“เงินบาท” อ่อนค่าไม่หยุด ล่าสุด 37.33 ต่อดอลลาร์ หลัง “เฟด” ขึ้นดบ.แรงต่อเนื่อง

“เงินบาท” อ่อนค่าไม่หยุด ล่าสุด 37.33 ต่อดอลลาร์ หลัง “เฟด” ขึ้นดบ.แรงต่อเนื่อง

ค่าเงินบาทไทย เช้าวันนี้(22 ก.ย.)​ ยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่องแม้ว่า รัฐบาลจะออกมาส่งสัญญาณว่า อยากเห็นค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในระดับไม่เกิน 35 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทไทยเช้าวันนี้(22 ก.ย.)​ ยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่องแม้ว่า รัฐบาลจะออกมาส่งสัญญาณว่า อยากเห็นค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในระดับไม่เกิน 35 บาทต่อดอลลาร์

โดยค่าเงินบาทเช้าวันนี้ เปิดตลาดที่ระดับ 37.25 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะอ่อนค่าลงต่อเนื่องมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 37.33 บาทต่อดอลลาร์ หรือคิดเป็นการอ่อนค่าราว 0.35% จากวันก่อนหน้า ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ซึ่งนับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในอัตรา 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน

นอกจากนี้ ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย(Dot Plot) ของ เฟด ยังคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะขึ้นไปแตะระดับ 4.4% และสิ้นปีหน้าคาดว่าจะแตะระดับ 4.6% 

จาก Dot Plot ที่ออกมาซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยที่แข็งกร้าว ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐเมื่อคืนที่ผ่านมาปรับตัวลดลงยกแผง โดย

ดัชนีดาวโจนส์ ลดลง 522 จุด หรือ 1.7% สู่ระดับ 30,183 จุด

ดัชนีแนสแดค ปิดตลาดลดลง 1.79%

ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดลดลง 1.71% 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า  เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าต่อเนื่องตามทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงบรรยากาศการปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ซึ่งอาจเห็นแรงขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติในวันนี้ได้ 

นอกจากนี้ การย่อตัวของราคาทองคำรวมถึงราคาน้ำมันดิบ อาจทำให้มีผู้เล่นบางส่วนเข้าซื้อทองคำและน้ำมันในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจเป็นแรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าเช่นกัน
 
พูน กล่าวย้ำว่า ผู้ลงทุนควรระมัดระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางหลัก ทั้งธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) 

โดยในส่วนของ BOJ จะต้องรอติดตามว่า BOJ จะมีการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มการเข้ามาแทรกแซงตลาดการเงินเพื่อพยุงค่าเงินเยนญี่ปุ่นหรือไม่ เพราะในแง่นโยบายการเงิน เราคาดว่า BOJ จะยังคงไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน จนกว่าจะถึงไตรมาส 2 ในปีหน้าที่จะมีการเปลี่ยนผู้ว่าฯ BOJ 

ส่วนการประชุม BOE นั้น ต้องระวังมุมมองของ BOE ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ เพราะหาก BOE กังวลภาพเศรษฐกิจอังกฤษถดถอยมากยิ่งขึ้น ก็อาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงต่อได้เช่นกัน 

ทั้งนี้ หลังจากที่เงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 37.20 บาทต่อดอลลาร์ โซนแนวต้านถัดไปที่เป็นไปได้ของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 37.30-37.50 บาทต่อดอลลาร์  

พูน กล่าวว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

โดยมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.15-37.40 บาทต่อดอลลาร์