กนง.ย้ำ การดำเนินนโยบายการเงิน ไม่เปลี่ยนเป้าหมายหลัก ไปคุม ‘ค่าเงินบาท’
กนง.เผยค่าเงินบาทไม่ใช่เป้าหมายสุงสุด ในการดำเนินนโยบายการเงิน ชี้อ่อนค่ายังไม่กระทบภาพเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ ย้ำไม่นิ่งนอนใจติดตามเงินบาทใกล้ชิด “บีบีแอล” ประเดิมแบงก์แรกขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก “กรุงศรี” ปรับมุมมองเงินบาทสิ้นปีนี้ อ่อนค่า เฉียด 40 บาทต่อดอลลาร์
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) กล่าวว่า คณะกรรมการ กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 0.75% เป็น 1% จากภาพเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงส่งจากภาคท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ
ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไป มีแรงกดดดันจากด้านอุปสงค์ จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์คลี่คลายลง ดังนั้น จากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ก่อนหน้า
โดยคาดว่า เงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับมาอยู่ในกรอบได้ตั้งแต่ไตรมาส 2-3 ปี2565 สู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% เพราะซัพพลายช็อคลี่คลาย จากราคาโภคภัณฑ์โลก
เช่น น้ำมัน ฯลฯ ที่มีแนวโน้มลดลง และสัญญาณเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จากการขึ้นดอกเบี้ยแรงในหลายประเทศ ทำให้แรงกดดันด้านอุปทานคลี่คลายลง
ดังนั้น ด้านเงินเฟ้อในระยะปานกลางระยะข้างหน้า เมื่อขจัดความหวือหวาไปแล้ว ไม่ว่าเงินเฟ้อทั่วไปจากระยะสั้นจะยังอยู่ในระดับสูงกว่าระดับที่พอใจ คาดเงินเฟ้อทั่วไปผ่านจุดพีคไปแล้วในไตรมาส 3 ปีนี้ และคาดไตรมาส 4 จะเริ่มเห็นเงินเฟ้อทยอยลดลง
ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานคาดจะพีคได้ในไตรมาส 4ปีนี้ และทยอยลดลงในไตรมาสแรกปีหน้า และเงินเฟ้อจะสามารถกลับเข้ากรอบได้ไตรมาส 2-3 ปีหน้า
เงินบาทอ่อนค่าไม่กระทบเศรษฐกิจ
นายปิติ กล่าวว่า กนง.ประเมินการอ่อนค่าของเงินบาท ยังไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อในภาพรวม มาจาก 3 ปัจจัย คือ
1. การอ่อนค่าของเงินบาท มาจากการแข็งค่าของดอลลาร์เป็นหลัก จากการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง ประกอบกับมีความคุมเครือจากประด็นภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้คนหันไปพึ่งสินทรัพย์เสี่ยงที่ปลอดภัยมากขึ้น
2. ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น มีผลกระทบต่อประเทศไทยมีจำกัด เพราะตั้งแต่ต้นปี เงินทุนเคลื่อนย้าย ยังบวก โดยมีการเข้ามาซื้อหุ้นสุทธิ แม้ตลาดพันธบัตรจะไหลออกเล็กน้อย
ดังนั้นประเทศไทยไม่มีปัญหาเงินทุนไหลออก ตรงกันข้าม นักลงทุนเห็นศักยภาพประเทศไทย จึงเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง เพราะ ไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับ 6ของโลก และมีทุนสำรองสูงกว่าหนี้ต่างประเทศถึง 3 เท่า ซึ่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ
3. ด้านเศรษฐกิจ โดยการที่เงินบาทอ่อนค่าลง ถือว่าช่วยผู้ส่งออกได้ระดับหนึ่ง
ดังนั้น สิ่งที่ห่วงคือนำเข้าที่ต้องจ่ายสูงขึ้น แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีการส่งผ่านไปสู่เงินเฟ้อค่อนข้างน้อย เพราะค่าเงินมีขึ้นมีลง มีระยะเวลา และมีเครื่องมือในการบริหาร
“ค่าเงินบาท เป็นสิ่งที่ต้องจับตาใกล้ชิด โดยเฉพาะ ช่วงที่ผันผวนสูง เช่นตอนนี้ และช่วงที่ผ่านมา แต่ คณะกรรมการเองก็ตระหนักว่าความสามารถของการดำเนินนโยบายการเงิน และเครื่องมือที่เรามีในการดูแล การแข็งค่าของดอลลาร์มีจำกัด และการที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น คงไม่สามารถทำอะไรได้มาก ซึ่งหากต้องทำ อาจต้องทำอะไรที่แรงมาก”
3เป้าหมายหลักนโยบายการเงิน
นายปิติ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงิน วันนี้ ยังอยู่ภายใต้การคำนึงถึง 3 เป้าหมายหลัก คือเศรษฐกิจ เสถียรภาพด้านราคา เสถียรภาพระบบการเงิน ไม่ได้มีเป้าหมายในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน แต่อัตราแลกเปลี่ยนอาจเป็นหนึ่งตัวแปร ที่กระทบต่อ 3เป้าหมายนี้ได้
“กนง.ไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องเงินบาท เพราะอัตราแลกเปลี่ยน เป็นตัวแปรสำคัญองเศรษฐกิจ ที่ทุกประเทศใส่ใจ แต่ค่าเงินไม่ใช่เป้าหมายสุงสุด ในการดำเนินนโยบายการเงิน ดังนั้นผลต่อเสถียรถาพ ที่กระทบต่อเศรษฐกิจ การช่างน้ำหนัก เรื่องค่าเงิน ยังไม่เป็นประเด็นที่ต้องทำอะไรที่กระชากแรง เพื่อดูแลค่าเงินเพียงอย่างเดียว”
ทั้งนี้ กนง. ปรับเป้าเงินเฟ้อ ทั่วไปเป็น 6.3%จาก 6.2%และปีหน้า เป็น 2.6% จาก 2.5% และเงินเฟ้อพื้นฐาน เป็น 2.6% จาก2.2% และปีหน้า 2.4% จาก 2.0%รวมถึงปรับจีดีพีปีหน้าลดลงเหลือ3.8% จาก4.2% และปรับนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น9.5 ล้านคน จาก 6 ล้านคน และปีหน้าเป็น 21ล้านคนจาก 19 ล้านคน
สำหรับการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบาย มองว่า จะเริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์ ตลาดเงินเริ่มทยอยส่งผ่านอัตราดอกเบี้ย หลังกนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้
ดอกเบี้ยช้าหวั่นคุมค่าเงินไม่อยู่
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า กนง.ขึ้นดอกเบี้ยวันนี้ ที่ 0.25% ขณะที่เฟด จะประชุมอีก 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1.25% ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยสหรัฐสูงขึ้นเป็น 3%
ดังนั้นต้องหวังว่าดุลบัญชีเดินสะพัด จะช่วยหลบเงินไหลออกได้ ซึ่งการทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขึ้นมาได้ ประเมินว่าต้องมีนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อเดือนถึง 2ล้านคน บัญชีเดินสะพัดถึงขึ้นมาได้
ส่วนทิศทางเงินบาทไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า จะอ่อนไปเท่าไหร่ แต่เงินบาทอ่อนค่าเร็วกว่าที่คิด ดังนั้นต้องกลับไปดูดุลบัญชีเดินสะพัด ที่จะเป็นตัวกำหนดเงินไหลเข้าไหลออกได้ แต่หากเรายังมีนักท่องเที่ยวเดือนละ 1ล้านคน ตรงนี้น่ากลัว ซึ่งต้องการเห็นเดือนละ 2ล้านคน
อีกทางคือส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย แต่แบงก์ชาติไม่อยากขึ้นดอกเบี้ย แต่ต้องระวัง หากขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป จะเอาค่าเงินไม่อยู่ เหมือนกรณีเงินปอนด์
ขณะเดียวกัน แม้จะบอกว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า อ่อนค่าตามสกุลเงินอื่นๆ แต่ต้องยอมรับว่า ประเทศไทย ที่มีการนำเข้า และส่งออกสูง เมื่อเงินบาทอ่อนค่า ทำให้ต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการมีต้นทุนมากขึ้น
โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นเหล่านี้กระทบต่อภาพรวม และสิ่งที่กังวลคือ กลัวการส่งผ่านผลกระทบไปสู่เงินเฟ้อมากขึ้น ซึ่งเป็นจุดที่ต้องระมัดระวัง
ไทยหลีกเลี่ยงค่าเงินอ่อนค่าไม่ได้
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า สำหรับประเด็นเงินบาทอ่อนค่ามองว่ามาจากความแตกต่างของนโยบายเศรษฐกิจมหาอำนาจทั้ง สหรัฐ , ยุโรป , จีน และ รัสเซีย มีปัญหาแตกต่างกัน
เช่น จีนก็มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว นโยบายก็ขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ เพราะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ
ส่วนประเทศญี่ปุ่นนับว่ามีภาระหนี้ภาครัฐ 200% ของจีดีพี แต่ไม่ยอมปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ดันทำให้มีส่วนต่างของดอกเบี้ยระหว่างประเทศกว้างขึ้นเรื่อย ทุกสกุลเงินทั่วโลกจึงเข้าไปแทรกแซงตลาด
ขณะนี้ น้ำหนักส่วนใหญ่มาจากนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐที่ต้องการสกัดเงินเฟ้อให้ลดลงให้ได้ ดังนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เงินบาทอ่อนค่าตามประเทศอื่น
สำหรับเงินบาทที่อ่อนค่า จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ จึงมีต้นทุนเพิ่มในการสร้างบ้านอยู่อาศัย ขณะนี้ไทยต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น
แบงก์กรุงเทพขึ้นดบ.เงินกู้-เงินฝาก
นางรัชนี นพเมือง รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BBL กล่าวว่า ธนาคารประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพิ่มขึ้น โดาดอกเบี้ยเงินฝากปรับเพิ่มขึ้น0.15-0.50%ต่อปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ เอ็มแอลอาร์ (MLR)หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate)เพิ่มขึ้น0.40%ต่อปี
เอ็มโออาร์ (MOR)หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate)เพิ่มขึ้น0.375%ต่อปี และเอ็มอาร์อาร์ (MRR)หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate)เพิ่มขึ้น0.30%ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่29ก.ย.2565
จ่อขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส.ยืนยันจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับลูกค้าจนถึงปลายปี 2565 นี้ แม้กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ตาม เนื่องจาก ธนาคารต้องการแบ่งเบาภาระให้กับประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล
“ผลการตรึงดอกเบี้ยเงินกู้จนถึงสิ้นปีนี้ จะทำให้รายได้ธนาคารหายไปกว่า 1.9 พันล้านบาท”
ส่วนปี 2566 ธนาคารจะทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับตลาดภายใน 6 เดือน คาดกระทบรายได้ราว 5 พันล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารจะทยอยปรับตารางผ่อนในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2566
“หากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.25% ลูกค้าของธนาคารจะได้รับผลกระทบหลักพันบัญชี แต่หากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 0.50% จะมีลูกค้าได้รับผลกระทบหลักหมื่นบัญชี”
กรุงศรี ปรับมุมมองเงินบาท
นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับกรอบค่าเงินบาทไตรมาส 4 ปีนี้ อ่อนค่าลงมาอยู่ 37.00-39.50 บาทต่อดอลลาร์ จากเดิม 35.50-37.50 บาทต่อดอลลาร์
จากถ้อยแถลงของ กนง. ครั้งนี้ตอกย้ำท่าทีการปรับนโยบายสู่สภาวะปกติแบบค่อยเป็นค่อยไป และดอลลาร์ในตลาดโลกได้แรงหนุนอย่างมีนัยสำคัญ หลังเฟดแสดงท่าทีชัดเจนมากขึ้นในการคุมเข้มนโยบาย เพื่อดูแลเงินเฟ้อ โดยภาวะตลาดการเงินโลกตึงตัวกว่าที่เคยประเมินไว้เดิม ส่งผลให้เงินทุนไหลออก ส่วนเศรษฐกิจนอกสหรัฐฯ ยังเปราะบาง อาทิ ยุโรป และจีน
สำหรับผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบนี้ มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.0% จากเดิม 0.75% ซึ่งเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่สองนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 และถ้อยแถลงของ กนง. ครั้งนี้ตอกย้ำท่าทีการปรับนโยบายสู่สภาวะปกติแบบค่อยเป็นค่อยไป
“เราเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกอยู่บ้างที่ กนง. มีมติเอกฉันท์ในการประชุมรอบนี้ คณะกรรมการมีความเห็นว่าเศรษฐกิจนั้นจะยังคงฟื้นตัวต่อไปท่ามกลางความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น โดย กนง. มีความพร้อมในการปรับขนาดและกรอบเวลาของการดำเนินนโยบายแต่ละขั้นตอนตามที่เห็นสมควร”
กรุงศรีคาดว่าในการประชุม กนง. รอบหน้า (30 พ.ย.) จะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% และอาจจะมีการปรับขึ้นอีกครั้งละ 0.25% อีก 2 ครั้งในไตรมาส 1 ของปี 2566 ซึ่งในเบื้องต้นเราน่าจะได้เห็นการปรับอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 1.75% ในกรอบระยะเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ การท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยประคองค่าเงินบาทแต่อาจไม่พอ โดยเราขยับการคาดการณ์ทิศทางการกลับมาแข็งค่าของเงินบาทไกลออกไปเป็นไตรมาส 1 ปี 2566
อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาทในระยะนี้ เกิดจากปัจจัยของเงินดอลลาร์เป็นหลัก แทบจะทุกสกุลเงินและสินทรัพย์ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบดอลลาร์