ตลาดทุนไทย ‘สาหัส’ ผวาทรัมป์ โบรกเกอร์ชี้กังวลประกาศภาวะฉุกเฉิน ตั้งกำแพงภาษีนำเข้า ดัชนีผันผวนยาว
ตลาดทุนไทย ‘สาหัส’ ผวาทรัมป์ โบรกเกอร์ชี้กังวลประกาศภาวะฉุกเฉิน ตั้งกำแพงภาษีนำเข้า ดัชนีผันผวนยาว “ไทยบีเอ็มเอ” พบบริษัทถูกดาวน์เกรดหุ้นกู้ลงเป็น 46 บริษัท เหตุธุรกิจแย่
“หุ้นไทย” วานนี้ร่วงแรงปิดตลาด 24 จุด อยู่ที่ 1,362.97 จุด ดิ่งหนักตามภูมิภาค “บล.ยูโอบี เคย์เฮียน” ชี้ตลาดกังวล “ทรัมป์” มีแผนประกาศภาวะ “ฉุกเฉินทางเศรษฐกิจระดับชาติ” เพื่อตั้งกำแพงภาษีนำเข้า ห่วงปมขาดความเชื่อมั่นผู้บริหารนำหุ้นวางมาร์จิน บล.ซีจีเอส-อินเตอร์เนชันแนล คาดแรงเทขายหุ้นใหญ่ผลกระทบ GMT “ไทยบีเอ็มเอ” ชี้ปีก่อนพบบริษัทถูกดาวน์เกรดหุ้นกู้ 46 บริษัท เหตุธุรกิจแย่
ความเคลื่อนไหว “ดัชนีหุ้นไทย” วานนี้ (9 ม.ค.2568) ระส่ำอีกครั้ง ดิ่งแรงทำจุดต่ำสุดของวันที่ 27.45 จุด ก่อนมาปิดตลาด 24.75 จุด อยู่ที่ 1,362.97 จุด หรือ 1.78% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) 46,868.24 ล้านบาท ขณะที่ “นักลงทุนต่างประเทศ” (ต่างชาติ) ขายสุทธิจำนวน 2,215.83 ล้านบาท และนักลงทุนบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ขายสุทธิ 1,273.31 ล้านบาท
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภาพรวมของการลงทุนโลกตลาดปรับตัวลดลงจากความกังวลการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐ เนื่องจากทรัมป์มีโอกาสประกาศภาวะฉุกเฉินด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นเหตุผลใช้ในการออกกฎหมายเก็บภาษีจากประเทศทั่วโลก เพื่อให้ค้าขายกับสหรัฐได้ จึงกดดันเอเชียโดยรวม
อย่างไรก็ตาม ในฝั่งบ้านเราถือว่า ปรับตัวลดลงค่อนข้างแรงกว่าตลาดภูมิภาค โดยประเมินมาจาก นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นจากจำนวนหุ้นที่มีการวางมาร์จินในหลักประกันสูงๆ ซึ่ง ณ ขณะนี้ หุ้นที่มีการวางมาร์จินมากกว่า 20% ของทุนจดทะเบียนมีประมาณ 23 หลักทรัพย์ และที่มากกว่า 15% มีประมาณ 50 หลักทรัพย์ ซึ่งมีมาร์จินสูง และตลาดไม่ดีอาจจะมีทริกเกอร์ให้เกิดแรงขายหนักๆ ลงมาตามกันจนเกิดปฏิกิริยาที่เป็นลูกโซ่ได้
รวมถึงกรณีการกู้ยืมนอกตลาดของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ซึ่งรับมือได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากว่าหลายครั้งไม่มีสัญญาณบ่งชี้ต่าง ๆ ได้ เพราะไม่สามารถหาข้อมูลได้ ซึ่งที่ผ่านมาจะมีหุ้นหลายตัว
ดังนั้นจึงกลายเป็นว่านักลงทุนมีความกังวล และเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น และความกังวลการที่บริษัทหลักทรัพย์มีความเข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยมาร์จิน หลังจากที่ ก.ล.ต.รับฟังความเห็นในการปรับปรุงเกณฑ์ Margin loan ใหม่ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะหลัก ๆ ไม่ได้มีการนำไปซื้อขายปกติสักเท่าไร แต่บนหลักเกณฑ์สำคัญที่กำลังอยู่ในการรับฟังความคิดเห็นจะเกี่ยวกับการปล่อยมาร์จินให้หุ้น IPO
ทั้งนี้อาจจะไม่ให้มีการปล่อยมาร์จินหุ้น IPO ช่วง 14 วันแรก เพราะถือว่ายังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะประเมินความเสี่ยง เป็นต้น แม้ว่าจะมีผลกระทบต่อหุ้น IPO บ้าง แต่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการทำราคา หรือการเก็งกำไรที่ไม่สมเหตุสมผลไปด้วย ต้องเป็นเงินจริงเท่านั้น ซึ่งถือว่า เป็นเรื่องที่ดี และยังเป็นการป้องกันความเสี่ยงของธุรกิจไปด้วย
นักลงทุนเสียศรัทธา-กังวลนำหุ้นวางมาร์จิน
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการปล่อยกู้ที่กระจุกตัว และกู้ไม่ถูกวัตถุประสงค์ เพราะ Margin loan คือ การปล่อยกู้หลักเพื่อซื้อหลักทรัพย์ แต่ช่วงที่ผ่านมา ผู้บริหารมองว่า หุ้นเป็นสินทรัพย์ส่วนตัว และนำไปวางมาร์จิน และนำเงินที่ได้ไปทำอย่างอื่น ๆ ในหลักการสามารถทำได้ แต่นั่นไม่ใช่ Margin loan
อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าว อาจทำให้นักลงทุนไม่เข้าใจ และคิดว่าจะเป็นการลดสภาพคล่องที่อยู่ในตลาด จนมองเป็นลบ และเป็นสัญญาณที่ไม่ดีหรือไม่ แต่แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่ดีต่อตลาดในระยะยาว เพราะปีนี้จะเห็นได้ว่า มีผู้บริหารนำหุ้นไปจำนำหรือไปผ่านกระบวนการวางมาร์จิน และหุ้นดิ่งไปหลายฟลอร์
“ในช่วงนี้นักลงทุนเสียศรัทธาการลงทุนไปค่อนข้างเยอะ เพราะหุ้นหลายตัวที่ไม่ได้ลงเพราะผลประกอบการ เพราะผลประกอบการยังมีแนวโน้มที่ดี แต่พอทุกคนกลัวความเสี่ยงก็ขาย ก็เป็นการสร้างแรงกดดันในกับคนที่ถือ จึงเป็นการขายลดน้ำหนักตามกันลงมา"
ดังนั้นนักลงทุนอาจต้องดูสถานการณ์การลงทุนของตัวเองว่าลงทุนเพราะอะไร หากลงทุนเก็งกำไรที่เกี่ยวกับราคาหลักทรัพย์อย่างเดียวที่ไม่เกี่ยวกับผลประกอบการ แปลว่าต้องเก็งตามสถานการณ์ หรืออิงกับราคาหลักทรัพย์เป็นหลัก แต่ถ้านักลงทุนเป็นสไสต์ดูในเชิงผลประกอบการ ต้องดูความระมัดระวังขึ้นจากสถานการณ์ที่ตลาดขาดความเชื่อมั่นของตลาดที่นักลงทุนให้พรีเมียมของการลงทุนลดน้อยลง
รวมทั้งจากสถานการณ์ดังกล่าวที่ นักลงทุนมีความกังวลอาจจะต้องกลับมาทบทวนดูว่า หุ้นที่มีหรืออยู่ในสถานะที่ยังขาดทุนอยู่มีการฟื้นตัวได้หรือไม่ ซึ่งนักลงทุนพิจารณาถึงผลประกอบการ
ขณะที่ความเสี่ยงที่ตลาดจะมีปรับลดพีอีหุ้นกลุ่มนั้นลงมีหรือไม่ แม้ผลประกอบการโต และพีอีก็สามารถปรับลดลงมาได้ และต้องพิจารณาผลตอบแทนในการลงทุนหลายมิติให้มากขึ้น เช่น ในภาวะที่ตลาดแย่ ๆ ต้องดูว่าหุ้นที่มีปันผลสูงเกิน 4-5% จะเป็นการช่วยรองรับดาวน์ไซด์ของหุ้นนั้นได้
ภาพรวมสงครามการค้าอาจจะรุนแรงขึ้น
นายพิริยพล คงวาณิช ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์พื้นฐานสายงานวิจัย บล.บัวหลวง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภาพของสงครามการค้าแนวโน้มดูจะมีความเสี่ยงรุนแรงขึ้น เนื่องจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาพูดล่าสุดที่มีข่าวลือว่าสงครามการค้าจะไม่รุนแรงนั้นไม่จริง
รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีความเสี่ยงหากเป็นในทิศทางที่สงครามการค้ารุนแรง ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยอาจจะลดลงช้ากว่าคาดการณ์ไว้ และปัจจัยในประเทศภาพเทรนด์กำไรค่อนข้างมีดาวน์ไซด์ หากไปดูทิศทางการปรับกำไรในปีที่ผ่านมาลบ 11% ซึ่งจากปัจจัยทั้งหมดนี้จึงเป็นแรงกดดันในสินทรัพย์เสี่ยง
ทั้งนี้ แนะนำนักลงทุนเน้นลงทุนในกลุ่ม Defensive Stocks หุ้นผันผวนต่ำ และหุ้นที่ปันผลสูง เช่น กลุ่มแบงก์ แต่นักลงทุนจะคาดหวังว่าจะค้ำดัชนีหุ้นไทยได้ตลอดหรือไม่นั้น มองว่า คงไม่ได้ แต่ทิศทางอาจจะปรับตัวลง ซึ่งนักลงทุนต้องเพิ่มความระมัดระวัง
หุ้นโดนผลกระทบราคาน้ำมันร่วงฉุดตลาด
นายกรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) จำกัด ข้อมูลเสริมว่า หุ้นที่ปรับตัวลงแรงวานนี้ (9 ม.ค.68) เป็นกลุ่มพลังงาน สาเหตุเกิดจากน้ำมันปรับตัวลง PTTEP IVL PTT BCP
รวมถึงกลุ่มกัลฟ์ และกลุ่มที่โดนภาษี Global Minimum Tax เช่น ICT ที่มีการปรับตัวลงมาแรงมา 2 วันติด รวมถึงหุ้น DELTA ที่ปรับตัวลงมาแรงในช่วงแรก ๆ ที่ต้องเสียภาษีขั้นต่ำ 15%
“กลุ่มที่โดน Global Minimum Tax หุ้น ICT DELTA รวมถึง PTTEP IVL PTT BCP SCC ที่โดนแต่อาจจะโดนน้อยกว่า DELTA”
ทั้งนี้แนวรับ SET วันนี้ และทั้งไตรมาส 1/68 อยู่ในกรอบ 1350-1420 จุด SET ยังปรับขึ้นไม่ได้ เนื่องจากยังกังวลนโยบายทรัมป์ โดยทางเลือกของนักลงทุนไตรมาส 1/68 ในมุมของเรา ณ จุดนี้ แค่เข้าไปเทรดดิ้งหมุนรอบไปเรื่อยๆ ได้ อย่างหุ้น GULF DELTA ADVANC เพราะถ้าลงทุนขณะนี้หุ้นยังไม่ไหนให้รอไปลงทุนในครึ่งปีหลัง
“ไทยบีเอ็มเอ” ชี้บริษัทถูกลดเครดิตหุ้นกู้เพิ่ม
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยปี 2567 เท่ากับ 17.1 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% จากปีที่แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นสำคัญ ในส่วนของการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้ระยะยาว) มีมูลค่า 913,141 ล้านบาท ลดลง 10% จากปีก่อนหน้า จากที่ทำได้ทะลุ 1 ล้านล้านบาท และคาดว่าปีนี้ ยอดการออกหุ้นกู้ใหม่จะอยู่ที่ 850,000-900,000 ล้านบาท
โดยมองว่าปี 2568 ตลาดตราสารหนี้ยังมีทั้งปัจจัยลบและปัจจัยบวก โดยเชื่อว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่เครดิตเรตติ้งค่อนข้างดี ยังมีการออกหุ้นกู้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ยังคงเห็นการเข้ามาระดมทุนในตลาดบอร์ดต่อเนื่อง และหากดูตลาดบอนด์ก็น่าสนใจ จากทิศทางดอกเบี้ยที่ลดลง ทำให้บอนด์ยีลด์ปรับลดลงด้วย ทำให้บอนด์น่าสนใจมากขึ้น
“เรายังเห็นดีมานด์ทั้งฝั่งผู้ออก และซื้ออย่างต่อเนื่อง แต่ถามว่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ คงมองใกล้เคียงเดิมในปีก่อนที่ 8.5-9 แสนล้านบาท”
ขณะที่มีบริษัทจำนวนหนึ่งที่กลับถูกปรับลดเครดิตหุ้นกู้ลง (Downgrade) เช่น จากระดับ BBB+ เป็นต่ำกว่าระดับดังกล่าวหลายบริษัท โดยรวมบริษัทที่ถูกปรับลดเครดิตเพิ่มขึ้น 11 บริษัทเป็น 46 บริษัท จากปีก่อนหน้าที่มีเพียง 35 บริษัทเท่านั้น เหล่านี้สอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับมาฟื้นตัวเป็นปกติ ทำให้ธุรกิจหลายแห่งได้รับผลกระทบ แต่อย่างไรก็ตามอีกด้านพบว่ามี 13 บริษัท ได้รับการปรับเครดิตเรตติ้งเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม หากดูทิศทางการออกหุ้นกู้ในช่วงปีที่ผ่านมา ที่ลดลงหลักๆ มาจากกลุ่มไฮยีลด์ (ไม่มีอันดับความน่าเชื่อถือ) หรือเรตติ้งต่ำ ที่มีมูลค่าการออกหุ้นกู้ลดลงถึง 50% มาอยู่เพียง 5.5 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่กลุ่มไฮยีลด์ออกหุ้นกู้สูงถึง 1 แสนล้านบาท ต่างกับอินเวสเมนต์เกรส ที่มูลค่าการออกหุ้นกู้ลดลงเพียง 10% เท่านั้น
“เฟทโก้” มองหุ้นไทยผันผวนระยะสั้น
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยภายในงาน “โครงการตลาดทุนพบภาครัฐ ครั้งที่ 1/68 ” ว่า ตลาดหุ้นไทยอาจผันผวนในระยะสั้น เพราะผู้ลงทุนกังวลใจใน 2 เรื่อง ได้แก่
1.นโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ และ 2.การเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) จึงอยากให้เน้นดูปัจจัยพื้นฐานของหุ้นแต่ละตัวเป็นหลัก
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์