6 ความเสี่ยงสำคัญในตลาดการเงินโลกที่ยังต้องจับตามอง ตอนที่ 2
มาต่อกันในตอนที่ 2 จากสัปดาห์ก่อนครับ โดยเราพูดกันไปแล้วสำหรับความเสี่ยงในเรื่องของ การคาดการณ์เงินเฟ้อและแนวโน้มนโยบายการเงิน ความเสี่ยงในกลุ่มประเทศยุโรป และเรื่องของความเปราะบางของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา สำหรับความเสี่ยงที่ต้องจับตามองในอีก 3 ประเด็นที่เหลือ ได้แก่
ความเสี่ยงต่อการปรับตัวลดลงของราคาบ้านในหลายๆ ประเทศ บ้านนับเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของครัวเรือนซึ่งจะส่งผลกระทบหลายๆ อย่าง เช่น แนวโน้มการใช้จ่าย รวมถึงความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยหลังจากธนาคารกลางต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น และมีผลกระทบต่อราคาบ้านโดยตรง
นอกจากนั้นในภาวะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง ธนาคารก็จะปรับเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ทำให้เริ่มเห็นแนวโน้มราคาบ้านในหลายๆ ประเทศเริ่มปรับตัวลดลง ซึ่งมาพร้อมกับภาระดอกเบี้ยที่มากขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบกับภาคครัวเรือนอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยหากราคาบ้านปรับตัวลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผลกระทบที่ตามมาก็อาจจะมีไม่มากนัก แต่หากเกิดการปรับตัวรุนแรงก็จะส่งผลกระทบที่ตามมาอย่างมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในขณะนี้
ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคธนาคาร ในปีนี้นอกเหนือจากแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย Zero-COVID ของรัฐบาลจีน ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ก็สร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจและความกังวลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องได้ไม่แพ้กัน แม้จะเริ่มจากปัญหาการขาดสภาพคล่องจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง แต่ท้ายที่สุดเมื่อรวมกับผลกระทบของอุปสงค์ที่ลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
ก็นำมาซึ่งผลกระทบในวงกว้างจากยอดขายบ้านที่ลดลงจนส่งผลต่อสภาพคล่องของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ และนำมาซึ่งปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ หรือ ความเสี่ยงต่อการล้มละลายของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ และอาจะเป็นลูกโซ่ไปยังภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด ในขณะที่มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐฯ จะเริ่มมีออกมาบ้าง แต่ก็ยังไม่เห็นผลชัดเจน
โดยในท้ายที่สุดอาจส่งผลกระทบต่อความเข็มแข็งทางการเงินของธนาคารในจีน โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารท้องถิ่นที่อาจจะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก และพอร์ตสินเชื่อก็มีความกระจุกตัวมากกว่า รวมถึงความสามารถในการรองรับการขาดทุนได้น้อยกว่าธนาคารขนาดใหญ่ นอกจากนั้นหากภาคอสังหาริมทรัพย์ฉุดเศรษฐกิจจีนให้แย่ลงไปอีก ก็อาจทำให้เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน
เงินทุนไหลออกโดยจากตลาดพันธบัตรในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา การลงทุนในกลุ่มพันธบัตรนั้นนับเป็นตลาดหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กันของราคาและมีการเปรียบเทียบกันสูงมากที่สุดตลาดหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยอย่างมีนัยสำคัญฯ เหมือนเช่นในปัจจุบัน ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมการเงินเฟ้อและสร้างเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาฯ ขึ้นดอกเบี้ยได้ในขนาดที่น้อยกว่า เนื่องจากผลกระทบของเงินเฟ้อมีลักษณะที่ต่างออกไปและมีความรุนแรงน้อยกว่า
ทำให้มีความเสี่ยงต่อการไหลออกของเงินทุนจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ไปยังสหรัฐฯ จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่แคบลงในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอาจจะเผชิญกับความเสี่ยงที่มากกว่าเสียด้วยซ้ำ หากมองไปในอนาคตที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้การลงทุนในสหรัฐฯ ดูมีความน่าสนใจมากกว่า ไม่นับรวมแนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ที่จะมีส่วนช่วยเพิ่มแรงดึงดูดของการลงทุน
โดยหากเงินทุนไหลออกอยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินก็อาจจะมีผลกระทบไม่มากนัก แต่หากการไหลออกมีขึ้นต่อเนื่องจนเกิดความไม่มั่นใจในเรื่องของเสถียรภาพของค่าเงินหรือระบบเศรษฐกิจ ก็อาจนำมาซึ่งปัญหาที่รุนแรงและอาจลุกลามไปยังประเทศอื่นได้
สุดท้ายนี้ แม้อาจจะยังมีความเสี่ยงที่ยังรอเราอยู่อีกหลายประการ ในขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจก็อาจจะไม่ได้ฟื้นตัวในลักษณะของตัว “V” เหมือนในปี 2020 แต่ต้องอย่าลืมว่าการลงทุนและการบริหารสินทรัพย์ต่างๆ เป็นเรื่องของภาพในระยะยาวด้วย การเข้าใจความเสี่ยงต่างๆ อย่างรอบด้าน จะช่วยให้เราสามารถปรับพอร์ตการลงทุนของเราให้สอดคล้องกับสถานะการณ์ได้อย่างเหมาะสม โดยที่เราไม่จำเป็นต้องกังวลมากเกินไปจนหันมาถือเงินสดเพียงอย่างเดียว เนื่องจากในบางครั้งการลงทุนที่ดีในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง ก็อาจจะเป็นการลงทุนที่ดีในระยะยาวได้หากมองย้อนกลับไป
ท้ายนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการติดตามภาวะตลาดการเงินและปรับเปลี่ยนการลงทุนให้สอดคล้องอย่างสม่ำเสมอ เพื่อบรรลุจุดประสงค์ทางการเงินที่ต้องการครับ
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด