‘เงินบาทอ่อนค่า’เปิดตลาดที่ 38.23 บาทต่อดอลลาร์
“กรุงไทย” ชี้ตลาดการเงินยังอยู่ในโหมดปิดความเสี่ยงกดบาทอ่อนค่าได้ ต่างชาติขายบอนด์ไทยระยะยาว หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐเด้งแรง และขายทำกำไรช็อตเงินบาท มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่ 38.15-38.45 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (21 ต.ค.) ที่ระดับ 38.23 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 38.12 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ38.15-38.45 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ตราบใดที่ตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง เงินบาทก็ยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลง ทดสอบโซนแนวต้านสำคัญก่อนหน้าที่ระดับ 38.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ โดยในช่วงนี้แรงกดดันต่อเงินบาทยังคงมาจากแรงขายบอนด์ระยะยาวของไทยจากนักลงทุนต่างชาติ หลังจากที่ บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ก็มีส่วนช่วยกดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่าเช่นกัน ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อเงินเยนที่ล่าสุดอ่อนค่าลงมาเข้าใกล้ระดับ 25.28 บาทต่อ 100 เยน อีกครั้ง
อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 38.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากระดับดังกล่าวอาจเห็นบรรดาผู้ส่งออกมาทยอยขายเงินดอลลาร์มากขึ้น ส่วนผู้เล่นในตลาดโดยเฉพาะผู้เล่นต่างชาติที่มีสถานะ short เงินบาทก็อาจทยอยขายทำกำไรสถานะ short เงินบาทในโซนดังกล่าวได้เช่นกัน อีกทั้งแรงขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มลดน้อยลง และเริ่มเห็นสัญญาณการกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยสุทธิ ซึ่งหากนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยต่อเนื่อง ก็จะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ในระยะนี้
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) โดยดัชนี S&P500 เคลื่อนไหวผันผวนก่อนที่จะปิดตลาด -0.80% ท่ามกลางแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง จากความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังจากที่ล่าสุด รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ลดลงสู่ระดับ214,000 ราย ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อีกทั้ง บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังคงออกมาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งภาพดังกล่าวทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับสูงกว่า 5.25% (จาก CME FedWatch Tool) และหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.23% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯไม่ได้ปรับตัวลดลงรุนแรงมากเหมือนในช่วงก่อนหน้า
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป สามารถปรับตัวขึ้น +0.26% จากอานิสงส์ของรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในฝั่งยุโรปส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ASML ซึ่งส่งผลให้ ASML ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +3.6% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรป โดยเฉพาะตลาดหุ้นอังกฤษยังได้แรงหนุนจากความกังวลการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลที่คลี่คลายลง หลังจากนายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ของอังกฤษได้ประกาศลาออกทำให้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอังกฤษที่ส่งผลให้ตลาดการเงินยุโรปปั่นป่วนหนักในช่วงที่ผ่านมาจะยุติลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตารายงานผลประกอบการ รวมถึง การเลือกผู้นำอังกฤษคนใหม่ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า
ทางด้านตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดอาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนแตะระดับจุดสูงสุดหรือ Terminal Rate ไม่น้อยกว่า 5.25% ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง แตะระดับ 4.23% ซึ่งสูงกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.00% ในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวนั้น เป็นไปตาม มุมมองของตลาดต่อระดับ Terminal Rate ของเฟดและมองว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักจนอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย จะยังคงสนับสนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในช่วงแรกก่อนที่จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง หลังตลาดยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯได้ทำให้ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น กว้างมากขึ้น กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงทะลุระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจเริ่มเข้ามาแทรกแซงค่าเงิน เพื่อชะลอการอ่อนค่าของเงินเยนได้ นอกจากนี้ แม้ว่าตลาดการเงินโดยรวมจะยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง แต่การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ไม่สามารถปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์และย่อตัวลงต่อเนื่องกลับสู่ระดับ 1,630 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการปรับตัวลงของราคาทองคำ อาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจยังคงเลือกที่จะเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) โดยตลาดประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซนในเดือนตุลาคมอาจปรับตัวลดลงต่อเนื่องแตะระดับ -30 จุด ตามปัญหาเงินเฟ้อสูงและความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนักจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่วนในฝั่งอังกฤษ ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จากภาวะเงินเฟ้อสูง รวมถึงแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะยังคงกดดันให้ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกันยายน หดตัวต่อเนื่อง -0.5% จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปออกมาแย่กว่าคาดก็อาจกลับมากดดันให้ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงหนักและอาจทำให้ตลาดการเงินยุโรปพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง รวมถึงกดดันให้สกุลเงินฝั่งยุโรปอ่อนค่าลงได้