โนเบลเศรษฐศาสตร์ 2022 คุณค่าที่ "เบอร์นันเก้" คู่ควร | บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
ในสัปดาห์นี้มีการประกาศรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2022 ปรากฏว่าผู้ได้รับรางวัล ผู้เขียนจึงขอแชร์มุมมองต่อเบื้องหลังความสำเร็จของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามท่าน
รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2022 ผู้ได้รับรางวัล ได้แก่ เบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ดัคกลาส ไดมอนด์ นักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยชิคาโกและ ฟิลลิป ดีปวิก นักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยวอชิงตัน
ด้วยผลงานวิจัยที่เน้นถึงความสำคัญของกลไกและบทบาทของสถาบันการเงินที่มีต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เริ่มจาก เบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ความน่าสนใจของเบอร์นันเก้ ที่ทำให้เขาดูพิเศษกว่านักเศรษฐศาสตร์ทุกท่านในโลก
คือเหมือนว่าฟ้าจะกำหนดให้ตัวเขารู้ล่วงหน้าแบบไม่ตั้งใจ ว่างานวิจัยรวมถึงวิทยานิพนธ์ของเขาจะได้กลายมาเป็นตำราในการต่อสู้กับวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นจริงๆในอีกกว่า 30 ปีถัดมา
โดยน่าจะมีวิทยานิพนธ์อยู่จำนวนไม่มากในขณะนั้น ที่มาโฟกัสกับการใช้บริบทของวิกฤต Great Depression ในทศวรรษ 1930 มาเป็นแบคกราวด์ในการทำวิจัยเจาะไปที่สถาบันการเงินที่ล้มละลายในยุคนั้น
ว่าเป็นอีกปัจจัยหลักที่ทำให้วิกฤตดังกล่าวมีความรุนแรงมากและกินระยะเวลายาวนานกว่าทศวรรษแบบที่ไม่มีใครคิด จากนั้นเบอร์นันเก้ก็ได้นำงานดังกล่าวมาปรับปรุงและตีพิมพ์ในวารสารวิจัยชื่อดังในปี 1983
ซึ่งถือเป็นบทวิจัยที่ทางคณะกรรมการรางวัลโนเบลให้เครดิตว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของเขา อันนำมาซึ่งรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ที่มอบให้แก่เบอร์นันเก้ ในปี 2022
จุดที่น่าแปลกใจคือ ตั้งแต่ราวๆปี 1990 เป็นต้นมา ความสนใจด้านการวิจัยของเบอร์นันเก้ก็หันมาทางหัวข้อ Inflation Targeting ซึ่งถือว่าเป็นคนละเรื่องกับงานวิจัยก่อนหน้าแบบสิ้นเชิง
และที่น่าฉงนไปกว่านั้น คือในช่วงต้นปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาทำหน้าที่เป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐ เบอร์นันเก้ได้ละเลยความสำคัญของสถาบันการเงินต่อภาพเศรษฐกิจ โดยกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐในขณะนั้นไม่มีปัญหา แค่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเข้าถึงระดับเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ทุกอย่างก็จะดีเอง
อีกไม่ถึง 5 เดือนถัดมาจากคำพูดนี้ ตราสารซับไพร์มสหรัฐก็ทำให้เกิดวิกฤตการเงินโลกในเดือนกันยายน 2008 จากสภาพคล่องของสถาบันการเงินที่เข้าสู่ภาวะวิกฤตด้วยพิษของตราสารทางการเงินซับไพร์ม
ทำให้เบอร์นันเก้ต้องนำผลงานวิจัยปี 1983 มาใช้เป็นตำราแก้วิกฤตดังกล่าวจนกลายเป็นตำนาน QE อย่างที่เรากล่าวขานกันจนถึงทุกวันนี้
หันมาพิจารณา ดัคกลาส ไดมอนด์ กันบ้าง นับตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา ไดมอนด์ได้คู่หูใหม่ในการทำวิจัย นั่นคือ รากูราม ราจาน อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย
โดยหันมาทำวิจัยด้านโมเดลสถาบันการเงินที่มาใช้ลูกเล่นทางด้านประเภทแหล่งเงินทุน สภาพการแข่งขันภายในเซกเตอร์แบงก์ รวมถึงการที่มีแบงก์บางแห่งหรือทั้งหมดในเศรษฐกิจเกิดล้มละลายขึ้นมา เพื่อพิจารณาว่าจะส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจอย่างไร
ถ้าจะเปรียบเทียบผลงานระหว่าง เบอร์นันเก้ ไดมอนด์ และ ดีปวิก หากจะวัดกันด้วยความอัจฉริยะทางด้านเทคนิคทางคณิตศาสตร์ในการสร้างแบบจำลอง ไม่ว่าจะเป็นในมิติของความใหม่และความลึกล้ำ
แน่นอนว่าไดมอนด์ และ ดีปวิก ถือว่าเหนือกว่าเบอร์นันเก้ โดยผลงานแบบจำลอง Bank Runs ในปี 1983 ของทั้งคู่ ที่ได้รับรางวัลโนเบลในครั้งนี้ ถือว่าเป็นต้นแบบในการจุดประกายให้กับผลงานวิจัยเกี่ยวกับสถาบันการเงินอย่างมากมายในเวลาต่อมา
ทว่าในมิติของวิสัยทัศน์และความสวยงามของบทวิจัยนั้น การที่เบอร์นันเก้ได้นำเอาสถาบันการเงินเข้ามาแทรกในโมเดลเศรษฐกิจแบบ Neoclassic ในงานวิจัยที่เบอร์นันเก้ทำร่วมกับมาร์ค เกิร์ทเลอร์ และ ไซม่อน กิลไคร์ทส ในปี 1999
ด้วยเทคนิคที่สามารถเลี่ยงความซับซ้อนของโมเดลแต่สามารถตอบโจทย์ที่เบอร์นันเก้ตั้งไว้ในการศึกษาได้อย่างตรงประเด็น หากพิจารณาจากมิติของจินตนาการในสร้างสรรค์ผลงาน ถือว่าล้ำหน้าและเหนือกว่านักเศรษฐศาสตร์เกือบทุกท่านในยุคนั้น
หากจะเปรียบเป็นนักฟุตบอล ด้านสไตล์ของไดมอนด์ และ ดีปวิก มาจากความเด่นด้านความซับซ้อนเชิงเทคนิคของบทวิจัย ถือว่าคล้ายกับ พอล สโคลส์
คือหากวัดกันด้วยสถิติต่างๆ ไม่ว่าความล้ำลึกด้านการวิจัยหรือจำนวนครั้งการอ้างอิงบทวิจัย ถือว่าเหนือชั้นกว่าเบอร์นันเก้
ที่สำคัญบทวิจัย Bank Runs ของทั้งคู่ ยังเป็นการปิดทองหลังพระ นั่นคือถือเป็นต้นแบบที่มีบทวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินหลากหลายแขนงในรุ่นต่อมาใช้อ้างอิงถึงแบบมากมาย
ส่วนสไตล์เบอร์นันเก้นั้น คล้ายคลึงกับเควิน เดอบรอยด์ หรือ โยฮัน ครัฟฟ์ นั่นคือ บทวิจัยของเบอร์นันเก้ดูเหมือนจะไม่ได้มีความซับซ้อนด้านเทคนิคในตัวแบบจำลอง
แต่อาศัยพลังแห่งจินตนาการของการผสมผสานแบบจำลองระหว่างสถาบันการเงินกับหน่วยเศรษฐกิจต่างๆ ก็สามารถนำมาซึ่งผลงานวิจัยที่โดดเด่นชนิดที่ว่าล้ำยุคไปมาก
เหนือสิ่งอื่นใด การที่เบอร์นันเก้สามารถนำงานวิจัยของเขามาประยุกต์ใช้ในการแก้วิกฤตซับไพร์มปี 2007-2009 แม้ว่าจะดูเสียฟอร์มเล็กน้อย ที่เขาไม่สามารถคาดการณ์วิกฤตการเงินโลกว่าจะมาถึงก่อนหน้า ในปี 2006 ถึงกลางปี 2008
ในขณะที่เขาทำหน้าที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐช่วงแรกๆก็ตามที จึงทำให้โลกไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า เบอร์นันเก้เหมาะสมอย่างยิ่งกับรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์ ปี 2022 แบบเต็มภาคภูมิ.