“เสริมเข้มโครงสร้างบอร์ดผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล”
เป้าหมายในการยกระดับ “การบริหารกิจการที่ดี” ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. มากยิ่งขึ้น เทียบเคียงกับหลักเกณฑ์ทางด้านหลักทรัพย์ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือ
วันนี้ขอมาคุยเรื่อง “สินทรัพย์ดิจิทัล” กันต่อนะครับ เนื่องจากที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านสินทรัพย์ดิจิทัลไปหลายเรื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก จึงมีเรื่องมาอัปเดทกันมากสักหน่อยครับ
การปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านสินทรัพย์ดิจิทัลของ ก.ล.ต. มีทั้งการพัฒนาเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแล “Utility Token พร้อมใช้” และการเปิดโครงการ Digital Asset Regulatory Sandbox (ตามที่ได้เล่าไปในตอนก่อนหน้านะครับ) และการกำกับดูแลเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านการบริหารกิจการ (governance) ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ที่เราจะมาคุยกันในวันนี้ครับ)
การปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านการบริหารกิจการในครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นการยกระดับ “การบริหารกิจการที่ดี” เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับลักษณะและความเสี่ยงของธุรกิจมากยิ่งขึ้น กรรมการและผู้บริหารมีความเข้าใจด้าน good governance รวมทั้ง มีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์การทำงานด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนมีความมั่นใจในการใช้บริการผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศมากยิ่งขึ้นครับ
โครงสร้างboard governance
เพื่อให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเหมาะสม และคณะกรรมการบริษัทสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก.ล.ต. จึงกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องมีกรรมการในคณะกรรมการบริษัท (board of director) ไม่น้อยกว่า 5 คน และอย่างน้อย 2 คนต้องเป็นกรรมการอิสระ
นอกจากนี้ ต้องมี “คณะกรรมการตรวจสอบ” ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ได้แก่ ต้องประกอบด้วยกรรมการอิสระไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการตรวจสอบทั้งหมด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 2 คน และประธานกรรมการตรวจสอบต้องเป็นกรรมการอิสระ
สาเหตุที่ ก.ล.ต. ต้องให้ความสำคัญกับองค์ประกอบของ “คณะกรรมการตรวจสอบ” เป็นเพราะคณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่ที่สำคัญ คือ (1) สอบทานงบการเงินประจำปี (2) สอบทานระบบควบคุมภายใน ระบบการตรวจสอบภายใน ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลการปฏิบัติงาน และระบบกำกับดูแลการปฏิบัติงาน (3) ติดตามดูแลการปฏิบัติตามกฎหมาย/จรรยาบรรณของบุคลากรของบริษัท และ (4) ตรวจสอบพฤติการณ์อันควรสงสัยว่า กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทได้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต
“กรรมการอิสระ” ต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย
สำหรับ “กรรมการอิสระ” เพื่อให้มั่นใจว่า มีความอิสระจากบริษัทอย่างแท้จริง ก.ล.ต. จึงกำหนดให้ต้องมีความเป็นอิสระใน 3 ด้าน คือ
(1) ความเป็นอิสระจากการมีส่วนได้เสียในฐานะผู้ถือหุ้น เช่น ถือหุ้นได้ไม่เกิน 10% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท
(2) ความเป็นอิสระจากการมีส่วนได้เสียในฐานะพนักงาน เช่น ไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ที่ปรึกษาที่ได้เงินเดือนประจำ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ประกอบธุรกิจ
(3) ความเป็นอิสระในด้านความสัมพันธ์ส่วนตัวกับบุคลากรของบริษัท เช่น ไม่เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต หรือโดยการจดทะเบียนตามกฎหมายในลักษณะที่เป็นบิดา มารดา คู่สมรส พี่น้อง และบุตร รวมทั้งคู่สมรสของบุตรของกับกรรมการรายอื่น ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุม
“คุณสมบัติ” ของผู้บริหาร
นอกจากกำหนดโครงสร้างการบริหารกิจการ (board governance) หน้าที่คณะกรรมการตรวจสอบ และความเป็นอิสระของกรรมการอิสระแล้ว การปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านการบริหารกิจการในครั้งนี้ ยังกำหนด “คุณสมบัติ” ของกรรมการผู้มีอำนาจและผู้จัดการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเติมอีกด้วย เนื่องจากธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีลักษณะหรือความเสี่ยงเฉพาะตัว รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศ กรรมการและผู้บริหารจึงจำเป็นต้องมีความรู้และประสบการณ์การทำงานด้านสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งความเข้าใจด้าน good governance
กรรมการผู้มีอำนาจและผู้จัดการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องมีประสบการณ์ทำงานด้านสินทรัพย์ดิจิทัลไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือผ่านการอบรมในหลักสูตรอบรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลตามรายชื่อหลักสูตรหรือลักษณะหลักสูตรที่ ก.ล.ต. กำหนด (ยกเว้นผู้ที่ได้ยื่นคำขอรับความเห็นชอบก่อนวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ซึ่งประกาศมีผลใช้บังคับ)
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่ ก.ล.ต. ยอมรับ โดยกรรมการ ผู้มีอำนาจและผู้จัดการที่ไม่เคยผ่านการอบรมมาก่อน จะต้องเข้าอบรมภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบ และสำหรับผู้ที่ได้ยื่นคำขอรับความเห็นชอบก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ จะต้องเข้ารับการอบรมภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ หรือภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2568 หากไม่ได้เข้ารับการอบรมตามกำหนดเวลาข้างต้น ให้ถือว่าการให้ความเห็นชอบสิ้นสุดลง
ตามที่ได้เล่าไปเมื่อตอนต้นนะครับว่า เป้าหมายในการยกระดับ “การบริหารกิจการที่ดี” ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. มากยิ่งขึ้น เทียบเคียงกับหลักเกณฑ์ทางด้านหลักทรัพย์ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือด้วยครับ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของการปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านสินทรัพย์ดิจิทัลของ ก.ล.ต. เท่านั้นครับ และยังมีอีกหลายเรื่อง ที่จะทยอยออกมาให้เห็นกันในเร็ว ๆ นี้ ทั้งด้านการพัฒนาและการกำกับดูแล ซึ่งทุกเรื่องที่มีการปรับปรุงนั้น ได้มีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อการพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย โดยมีการคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสมและเพียงพอครับ
ก.ล.ต. ดูแลตลาดทุน เพื่อให้คุณมั่นใจ