ตลาด‘คริปโท’ซบเซา 2ไตรมาสติด ! ฉุดวอลุ่มเทรด ‘หดตัว’ ทั้งอุตสาหกรรม

ตลาด‘คริปโท’ซบเซา 2ไตรมาสติด !  ฉุดวอลุ่มเทรด ‘หดตัว’ ทั้งอุตสาหกรรม

“คอยน์เกกโก” (CoinGecko) เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล เผยรายงานอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี่ประจำไตรมาส 2 ของปี 2566 พบว่า ตลาดคริปโทเติบโตเพียง 0.14% หรือ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์

โดยมีมูลค่าตลาดรวมทั้งหมด ณ วันที่ 30 มิ.ย.66 อยู่ที่ 1.240 ล้านล้านดอลลาร์ จาก 1.238 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.66  โดยในไตรมาสนี้ราคาของบิตคอยน์ (BTC) และ อีเธอเรียม (ETH) เคลื่อนไหวที่ระดับ 30,000 และ 1,900 ดอลลาร์ ตามลำดับ พบว่าราคาของบิตคอยน์เพิ่มขึ้น 6.9% ขณะที่อีเธอเรียมเพิ่มขึ้น 6.0%

แม้ว่าในวันที่ 12 เม.ษ. 2566 ที่ผ่านมา จะมีการอัปเกรดระบบหลังบ้านที่เรียกว่า "ชาเพลลา" (Shapella) ของอีเธอเรียม (Ethereum) ที่อาจทำให้ตลาดมีแรงซื้อเกิดขึ้น แต่ความเคลื่อนไหวในตลาดกลับ "ซบเซา" กว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้ โดยความเคลื่อนไหวตลาดคริปโทในไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งเห็นความชัดเจนของตลาด 5  ส่วนสำคัญด้วยกัน 

 

ราคาบิตคอยน์ปรับตัวขึ้น 6.9% ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ สะท้อนความเคลื่อนไหวจาก 28,517 ดอลลาร์ สู่ระดับ 30,481ดอลลาร์ ซึ่งในไตรมาสนี้ราคาบิตคอยน์แตะระดับ "สูงสุด" อยู่ที่  30,694 ดอลลาร์ หลังจากมีประกาศเกี่ยวกับการยื่นใบขอใบอนุญาตการจัดตั้งกองทุนบิตคอยน์แบบสปอต หรือ Bitcoin Spot ETF ของ BlackRock เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 66 รวมทั้งสถาบันการเงินหลายแห่งที่เผยความต้องการ (ดีมานด์) ในการจัดตั้งกองทุนบิตคอยน์เช่นกัน

ในขณะที่ปริมาณการซื้อขายบิตคอยน์ในไตรมาสนี้ กลับลดลงจากไตรมาสก่อนถึง 58.7% ที่มีวอลุ่มการซื้อขายบิตคอยน์อยู่ที่ 33.4 พันล้านดอลลาร์ ลดลงมาอยู่ที่ 13.8 พันล้านดอลลาร์ ท่ามกลางราคาบิตคอยน์ที่ปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 2 ไตรมาส 

ขณะที่เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2566 ราคาบิตคอยน์เคลื่อนไหวอยู่ที่ 29,809 ดอลลาร์ ลดลง 1.6% ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา 

แอนโธนี จอร์เจียเดส (Anthony Georgiades) ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มบล็อกเชน Pastel Network มองว่าค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อบิตคอยน์และตลาดคริปโทในวงกว้าง

มูลค่าตลาดรวมของสเตเบิลคอยน์ที่มีมูลค่าสูงสุด 15 อันดับในตลาด ลดลง 3.5% คิดเป็นมูลค่า 4.6 พันล้านดอลลาร์ นำโดย 2 เหรียญสเตเบิลคอยน์หลัก ได้แก่ USD Coin (USDC) ของคอยน์เบส (Coinbase) และ ไบแนนซ์ (Binance)Binance USD (BUSD)  2 แพลตฟอร์มคริปโทยักษ์ใหญ่ สูญเสียมูลค่าตลาดลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย USDC ลดลง 15.9% หรือ 5.18 พันล้านดอลาร์ และ BUSD ร่วงลงมากถึง 45.4% คิดเป็น 3.43 พันล้านดอลลาร์ 

ด้านเหรียญสเตเบิลอคยน์อย่าง “ธีเธอร์” Tether (USDT) ยังคงแข็งแกร่งและได้รับส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น 4.4% คิดเป็นมูลค่า 3.48 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ธีเธอร์ครองส่วนแบ่งตลาดสเตเบิลคอยน์มากที่สุดถึง 66% ที่สูงที่สุด

ปริมาณการซื้อขาย NFT (Non-Fungible Token) ลดลง 35.0% จาก 4.84 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 1 ร่วงลงสู่ระดับ 3.15 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสที่ 2 โดยที่บล็อกเชนอีเธอเรียม (Ethereum) ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับการซื้อขาย NFT ในไตรมาสที่ 2 โดยมีส่วนแบ่งรายได้ 83.0% เป็นอันดับของตลาด NFT 

สำหรับ โซลานา (Solana) เป็นเครือข่ายบล็อกเชนที่ใช้ในการซื้อขาย NFT ที่มียอดขายลดลงมากที่สุดในไตรมาสนี้ลดลง 78.6% จาก 184.91 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 1 เป็น 39.66 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 2 เนื่องจากคอลเลคชัน NFT บางส่วนอย่างเช่น DeGods และ y00ts ถูกย้ายไปยังตลาดอื่นๆ ในอีเธอเรียมและโพลีกอน (Polygon)

รวมทั้งปริมาณการซื้อขายแบบสปอต (Spot) หรือการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ราคาปัจจุบันในตลาด ณ เวลานั้นๆ ในตลาดแบบรวมศูนย์ หรือ Centralized Exchange (CEX) ใน เอ็กซ์เชนจ์ 10 อันดับ มีมูลค่าการซื้อขายลดลง 43.2% คิดเป็นมูลค่า 1.42 ล้านล้านดอลลาร์ จากไตรมาสที่ 1 แม้ว่าตลาดจะสามารถฟื้นตัวในไตรมาสที่ 1 แต่มูลค่าการซื้อขายในไตรมาสที่ 2 ยังไม่เติบโตในเชิงบวก

ท่ามกลางความกดดันจากหน่วยงานกำกับดูแลของ ก.ล.ต.สหรัฐฯ ที่ยื่นฟ้องไบแนนซ์ กรณีละเมิดกฎหมายหลักทรัพย์ทำให้เสียส่วนแบ่งตลาดลดลงจาก 61% ในเดือนมี.ค.2566 ไปยัง 52% ในเดือนมิ.ย. 2566 

ในขณะที่ปริมาณการซื้อขาย Spot ใน 10 ตลาดการซื้อขายแบบกระจายศูนย์ หรือ Decentralized Exchange(DEX) ที่ใช้สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) จึงทำให้นักลงทุนสามารถทำธุรกรรมได้ผ่านบล็อกเชน มีปริมาณลดลง 30.8% จากไตรมาสที่ 1 มาอยู่ที่ 1.55 แสนล้านดอลลาร์

แม้ว่าตลาดจะได้แรงหนุนจากมีมคอยน์ (Meme Coin) ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนระยะสั้น แต่ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นปริมาณการซื้อขายในตลาดได้ แต่ถือว่ามีปริมาณการซื้อขายที่ลดลงน้อยกว่าถ้าเทียบกับตลาด CEXs โดย “ยูนิสแวป” (Uniswap) ยังครองส่วนแบ่งตลาด DEX มากที่สุดถึง 70% ในไตรมาสนี้

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความกลัวและความโลภของตลาดคริปโท (Crypto Fear & Greed Index) ตกสู่ระดับปานกลางที่ค่าเฉลี่ย 50 ตลาดทั้งไตรมาส บ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อตลาดอยู่ระหว่างความกลัวอย่างสุดขีดอาจเป็นสัญญาณว่านักลงทุนมีความกังวลมากเกินไป และความโลภมากที่อาจส่งผลต่อการปรับฐานจากปริมาณการซื้อขายในตลาดที่มีจำนวนมากขึ้น