นักเศรษฐศาสตร์ ห่วงดอกเบี้ยไทย - สหรัฐห่างมาก เร่งบาทอ่อนสู่ 42 บาทต่อดอลล์

นักเศรษฐศาสตร์ ห่วงดอกเบี้ยไทย - สหรัฐห่างมาก  เร่งบาทอ่อนสู่ 42 บาทต่อดอลล์

“แบงก์ชาติ” เกาะติดค่าเงินบาท หลัง “เฟด” ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ทำส่วนต่างยิ่งถ่างมากขึ้น แต่ย้ำยังไม่พบเงินไหลออกผิดปกติ ด้านนักเศรษฐศาสตร์ห่วง ไทยขึ้นดอกเบี้ยช้า อาจคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ ทั้งเพิ่มความเสี่ยงเงินไหลออก มองปีหน้าอาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าแตะ 42 ต่อดอลลาร์

       เป็นไปตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์เอาไว้ โดยธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) เมื่อคืนวันที่ 2 พ.ย ที่ผ่านมา มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.75% เป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยเฟดปรับขึ้นมาอยู่ระดับ 3.75-4% เป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี

     การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลงง่ายๆ โดย เจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ย้ำชัดว่า ภารกิจของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่เสร็จสิ้น เพราะเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่สูงมาก

     นอกจากนี้ พาวเวล ยังกล่าวย้ำชัดเจนว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสเลี่ยงภาวะถดถอยในช่วงที่ดอกเบี้ยกำลังปรับเพิ่มขึ้น แต่โอกาสการชะลอตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือ ซอฟท์แลนดิ้ง ดูจะมีน้อยลง ซึ่งเป็นผลจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ชะลอลงอย่างเชื่องช้า ดังนั้นเฟดยังมีความจำเป็นที่ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

       สัญญาณที่ส่งออกมาจากเฟด ทำให้ตลาดเงินเริ่มตีความว่า เฟด น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยจนไปแตะระดับที่ไม่น้อยกว่า 5% ส่งผลต่อเงินดอลลาร์ที่กลับมาแข็งค่า และทำให้เงินสกุลต่างๆ อ่อนค่าลง รวมถึงเงินบาทไทยด้วย โดยเมื่อวานนี้ (3 พ.ย.) เงินบาทปิดตลาดที่ 38.03 บาท อ่อนค่าลงราว 0.74% จากราคาปิดวันก่อนหน้า

 

   นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การตัดสินนโยบายล่าสุดของเฟด และการสื่อสารเกี่ยวกับแนวนโยบายในอนาคตเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดไว้ โดยขณะนี้ เฟดมุ่งมั่นที่จะดูแลเงินเฟ้ออย่างเต็มที่ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ในระยะยาว 

     ทั้งนี้ หลังการประชุมอาจเห็นความผันผวนระยะสั้นในตลาดการเงินโลก และไทยบ้าง ซึ่ง ธปท. ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด

     ในส่วนของการดำเนินนโยบายของไทยในระยะต่อไป เธอกล่าวว่า ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับบริบทของไทยเช่นกัน ทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน โดยการดำเนินนโยบายจะมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และให้ทันการณ์ ตามที่ กนง. ได้สื่อสารมาต่อเนื่อง

     ส่วนการเคลื่อนไหวค่าเงินบาท เทียบดอลลาร์ในวานนี้ ปรับอ่อนค่าลง 0.8% และดัชนีค่าเงินบาท (เทียบสกุลภูมิภาค) ปรับอ่อนลง 0.34% ด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ยังไม่พบสัญญาณผิดปกติ

    ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่  2 พ.ย. เงินบาทอ่อนค่าลง 11% โดยถือว่าอ่อนในระดับกลางๆ เทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาทอ่อนลงเพียง 0.7% และต่างชาติมีฐานซื้อสุทธิในสินทรัพย์ไทยที่ 1.1 แสนล้านบาท ซื้อในหุ้น 1.6 แสนล้านบาท และขายสุทธิในตลาดพันธบัตรที่ 0.5 แสนล้านบาท 

    “ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท และเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด โดยภาคเอกชนควรบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงินในสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง”

ห่วงทุนสำรองลดซ้ำรอยญี่ปุ่น

     นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research กลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่ 0.75% ครั้งนี้ จะยิ่งหนุนให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทย และสหรัฐ ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงด้านค่าเงินบาทให้อ่อนค่ามากขึ้นในระยะข้างหน้า อาจทำให้แบงก์ชาติเข้าไปดูแลเงินบาท ผ่านทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น

    แต่สิ่งที่กังวล หากเข้าไปแทรกแซงเงินบาทมากขึ้น ท้ายที่สุดอาจไม่สามารถดูแลเงินบาทได้ หากไม่เปลี่ยน Fundamental หรือปัจจัยพื้นฐานของไทย ดังนั้นการเข้าไปแทรกแซงเงินบาท อาจช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้อ่อนค่ามากได้ในระยะสั้นๆ เท่านั้น ท้ายที่สุดประเทศไทยอาจซ้ำรอยกับญี่ปุ่นได้ ที่ทุนสำรองลดลงค่อนข้างมาก จากการเข้าไปดูแลค่าเงิน

    อย่างไรก็ตาม อีกปัจจัยเสี่ยง คือดุลบัญชีเดินสะพัด หากท่องเที่ยวไม่ได้เพิ่มตามที่คาด ประเทศไทยอาจเผชิญความลำบากมากขึ้น โดยการคาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดปีหน้าคาดการณ์ว่า จะเติบโตอยู่ที่ 2-3%ของจีดีพี ต่ำกว่าอดีตที่เติบโต 5-6% ดังนั้นเหล่านี้ถือเป็นความท้าทายมากขึ้น

ขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไปเสี่ยงเงินเฟ้อเพิ่ม

    ทั้งนี้ประเมินว่า การประชุมครั้งถัดไปในเดือนพ.ย.นี้ ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25%เพราะสัญญาณชัดเจนจากการลงมติของคณะกรรมการนโยบายการเงินในรอบก่อนที่ออกมาเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เสียง เพราะต้องการทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง

       นายพิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินนโยบายการเงิน แบบค่อยเป็นค่อยไป จะยิ่งทำให้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีมากขึ้น เพราะสุดท้าย หากไม่สามารถคุมเงินเฟ้อได้ อาจทำให้ต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงในระยะข้างหน้า จึงมองว่าสิ่งเหล่านี้คือ ความท้าทาย สำหรับผู้ดำเนินนโยบายการเงิน ที่ต้องบาลานซ์ความเสี่ยงแต่ละด้านให้ดี ซึ่งหากขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป อาจทำให้มีความเสี่ยงในด้านเงินบาทอ่อนค่ามากขึ้น และอาจไม่สามารถดูแลเงินเฟ้อได้เท่าทัน

     อย่างไรก็ตาม มองว่า ภายใต้เงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูงที่ 6% อาจมีความจำเป็นที่แบงก์ชาติต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปใกล้ระดับ 2% เพื่อดูแลความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ หรือขึ้นดอกเบี้ยไปใกล้ระดับ Neutral rate ให้มากที่สุด

“สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ แบงก์ชาติต้องรีบเอาเท้าออกจากคันเร่งเร็วที่สุด เพราะดอกเบี้ยไทยที่ 1%ก็เหมือนเท้ายังอยู่ทันคันเร่ง เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ เราประชุมในเดือนพ.ย.ครั้งสุดท้าย หากขึ้นดอกเบี้ยแค่ 0.25% ส่วนต่างดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นมหาศาล ดังนั้นห่วงว่าเงินบาทอาจโดนแรงกดดันหนักแน่นอน”

ห่วงส่วนต่างดอกเบี้ยไทยสหรัฐยิ่งห่าง

    นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ 0.75% ถือว่าเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ ข่าวดีคือ รอบหน้าเฟดอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยน้อยลง มาสู่ 0.50% แต่ข่าวร้ายที่สร้างความกังวลต่อตลาดคือ เฟดมองว่าเงินเฟ้ออาจแรงกว่าที่คาด

    ดังนั้น นักลงทุนประเมินว่า ดอกเบี้ยปลายทางสุดท้าย เฟดอาจเพิ่มขึ้น ไปสู่ 5.25% ในเดือนมี.ค. จากเดิม5% ที่เดือนก.พ. ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าเดิม ทำให้ตลาดกังวลว่า ระยะข้างหน้า ดอกเบี้ยจะสูงต่อเนื่องลากยาวไปอีกระยะ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยง

    ทั้งนี้ที่กังวลคือ เมื่อส่วนต่างดอกเบี้ยยิ่งสูงขึ้น ระหว่างดอกเบี้ยไทย และสหรัฐ ยิ่งสร้างแรงกดดันให้เกิดเงินทุนไหลออก และส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทให้ยิ่งอ่อนค่ามากขึ้น แม้จะมองว่า ระยะสั้น เงินบาทจะแข็งค่าได้ในปลายปี จากท่องเที่ยวที่เข้ามาเพิ่มขึ้น แต่ส่วนต่างดอกเบี้ยที่มากขึ้น มองว่าเงินบาทมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าต่อเนื่องไปถึงกลางปีหน้า

เงินบาทเสี่ยงอ่อนแตะ 42 บาท ปีหน้า

    สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทปลายปีนี้มีโอกาสอ่อนค่าแตะ 40 บาทต่อดอลลาร์ และไตรมาส 2 ปีหน้าอาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าแตะ 42 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีปัจจัยกระตุ้นจากฤดูกาลจ่ายเงินปันผลของบริษัทต่างชาติซึ่งจะเกิดการนำเงินออกนอกประเทศ 

     ดังนั้นคาดว่า มีโอกาสเป็นไปได้ ที่ดอกเบี้ยของไทยจะขึ้นต่อเนื่องไปถึงกลางปีหน้า หรืออีก 4 ครั้ง ทำให้ดอกเบี้ยไทย มีโอกาสไปสู่ระดับ 2%เป็นอย่างน้อยได้ในกลางปี

     “แม้เราจะอยากให้แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.50%แต่แบงก์ชาติไม่ได้สะทกสะท้าน เพราะจริงๆ ควรขึ้นมากตั้งแต่ครั้งก่อนไปแล้ว ตอนนี้อาจจะช้าไป แต่ก็ต้องดูพัฒนาการต่อไป สหรัฐเขาขึ้นเร็ว แรงและจบเร็ว และเวลาชาวบ้านเขาหยุดไปแล้ว แต่เรายังหยุดไม่ได้ในกลางปีหน้า ซึ่งเป็นข้อเสียของการขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และเสี่ยงว่าการขึ้นดอกเบี้ยอาจลากยาวต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 3 ปีหน้าด้วย”

ส่องเฟดตรึงดอกเบี้ยสูงถึงสิ้น ปี 66

     นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เฟด คงจะยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจว่าจะดูแลเงินเฟ้อได้ ในส่วนนโยบายการเงินของไทยมองว่า ธปท. จะยังขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไปที่ระดับ 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 1.25% ในปลายปีนี้ และปีหน้าอาจเห็นดอกเบี้ยขึ้นไปแตะระดับ 2% 

     สิ่งที่น่ากังวลคือ ปีหน้าอาจเกิดวิกฤติในหลายประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ แม้หลายคนมองว่าเราเป็นเซฟเฮฟเว่น แต่เมื่อเศรษฐกิจโลก และตลาดเกิดใหม่เจอปัญหา เราก็คงโดนหางเลขด้วย ตอนนี้เงินไหลเข้าแต่อนาคตอาจจะไหลออกก็ได้ ซึ่งน่ากังวล ดังนั้นเราต้องเตรียมการไว้ก่อน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์