ตลท.เร่งแก้โจทย์ ดันตลาด’ดิจิทัลโทเคน’คึกคัก
ปัจจุบันรูปแบบการลงทุนมีพัฒนาการไปในหลายรูปแบบ ซึ่งการลงทุนรูปแบบใหม่เกิดขึ้นพร้อมการพัฒนาของเทคโนโลยี เช่น โทเคนไนเซชัน ดิจิทัลโทเคน ถือเป็นหนึ่งในการลงทุนทางเลือก แต่ตลาดการลงทุนดั้งเดิมยังเป็นตลาดทุนที่ใหญ่กว่าตลาดการลงทุนแบบใหม่ในตลาดดิจิทัลมาก
แมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) และ ประธานกรรมการ บริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด (TDX) เปิดเผยว่า ตลาดดั้งเดิม (Traditional market) ของประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง อาทิเช่น ตลาดตราสารหนี้ หุ้นกู้ กองรีท(REIT) ที่น่าสนใจ และมีการIPO ในตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับความนิยม ทำให้ตลาดโทเคนดิจิทัลในประเทศไทยไม่ได้รับความสนใจ และไม่มีการใช้งาน ส่งผลให้ในตลาดโทเคนดิจิทัลไม่มีสภาพคล่อง
“ตลาดโทเคนดิจิทัลจะได้รับความนิยมก็ต่อเมื่อ ตลาดทุนลด หรือเลิกใช้ตลาดดั้งเดิม ซึ่งไม่มีความเป็นไปได้ เพราะธนาคาร บริษัทจำกั ดและบริษัทหลักทรัพย์ต่างมีความคุ้นชินกับระบบเดิม ทั้งในแง่ของการทำธุรกรรม การเพิ่มทุนในการทำธุรกิจด้วยรูปแบบต่าง รวมทั้งต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับ 2 ตลาด ทั้งตลาดดั้งเดิมและตลาดใหม่”
ทำให้ตลท. และสิงคโปร์ เห็นถึง “ปัญหา” ในการขับเคลื่อนตลาดโทเคนดิจิทัล ที่ทั่วโลกพยายามหาวิธีแก้ไข 3 ประการด้วยกัน คือ
1.ตลาดที่ไม่มีสภาพคล่อง เนื่องจากไม่มีการใช้งานประกอบกับตลาดที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น
2.ความไม่เข้าใจในประเภทสินทรัพย์ของหน่วยงานกำกับดูแล จากโทเคนดิจิทัลถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ใหม่สำหรับตลาดทุนอย่างมาก
3.ความไม่เข้าใจของผู้ประกอบการสำหรับการประยุกต์ใช้ร่วมกับธุรกิจ ในการมอง Core Valueหรือคุณค่าของรูปแบบธุรกิจ และความรวดเร็วของเทคโนโลยีในการทำธุรกรรมที่ยังต้องพัฒนาต่อไป
สำหรับปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งเสริมความรู้ความเข้าใจในตลาดโทเคนดิจิทัล ในเรื่องของเทคโนโลยี “บล็อกเชน” ที่มุ่งสู่ระบบการเงินแบบกระจายศูนย์หรือ Decentralized และสร้างความเข้าใจต่อนักลงทุนว่ารูปแบบการลงทุนนั้นมีความคล้ายคลึงกับการลงทุนในหลักทรัพย์อื่นๆ
แมนพงษ์ ย้ำว่า “คริปโทเคอร์เรนซี” และ “โทเคนดิจิทัล” มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
โดยคริปโท คือสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่มีการเข้ารหัส มีราคากลางในการซื้อขายแปรผันตามกลไกลตลาด
และฝั่งของโทเคนดิจิทัล แบ่งเป็น 1.ยูทิลิตี้โทเคน (Utility Token) ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้มาซึ่งสินค้า บริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง
2.อินเวสเมนท์โทนเคน (Investment Token)ในการให้สิทธิแก่ผู้ถือในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจกรรมใดๆ มีทั้งแบบโปรเจคต์เบส ( Project base) เช่น โครงการเดสตินีโทเคน(Destiny Token) สำหรับการสร้างภาพยนตร์บุพเพสันนิวาส 2 หรือโทเคนที่ออกโดยมีการใช้ทรัพย์สินที่มีมูลค่ามาค้ำประกัน (Asset-Backed Token) เช่น สิริฮับ(Siri Hub) หรือ เรียลเอ็กซ์ (RealX)
ส่วนซีเคียวริตี้โทเคน ( Security Token) ที่คล้ายกับการออกบอนด์หรือหุ้นกู้ ในรูปแบบของโทเคนแบบ “ไม่มีขั้นต่ำ“ในการซื้อหน่วยลงทุน และต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งปัจจุบันยังไม่ถือเป็นหลักทรัพย์ ตามพรบ.หลักทรัพย์ฯ โดยในต่างประเทศมีการพัฒนาซิเคียวริตี้โทเคนในการโทเคนไนซ์พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นแล้ว
ทั้งนี้ TDX ซึ่งให้บริการเป็นตลาดรองสำหรับการซื้อขายโทเคนดิจิทัลมีการเปิดใช้งานแล้ว ได้รับผลตอบรับตามที่คาดหวังไว้และได้ทำงานร่วมกับบริษัทพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง อาทิ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ในฐานะผู้ช่วยแนะนำลูกค้าที่ได้รับมอบหมายจาก TDX เพื่อเตรียมการในการให้บริการซื้อขายโทเคนดิจิทัลที่จะจดทะเบียนซื้อขายใน TDX
รวมถึงการให้ความรู้กับผู้เกี่ยวข้อง สู่การพัฒนา “TDX Application” แอปพลิเคชันซื้อขายโทเคนดิจิทัลประเภท Investment token และ Utility token ที่จดทะเบียนอยู่บน TDX โดยผู้สนใจสามารถใช้ “TDX Application” เพื่อเปิดบัญชีซื้อขายใน TDX และเมื่อมีโทเคนเข้าซื้อขายสามารถติดตามข้อมูลดูข้อมูลราคาโทเคนดิจิทัล และส่งคำสั่งซื้อขายโทเคนดิจิทัลได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน รวมทั้งบริหารจัดการพอร์ตสินทรัพย์ดิจิทัลของตนได้
โดยกระบวนการในการออกดิจิทัลโทเคนในตลาดแรกและตลาดรองของการ ICO (Initial Coin Offering) มีด้วยกัน 5 ขั้นตอนหลัก
เริ่มต้นด้วย 1.ผู้ออกและ ICO Portal (ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล) เตรียมโครงสร้างผู้ถือหุ้น ข้อมูลแผนธุรกิจ ทีมผู้บริหาร งบการเงินและWhite Paper
ในขั้นตอนที่ 2 การยื่นข้อมูลต่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติภายใน 60 วัน
จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 การเสนอขายวงกว้างในระยะเวลา 6 เดือน
ถัดมาคือขั้นที่ 4 ในการยื่นคำขอจดทะเบียนดิจิทัลโทเคนในตลาดรองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น TDX หรือ Bitkub ที่มีใบอนุญาติในการประกอบธุรกิจ
และขั้นตอนสุดท้ายในการพิจารณาอนุมัติและดำเนินการจดทะเบียน รวมทั้งเก็บดิจิทัลโทเคนไว้ใน Custodial Wallet
สำหรับการ ICO ในตลาดต่างประเทศเคยได้รับความสนใจอย่างมากเมื่อ 5-6 ปีก่อน และในตอนนี้คำว่า ICO ได้หายไปจากระบบแล้วเนื่องจากรูปแบบการเสนอขาย ICO ได้ถูกพัฒนาไปสู่ Tokennomic Platforms ที่มีเสถียรภาพทั้งผู้กำกับดูแลและผู้ออกเหรียญ