ชัชชาติ เตรียมอุทธรณ์คำสั่งศาล สั่ง กทม.จ่ายเงิน ให้บีทีเอส 1.2 หมื่นล้านบาท

ชัชชาติ เตรียมอุทธรณ์คำสั่งศาล สั่ง กทม.จ่ายเงิน ให้บีทีเอส 1.2 หมื่นล้านบาท

ชัชชาติ เตรียมอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง หลังสั่ง กทม.จ่ายเงินค่าจ้างเดินรถ - ค่าซ่อมบำรุง ให้บีทีเอส 1.2 หมื่นล้านบาท พบยังมีข้อกังวลว่า ความจริงแล้ว กทม.มีอำนาจจ่ายในส่วนนี้หรือไม่ ย้ำ กทม.ต้องคิดอย่างรอบคอบ และต้องยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ชดใช้ค่าเสียหาย 12,600 ล้านรวมดอกเบี้ย ให้กับบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กรณีผิดสัญญาชำระค่าตอบแทนการให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 โดยระบุว่า สำหรับเรื่องรถไฟฟ้าบีทีเอส ต้องบอกว่าเป็นเรื่องเก่า ที่มีการฟ้องกันตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นเรื่องเกี่ยวกับหนี้ที่มีการผูกพันอยู่ 

ดังนั้นขอศึกษาคำวินิจฉัยของศาลอีกครั้ง เพราะทาง กทม.เอง มีสิทธิอุทธรณ์ภายใน 30 วัน จะต้องปรึกษาทีมกฎหมาย และคณะผู้บริหารก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้ว มีเงินอยู่ 2 ส่วน เป็นเงินค่าจ้างส่วนต่อขยายที่ 1 และเงินส่วนค่าจ้างต่อขยายที่ 2 ส่วนที่หนึ่งประมาณ 2,000 ล้านบาท ส่วนที่ 2 ประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่รวมดอกเบี้ยแล้วประมาณหมื่นกว่าล้าน

ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ไม่ได้จ่ายมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ประเด็นที่ทาง กทม.จะพิจารณา คือ ส่วนต่อขยายที่ 1 ที่ค้างอยู่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อยังไม่จบก็ยังไม่สามารถชำระได้ ส่วนต่อขยายที่ 2 มีภาระกับบริษัทกรุงเทพธนาคม ในส่วนนี้เป็นส่วนของหนังสือมอบหมายงาน  กทม.จึงยังมีข้อกังวลว่า ความจริงแล้ว กทม.มีอำนาจจ่ายในส่วนนี้หรือไม่ เพราะไม่ได้มีการระบุชัดเจน เหมือนส่วนต่อขยายที่ 1  ประเด็นนี้จะนำไปประกอบในการยื่นอุทธรณ์กับศาลปกครอง

ทั้งนี้ในมุมมองส่วนตัว ยืนยันว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไรเพราะว่าเป็นเรื่องตั้งแต่ในอดีต ที่ทางคณะผู้บริหารชุดปัจจุบันไม่ได้เป็นคนทำไว้  แต่ก็อยากให้เกิดความยุติธรรม และทำให้เกิดความรอบคอบที่สุดเพราะสุดท้ายแล้วต้องนำเงินประชาชนไปจ่าย ถ้าพิจารณาแล้ว ว่ามีมุมไหนจะได้ความกระจ่างเพื่อให้ชัดเจน ก็จะให้ทางศาลช่วยพิจารณาเพิ่มเติม ก็ต้องมีการยื่นอุทธรณ์ต่อไป

และในอดีตที่ผ่านมา ยังไม่มีการชำระเงินมาหลายปีแล้ว จะให้ผู้บริหารชุดปัจจุบัน ที่เพิ่งเข้ามาเพียง 1-2 เดือน แล้วไปชำระก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย  เพราะฉะนั้นต้องดูอย่างละเอียด  แต่สิ่งที่น่าสนใจในหนังสือมอบหมายงาน ของส่วนต่อขยายที่ 2 คือ กรุงเทพธนาคมไม่ใช่ตัวแทนของ กทม.

นายชัชชาติ บอกอีกว่า เป็นตามนโยบายในช่วงหาเสียง ที่ตั้งใจไว้ว่าจะให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาถูกสำหรับคนกรุงเทพฯ ซึ่งตามอุดมคติ ควรจะมีเจ้าของเพียงคนเดียวเพื่อจะบริหารจัดการค่าโดยสารค่าแรกเข้าให้เป็นค่าเดียว แต่ถ้าต้องมีหลายผู้ดูแลค่าอะไรหลากหลายอย่างก็จะไม่ง่ายในการจัดการ

ส่วนเรื่องการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวหมอชิต-คูคต แม้จะเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. โดยตรง แต่จะต้องมีการรายงานให้ที่ประชุมสภา กทม. รับทราบ เพราะหากก่อหนี้ไปแล้ว จะต้องขออนุมัติงบประมาณ 

ส่วนการนำโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เข้าสภา กทม.ในวันที่ 14 กันยายน นี้ จะมีการรายงาน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ความเป็นมาของโครงการ เนื่องจากมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร มาใหม่ ยังไม่ทราบเรื่องราวของส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 

 2.เรื่องการจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ซึ่งฝ่ายบริหาร ได้วิเคราะห์อัตราค่าโดยสารของส่วนต่อขยายที่ 2 จากหลายแนวทาง จนได้ข้อสรุปว่าจะจัดเก็บ 15 บาท เนื่องจากเป็นการจัดเก็บในช่วงระยะเวลาสั้น ระหว่างรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เรื่องการขยายสัญญาสัมปทานให้กับเอกชน

และ 3. เรื่องที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) สอบถามความเห็น กทม. เรื่องการขยายสัญญาสัมปทานให้กับเอกชน ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์