‘ดิจิทัลวอลเล็ต’เพื่อไทย เปิดมุมมองด้านเทคฯ เกิดขึ้นจริงใน 1 ม.ค.67 หรือไม่?
เงินดิจิทัล หรือ “เงินดิจิทัล 10,000” หนึ่งในนโยบายพรรคเพื่อไทย ที่แสดงถึงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนด้าน”เศรษฐกิจดิจิทัล” จนทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงนโยบายดังกล่าวว่าใช้อย่างไร มีเงื่อนไขอย่างไร และมีความเป็นไปได้จริงหรือไม่
ในมุมมองของวงการบล็อกเชนตั้งคำถามว่า “บล็อกเชน” จะใช้เทคโนโลยีอะไร บล็อกเชน หรือรูปแบบการเงินกระจายศูนย์ (Decentralized ) ใด
*DeFi (Decentralized Finance) หรือบริการทางการเงินแบบไม่รวมศูนย์ เป็นแนวคิดที่ให้ผู้ใช้งานบริการทางการเงินมาดูแลระบบหรือตรวจสอบ
เพื่อไทยจะใช้ “แอพเป๋าตัง” หรือ “CBDC”
แหล่งข่าวจากวงการบล็อกเชน เปิดเผยกับทางกรุงเทพธุรกิจว่า ความน่าจะเป็นของ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ของรัฐบาลมีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นแนวทางในการพัฒนาอย่าง แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” หรือ การใช้ “บาทดิจิทัล” CBDC หรือ “สกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติ” ที่อยู่ในการควบคุมดูแลของ “แบงก์ชาติ” ธนาคารแห่งประเทศไทย
ต่อมาคือ “เทคโนโลยีเบื้องหลัง” ของดิจิทัลวอลเล็ตนั้น จะใช้เทคโนโลยีใด ?
ถ้าเพื่อไทยคาดหวังในการใช้ “เทคโนโลยีบล็อกเชน”ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ทันใช้ภายใน 1 ม.ค.67 ที่ต้องรองรับการธุรกรรมขนาดใหญ่ของจำนวนประชากร 50 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งอาจมีการทำธุรกรรมเป็นหลักหมื่นครั้งใน 1 วินาที อาจยังไม่มี”ความเสถียร” มากพอ
ยกตัวอย่างบล็อกเชนใหญ่ๆ อย่าง “อีเธอเรียม” Etherum หรือ “โซลานา” Solana ที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในทั่วโลก และมียอดการทำธุรกรรมราว 4-5 หมื่นครั้ง ต่อวินาที ซึ่งยังเกิดความขัดข้องให้ระบบล่มอยู่บ่อยครั้ง
3 เงื่อนไขปลดล็อคใช้งาน “ดิจิทัลวอลเล็ต”
รวมทั้งทางเพื่อไทยเองยังไม่มีการพูดถึงแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน ที่โฟกัสไปถึงแค่คำว่า “ดิจิทัล” เท่านั้น เนื่องจากการพัฒนาดิจิทัลวอลเล็ตให้พร้อมใช้งานภายในระยะเวลาราว 4 เดือน จนถึง 1 มกราคม 2567 นั้น ต้องคำนึงถึง 1.ต้นทุนในการจัดการ 2.กำลังคนในการพัฒนา และ 3.ระยะเวลาที่ค่อนข้างกดดัน
ทำไมถึงใช้ “บล็อกเชน” ไม่ได้?
ในมุมมองของนักพัฒนาด้านบล็อกเชน และเทคโนโลยีด้านการเงิน มองว่าการทำธุรกรรมในบางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานจากบล็อกเชนเท่านั้น อาจเป็นระบบ Decentralized อื่น ที่สามารถพัฒนาปรับใช้ได้ และมีการทำงานที่รวดเร็ว ตอบโจทย์รูปแบบการใช้งานได้
มีความเป็นไปได้ที่นำบล็อกเชนมาใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน แต่”ไม่ควรทำ” เพราะเหมือนเป็นการนำเทคโนโลยีแบบกระจายศูนย์ Decentralized มาครอบด้วย การเงินแบบรวมศูนย์ Centralized ทำให้คุณประโยชน์ของระบบหายไป
ถึงตอนนี้ที่มีการตั้งคำถามในการใช้งานต่างๆนานา ก็ยังคงไม่มีความชัดเจน และน่าแปลกใจว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นหนึ่งในนโยบาย”เร่งด่วน”
อัพเดทเริ่มใช้ครึ่งปีแรก 2567
ล่าสุด น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการเริ่มจัดตั้งรัฐบาล ยังระหว่างการพิจารณาจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้เข้าบริหารประเทศตามกฎหมาย ดังนั้นขณะนี้จึงยังไม่มีการจัดทำแอปพลิเคชันดิจิทัลวอลเล็ต และยังไม่มีการลงทะเบียนใดๆ ทั้งสิ้น
พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ยืนยันว่าจะผลักดันนโยบายดิจิทัลวอเล็ต 10,000 บาท ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยโดยเร็วตามที่ได้หาเสียงไว้กับพี่น้องประชาชนทันทีเมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารประเทศตามกฎหมาย
โดยอยู่ในระหว่างที่ผู้เกี่ยวข้องกำลังเตรียมความพร้อมในการผลักดันนโยบายให้เป็นจริงโดยเร็ว
คาดว่าเริ่มใช้ได้ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ก่อนเทศกาลสงกรานต์ และจะเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีอัตโนมัติ ไม่มีการลงทะเบียนผ่านแอปฯ