"Sandwich Generation" วัยทำงานที่ต้องแบกภาระ "ลูก" และ "พ่อแม่"
ทำความรู้จัก "Sandwich Generation" ภาวะที่คนวัยทำงานที่มีครอบครัวแล้ว ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายทั้งลูกและพ่อแม่ ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
ท่ามกลางสภาวะ "เงินเฟ้อ" รวมถึง "เศรษฐกิจถดถอย" จากวิกฤติโควิด-19 ทำให้สถานะทางการเงินของหลายๆ คนต้องตกอยู่สภาวะถดถอยตามไปด้วย โดยหนึ่งในกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คงหนีไม่พ้นคนที่รับภาระการเงิน 2 ทาง ทั้งค่าเลี้ยงดูลูก และค่าใช้จ่ายสำหรับผู้สูงอายุในครอบครัวที่ประโคมเข้าหา "วัยทำงาน" แบบเต็มเหนี่ยว ที่เรียกว่า "Sandwich Generation"
- Sandwich Generation คืออะไร ?
"Sandwich Generation" เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในกลุ่มประชากรช่วงอายุระหว่าง 35-60 ปี ที่สร้างความเครียดให้คนวัยทำงานและวัยกลางคนที่กำลังสร้างครอบครัวแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากมีทั้งลูกให้ดูแล และยังต้องดูแลพ่อแม่ที่กำลังชราลงในเวลาเดียวกัน
จินตนาการง่ายๆ เหมือนกับกลุ่มวัยทำงานเหล่านี้เป็นตรงกลางของแซนด์วิชที่ถูกประกบด้วยค่าใช้จ่าย ไม่ต่างกับไส้แซนด์วิชที่หันทางไหนก็ขนมปังล้อมเอาไว้จนดิ้นไปไหนไม่ได้
ความน่ากังวลสำหรับคนที่อยู่ใน Sandwich Generation คือความเครียด และภาระที่ต้องรับผิดชอบทางการเงิน ที่นอกจากลูกและพ่อแม่แล้วยังต้องสร้างทรัพย์สินเพื่อดูแลตัวเองกับคู่สมรสไปด้วย ที่เรียกได้ว่าต้องหาเงินถึง 3 เท่า! ยิ่งไปกว่านั้นในบางครั้งพวกเขายังเป็นตัวกลางที่ต้องดูแลความรู้สึกของทุกๆ คนในครอบครัวไปด้วย
- เหนือ "Sandwich Generation" ยังมี "Triple-decker sandwich"
เป็นแซนด์วิชว่าหนักแล้ว แต่นอกจากนี้ภาระ 2 ทางแล้ว ยังมีภาวะที่เรียกว่า "Triple-decker sandwich" หรือ "แซนด์วิชสามชั้น" หรือ "แซนด์ วิชคู่" เกิดขึ้นด้วย โดยภาวะที่ว่านี้เพิ่มขึ้นมากกว่าแซนด์วิชแบบธรรมดาอีกระดับ
ตัวอย่างเช่น คนในวัย 60 ปี ที่ต้องช่วยกันดูแลหลาน ซึ่งช่วยให้ลูกที่โตแล้วทำงานได้ รวมทั้งช่วยเหลือพ่อแม่ของตนเองในวัย 90 ปีต่ออีกด้วย
- ทำไมถึงเกิด Sandwich Generation ?
ปรากฏการณ์นี้ไม่เกิดขึ้นแค่ในไทย แต่ยังเกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งมีที่มาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น "โครงสร้างประชากร" ที่กำลังเปลี่ยนเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" อย่างเต็มตัว ขณะที่วัยทำงานมีสัดส่วนน้อยลงเมื่อเทียบกับคนวัยเกษียณ ทำให้ภาระการดูแลชีวิตยามเกษียณของคนรุ่น Baby Boomer ตกมาสู่คนรุ่น "แซนด์วิช เจนเนอเรชัน" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกหนึ่งปัจจัยคือเรื่องของ "ค่าใช้จ่าย" ที่เพิ่มขึ้น เงินเฟ้อปรับตัวสูง ทำให้การออมเงินและการจัดสรรค่าใช้จ่ายต่างๆ ทำได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ
ในหลายประเทศ Sandwich Generation มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป เช่น ข้อมูลจาก BBC ระบุว่าในฟิลิปปินส์ กลุ่มคนที่ถูกประกบด้วยรายจ่ายมักเป็นผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 30-35 ปี ในขณะที่ในอังกฤษมีกลุ่มที่ต้องมีภาระอายุระหว่าง 45-54 ปี ส่วนในสหราชอาณาจักรประมาณ 3% ของประชากรกำลังดูแลมากกว่าหนึ่งรุ่น ไม่ว่าจะอยู่ในบ้านเดียวกันหรือหลายบ้านก็ตาม
หลังจากนี้จำนวนผู้ที่ตกในสภาวะแซนด์วิชจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนที่มีลูกก็จะมีชีวิตยืนยาวขึ้นขณะที่ผู้สูงอายุก็อายุยืนขึ้นเช่นกัน สิ่งที่น่ากังวลคือสถานการณ์เหล่านี้ ไม่ใช่ภาวะที่กดดันในระดับครัวเรือนที่ "ไม่พร้อม" เท่านั้น แต่ในมิติทางสังคมจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นไปจนถึงการมีลูกเมื่ออายุมากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่มีส่วนอย่างมากต่อปรากฏการณ์การสร้างแซนด์วิช ที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสังคมของเราในวงกว้างหากไม่จัดการอย่างเหมาะสมและทันท่วงที
- Sandwich Generation ต้องเจออะไรบ้าง?
ขาดสมดุลชีวิตการทำงานและครอบครัว: ยิ่งต้องทำงานหนักเพื่อหารายได้เข้าบ้านมากเท่าไร เวลาสำหรับครอบครัวก็ยิ่งลดลง คนที่เผชิญอยู่กับ Sandwich Generation ยากที่จะสร้างสมดุลในการทำงานและชีวิตครอบครัวได้และมักจะตามมาด้วยความรู้สึกผิดที่นำไปสู่สุขภาพจิตที่แย่
เผชิญความกดดัน ภาวะสุขภาพจิตถดถอย: การแบกรับความรับผิดชอบที่หนักอึ้งทำให้คนกลุ่มนี้มีภาวะเครียดสูง จนเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ และความขัดแย้งกับสมาชิกในบ้านอย่างรุนแรงได้
ไปไม่ถึงเป้าหมายชีวิตของตัวเอง: ด้วยภาระหน้าที่ดูแลความต้องการของครอบครัวมาก่อนตัวเอง แม้ในระยะสั้นจะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ดี แต่ในระยะยาวอาจนำไปสู่ความเหนื่อยล้า ท้อถอย หมดกำลังใจที่ไม่มีเวลาให้ตัวเองและไม่สามารถทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ และอาจขาดความเชื่อมั่นใจตัวเองได้
- รับมืออย่างไรเมื่อตกเป็นอยู่ใน Sandwich Generation
แม้ฟังดูเป็นเรื่องน่ากังวล แต่สถานการณ์เหล่านี้สามารถจัดการได้ด้วยการวางแผนที่ดีแต่แรก เริ่มต้นจากการ "หารายได้ให้มากพอ" จนครอบคลุมของคนทั้ง 3 เจนเนอเรชันในบ้าน ขณะเดียวกันก็ต้องวางแผนการเงินไว้อย่างชัดเจนสำหรับแต่ละช่วงวัยและเป็นสัดส่วน
เปิดใจคุยเรื่องการเงิน: แม้การคุยเรื่องเงินๆ ทองๆ จะเป็นเรื่องยากสำหรับบางครอบครัว แต่การเปิดใจคุยกันเรื่องการเงินเกี่ยวกับการรับผิดชอบที่ชัดเจนจะช่วยให้เห็นภาพรวมของการใช้จ่ายในครอบครัวร่วมกันมากขึ้น และทำให้สามารถจัดการเงินที่ง่ายขึ้นได้
เตรียมประกันให้ครอบคลุม: การซื้อประกันหรือเลือกแผนประกันชีวิต/ประกันสุขภาพเช่น ประกันชีวิตสำหรับตัวเอง โดยระบุผู้รับผลประโยชน์ให้กับทั้งพ่อแม่และลูก สามารถช่วยเป็นหลักประกันเมื่อต้องเกิดเหตุไม่คาดฝัน และไม่กระทบต่อเงินในกระเป๋า
ออมเงินในยามเกษียณ: แม้จะต้องดูแลทั้งลูกและพ่อแม่ แต่สิ่งที่จะลืมไม่ได้คือการวางแผนเก็บเงินเกษียณให้กับตัวเอง เพื่อไม่ให้ลำบากในอนาคต ซึ่งเป็นการลดปัญหาการเงินที่จะส่งต่อไปยังรุ่นลูกอีกด้วย
---------------------------------------------------
อ้างอิง: เฟซบุ๊ก UOB, BBC, SCB, Krungsri