กรุงศรี มองท่าที กนง.ขยับดบ.แบบค่อยเป็นค่อยไป คาดเดือนพ.ย.ขึ้นอีก 0.25%

กรุงศรี มองท่าที กนง.ขยับดบ.แบบค่อยเป็นค่อยไป คาดเดือนพ.ย.ขึ้นอีก 0.25%

กรุงศรี มอง กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% และมีมติเอกฉันท์ ครั้งนี้ ตอกย้ำท่าทีการปรับนโยบายสู่สภาวะปกติแบบค่อยเป็นค่อยไป คาดขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมรอบหน้า เดือน พ.ย. จากเงินบาทอ่อนค่าจากปัจจัยดอลลาร์แข็งค่าเร็วและยังอ่อนค่าสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค

จากผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อบ่ายวันนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.0% จากเดิม 0.75% ซึ่งเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่สองนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 เป็นไปดังที่ตลาดคาดการณ์  
 
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในด้านการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน โดยประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ที่ 3.3% ในปีนี้

อย่างไรก็ดี กนง. ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 เป็น 3.8% จากเดิมอยู่ที่ 4.2% โดยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทยจะอยู่ที่ 9.5 ล้านคนในปี 2565 และ 21 ล้านคน ในปี 2566

ในส่วนของอุปสงค์ต่างประเทศ กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงกว่าคาดส่งผลต่อภาคการส่งออก แต่ไม่ได้กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม

ในด้านแรงกดดันด้านราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 2.6% โดยประมาณในปี 2565 และอยู่ที่ 2.4% ในปี 2566 ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นจากครั้งก่อน
                                                                         

 นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า จากถ้อยแถลงของ กนง. ค่าแรงมีการปรับขึ้น แต่ยังคงไม่เห็นสัญญาณของการปรับขึ้นค่าแรงในวงกว้าง ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วมาที่ 38.30 บาทต่อดอลลาร์ หลังการประกาศของ กนง. โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าลงกว่า 15% แล้วในปีนี้ อันเป็นผลมาจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยและการคุมเข้มนโยบายอย่างแข็งกร้าวของเฟด

โดย กนง. มีความเห็นว่าการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง สืบเนื่องมาจากการแข็งตัวของค่าเงินดอลลาร์ แต่อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทยังคงมีการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ของประเทศในภูมิภาค กนง. ย้ำว่าจะยังคงติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความผันผวนรุนแรง 

คณะกรรมการกนง. มีกำหนดการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565  ด้วยถ้อยแถลงของ กนง. ครั้งนี้ตอกย้ำท่าทีการปรับนโยบายสู่สภาวะปกติแบบค่อยเป็นค่อยไป

อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกอยู่บ้างที่ กนง. มีมติเอกฉันท์ในการประชุมรอบนี้ คณะกรรมการมีความเห็นว่าเศรษฐกิจนั้นจะยังคงฟื้นตัวต่อไปท่ามกลางความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น โดย กนง. มีความพร้อมในการปรับขนาดและกรอบเวลาของการดำเนินนโยบายแต่ละขั้นตอนตามที่เห็นสมควร

กรุงศรีคาดว่าในการประชุมรอบหน้าจะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% และอาจจะมีการปรับขึ้นอีกครั้งละ 0.25% อีก 2 ครั้งในไตรมาส 1 ของปี 2566 ซึ่งในเบื้องต้นเราน่าจะได้เห็นการปรับอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 1.75% ในกรอบระยะเวลาดังกล่าว