'อัลคอยน์' ผุดครองตลาด กูรูชี้เกณฑ์ 'คริปโทฯ' คุณภาพ
ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากมูลค่าตลาดวันที่ 22 พ.ค. 66 อยู่ที่ 1.12 ล้านล้านดอลลาร์ ตามดัชนีคอยน์มาร์เก็ตแคป และมีเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีทั้งหมด 24,434 สกุล รวมทั้งมีแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล หรือเอ็กซ์เชนจ์ในตลาดทั้งหมด 622 แห่ง
ย้อนกลับไปในเดือนพ.ค. ปี 2556 ในตลาดคริปโทฯ มีสินทรัพย์ดิจิทัลเพียงไม่ถึง 20 สกุล และมีมูลค่าตลาดเพียงแค่ 1.4 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น ถือว่าตลาดคริปโทเคอร์เรนซีเติบโตขึ้นกว่า 1000% ในระยะเวลา 10 ปี
“อัลคอยน์” ผุดครองสัดส่วนตลาดคริปโทฯ
“บิตคอยน์” ยังคงเป็นเหรียญที่มีมูลค่าสูงสุด ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เคยครองส่วนแบ่งตลาดมากถึง 93.96% และลดลงมาอยู่ที่ 45.84% ในตอนนี้ เนื่องจากมีเหรียญคริปโทฯ อื่นๆ หรือที่เรียกกันว่า “อัลคอยน์” ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาในตลาด และมีสัดส่วนทั้งหมด 54.16%
รายงานจาก Swan Bitcoin บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับคริปโทฯ ในสหรัฐ เผยข้อมูลว่าตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน มีเหรียญอัลคอยน์เกิดขึ้นทั้งหมดเกือบ 8,000 เหรียญ โดยมีเหรียญที่ไม่สามารถอยู่รอดในตลาดมากถึง 5,175 เหรียญได้สูญหายไปจากตลาด และมีเหรียญอัลคอยน์เกิน 90% เป็น “Scam” หรือเหรียญที่สร้างขึ้นมาเพื่อการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ยิ่งไปกว่านั้น มีอัลคอยน์เพียง 41 ตัว จากเกือบ 8,000 ตัวเท่านั้น นับตั้งแต่ปี 2559 ที่สามารถอยู่รอดมาถึงปัจจุบัน
จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนว่า เหรียญ “อัลคอยน์” ที่เกิดขึ้นในตลาดอย่างต่อเนื่องมีความน่าสนใจมากน้อยเพียงใด
“บิตคอยน์”คริปโทฯที่มีคาแรคเตอร์ชัดเจน
นายปรีชา ไพรภัทรกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีมีเหรียญต่างๆ ที่ออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่เหรียญที่จะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนจะต้องเป็นเหรียญที่มีคุณภาพ โดยหลักการสำคัญของเหรียญที่มีคุณภาพคือ การมี “ยูสเคส” หรือการใช้งานจริงที่ชัดเจน เป็นเหรียญที่มีความพร้อม ทั้งผู้ออกเหรียญซึ่งมีความแข็งแกร่ง และมีความมั่นคงทางเรื่องการเงิน มีความพร้อมของการใช้งานจริง เนื่องจากเมื่อมีการออกเหรียญมาสู่ตลาดแล้วจะต้องถูกนำไปใช้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ในทางกลับกันหากเหรียญนั้นๆ ไม่มียูสเคส หรือเป็นยูสเคสที่เกิดขึ้นน้อย จะไม่สามารถเติบโตในตลาดได้นาน เนื่องจากไม่มีการใช้งาน และหมดความน่าสนใจในท้ายที่สุด
“บิตคอยน์” คือ ตัวอย่างที่ชัดเจนของเหรียญคริปโทฯ ที่มียูสเคส ซึ่งสามารถเติบโต และแข็งแรงได้ด้วยตัวของมันเอง จากการมี “คาแรคเตอร์” ของเหรียญที่ชัดเจน ทำให้นักลงทุน และทุกคนใช้เหรียญในการโอนเงิน หรือทำธุรกรรมโดยที่ไม่สนใจราคาในปัจจุบัน เพราะสามารถเป็นตัวกลางในการโอนเงินได้จริง หรือที่เรียกว่า “ออร์แกนิค ทรานแซคชัน”
ส่วนเหรียญอัลคอยน์ที่ไม่มีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนทำให้ทรานแซคชันที่ออกมาในระบบนั้นเกิดขึ้นจากการเกร็งกำไร แม้ว่าจะมีปริมาณเหรียญในตลาดมากแต่โอกาสที่จะเข้ามาสนับสนุนการเติบโตในตลาดมีน้อย
กฎระเบียบใหม่คัดกรอง “คริปโทคุณภาพ”
นายสรัล ศิริพันธ์โนน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า เหรียญอัลคอยน์ที่เกิดขึ้นใหม่จำนวนมากในปัจจุบัน ถูกสร้างขึ้นอย่างง่ายดาย ซึ่งบางโปรเจกต์ไม่มีโอกาสในการเติบโตหากหมดความน่าสนใจ และไม่อาจอยู่รอดในตลาดคริปโทฯ ได้ในท้ายที่สุด จึงควรศึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นโปรเจกต์ใหญ่ๆ ที่มีการใช้งานที่เกิดขึ้นจริงมากกว่า
อย่างไรก็ดี ตลาดคริปโทฯ และอุตสาหกรรมคริปโทฯ เติบโตขึ้นจากการได้รับการยอมรับ และการเปลี่ยนแปลงจากหลายฝ่ายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ขณะนี้ทางฝั่งยุโรปกำลังออกกฎเกณฑ์สำหรับตลาดคริปโทฯ เพื่อให้ทุกคนทั้งนักลงทุน และผู้ให้บริการมีเฟรมเวิร์คเดียวกัน นั้นคือกฎหมาย “MICA” หรือ Markets in Crypto-Assets Act หรือ MiCA เป็นกรอบกฎหมายที่ใช้กำกับสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายการเงินฉบับเดิม
โดยธุรกิจหรือผู้ให้บริการด้านคริปโทเคอร์เรนซีจะต้องมีใบอนุญาตดำเนินการ และจะต้องเปิดเผยปริมาณการใช้พลังงานด้วย ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของ MiCA คือ การทำให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีมาตรฐานการกำกับดูแลสินทรัพย์คริปโทฯ ที่เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน จะทำให้อุตสาหกรรม และนักลงทุนมีความมั่นใจในด้านกฎหมาย
ทั้งนี้ นายสรัลเชื่อว่า การสร้างกฎระเบียบใหม่ที่มีความชัดเจนมากขึ้น จะช่วยคัดกรองสินทรัพย์ดิจิทัลให้เหลือเพียง “สกุลเงินที่มีคุณภาพ” สู่การเป็นตลาดการลงทุนที่น่าสนใจ และแตกต่างจาก “ตลาดหุ้น” ไปโดยสิ้นเชิง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์