SCGP มั่นใจ รายได้ทั้งปีโตตามเป้า 1.5 แสนล้านบาท เปิด 3 กลยุทธ์หนุนธุรกิจโต
ทั้งนี้ SCGP มั่นใจว่า ในปี 2565 จะมีรายได้จากการขาย 150,000 ล้านบาท ตามเป้าหมาย พร้อมเดินหน้า 3 กลยุทธ์เพื่อรักษาการเติบโตอย่างมีคุณภาพ และยั่งยืน
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า ปีนี้ บริษัทมั่นใจว่า ในปี 2565 จะมีรายได้จากการขาย 150,000 ล้านบาท ตามเป้าหมายพร้อมเดินหน้ากลยุทธ์เพื่อรักษาการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
โดยมี 3 กลยุทธ์ ที่ขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง 1. มุ่งการเติบโตด้วย M&P ผสานความร่วมมือเสริมแกร่งธุรกิจ (Synergy) ทั้งด้านการขยายฐานลูกค้า ส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ตอบรับความต้องการที่หลากหลายและครอบคลุม การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี การพัฒนานวัตกรรมด้านโซลูชันบรรจุภัณฑ์ การจัดหาวัตถุดิบร่วมกัน และร่วมกันพัฒนาช่องทางขยายลูกค้าไปยังภูมิภาคใหม่ๆ ที่มีโอกาสเติบโตสูง
อย่างการลงทุนใน Jordan เมื่อไตรมาสที่ 3 นี้ จากแผนการดำเนินธุรกิจ SCGP จะผสานการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง Jordan และ Peute เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการขยายฐานการจัดหาวัตถุดิบรีไซเคิลในต่างประเทศ ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบกล่องกระดาษใช้แล้วคุณภาพสูงในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ช่วยเพิ่มคุณภาพกระดาษบรรจุภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์จากเยื่อ และกระดาษได้โดยตรง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจของ SCGP ให้กับเครือข่ายรีไซเคิลในภูมิภาคอาเซียน Peute ในยุโรป และ Jordan ในสหรัฐอเมริกา เพื่อยกระดับขีดความสามารถการดำเนินงานต่อไปได้ด้วย
2.บริหารต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต(Operational excellence) พร้อมพัฒนานวัตกรรม เพิ่มโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ดำเนินการบริหารจัดการเงินสด งบประมาณการลงทุน (CAPEX) และการพิจารณาลงทุนตามกลยุทธ์อย่างเป็นระบบ รอบคอบ รัดกุมรวมทั้งการเพิ่มความสามารถ และศักยภาพในการจัดการภายในองค์กรที่สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจ และการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งยังมีการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งพัฒนานวัตกรรมและโซลูชัน ด้วยงบประมาณวิจัยและพัฒนาร้อยละ 0.3 ของรายได้ใน 9 เดือนแรกของปีนี้ รวมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรในการส่งมอบนวัตกรรม และโซลูชันที่ตอบโจทย์ลูกค้าและผู้บริโภค
โดยล่าสุด SCGP ร่วมกับ 3 พันธมิตรผู้จัดจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั้นนำของไทย เพื่อนำผลิตภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์จาก Deltalab ขยายตลาดในประเทศ และภูมิภาคอื่นๆ เพื่อรองรับเทรนด์สุขภาพที่เติบโตสูง
3. ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยแนวคิด ESG 4 Plus เพื่อโลกที่ยั่งยืน ได้แก่ (1) มุ่งสู่ Net Zero ที่ดำเนินงานตามแผน เพื่อก้าวสู่เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 (2) Go Green การเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 99.7 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด(3) Lean เหลื่อมล้ำ การส่งเสริมด้านการศึกษาและอาชีพ
เช่น จัดประกวดการออกแบบบรรจุภัณฑ์ระดับอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 และ (4) ย้ำร่วมมือSCGP ร่วมกับพันธมิตรนำกระดาษใช้แล้วมาหมุนเวียนนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
อีกทั้งยังได้ร่วมกับอำเภอบ้านโป่ง จัดโครงการชุมชน Like (ไร้) ขยะ ส่งเสริมชุมชนปลอดขยะกว่า 86 ชุมชน ฯลฯ
จากการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน ทำให้ล่าสุด SCGP ได้ติดรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ SET THSI Index เป็นปีที่ 2ติดต่อกัน สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ SCGP ในการดำเนินธุรกิจตามกรอบแนวคิด ESG เพื่อเพิ่มศักยภาพ และความแข็งแกร่งของธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
ส่วนผลการดำเนินงาน ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มีรายได้จากการขาย 112,559 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องภายใต้กลยุทธ์การควบรวมกิจการกับพันธมิตร (M&P)
รวมถึงความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นภายหลังที่มีการเปิดประเทศและสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และมี EBITDA เท่ากับ 15,848 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรสำหรับงวด 5,351 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง
สำหรับไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 SCGP มีรายได้จากการขาย 37,943 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 มี EBITDA อยู่ที่ 5,483 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 และกำไรสำหรับงวด 1,837 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายสินค้าที่สะท้อนต้นทุน ราคาเยื่อที่สูงขึ้น และความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ของกลุ่มสินค้าอาหาร และเครื่องดื่มและสินค้าอุปโภคบริโภคในภูมิภาคอาเซียนที่เพิ่มขึ้น
รวมถึงการขยายธุรกิจจากการควบรวมกิจการบริษัทรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ PeuteRecycling B.V. (Peute) ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ Jordan Trading Inc. (Jordan) สหรัฐอเมริกา
ภาพรวมของเศรษฐกิจอาเซียนช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 จนถึงต้นปี 2566 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการบริโภคภายในประเทศ การเดินทางระหว่างประเทศ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ทำให้มีความต้องการสินค้าที่จำเป็นสำหรับการบริโภค เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงสินค้าอุปโภคอื่น ๆ สำหรับเทศกาลต่างๆ ในช่วงสิ้นปี ซึ่งธุรกิจบรรจุภัณฑ์ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะตอบสนองความต้องการซื้อสินค้าของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น สำหรับด้านการส่งออกของอาเซียน ยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ความต้องการสินค้าคงทนลดลง รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้า ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ราคาพลังงานทั่วโลกยังทรงตัว อย่างไรก็ตาม ค่าขนส่งและต้นทุนวัตถุดิบ โดยเฉพาะวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล (Recovered Paper : RCP) มีการปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์