่ Fed Dependent นั้น” จะกดดัน Fed ให้ต้องกลับลำอีก แล้วจังหวะนั้น Fed และเราจะได้ Win ไปด้วยกัน