จังหวะการเข้าลงทุนกลับมาหรือยัง
นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มบุกยูเครนเมื่อช่วงต้นปี สหรัฐได้เสนอให้หลายประเทศประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญรายใหญ่ของโลก ส่งผลให้เกิดปัญหาในหลายๆด้าน เช่น ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ปัญหาการขาดแคลนอุปทานรุนแรงมากขึ้น ฯลฯ
ในขณะที่เศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้อุปสงค์ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น การที่อุปทานลดลงท่ามกลางอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และธนาคารกลางหลายประเทศประกาศขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว เพื่อกดให้อุปสงค์ลดลง ท่ามกลางความคาดหวังว่าจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ ก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครนในวันที่ 24 ก.พ. 2565 ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสแกว่งตัวขึ้นจาก 47 ดอลลาร์/บาร์เรลในวันทำการแรกของปี สู่ 61 ดอลลาร์/บาร์เรลในวันที่ 23 ก.พ. โดยได้แรงหนุนจากความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างสดใส และตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจขึ้นดอกเบี้ยเพียงครั้งละ 0.25% สู่ 0.75% - 1.00% ในปีนี้ ในขณะที่คาดการณ์ของเฟดในเดือน มี.ค. 2565 หลังหลายประเทศเริ่มคว่ำบาตรรัสเซีย บ่งชี้ว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยสู่ 1.75% - 2.00%
อย่างไรก็ดี ก่อนรัสเซียบุกยูเครน ตลาดหุ้นสหรัฐได้ทยอยปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นปี จากแรงขายทำกำไรหลังตลาดหุ้นสหรัฐอยู่ในภาวะกระทิงต่อเนื่องยาวนาน และลดความเสี่ยงจากผลกระทบจากการที่ดอกเบี้ยกลับเป็นขาขึ้น ในขณะที่ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในเอเชียแกว่งตัวในกรอบแคบๆ
หลังสงครามรัสเซีย – ยูเครนยืดเยื้อกว่าที่คาด และหลายชาติประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตรพลังงานของรัสเซีย ซึ่งส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น และธนาคารกลางหลายประเทศเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ ส่งผลให้การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศและตลาดตราสารหนี้ต่างให้ผลตอบแทนเป็นลบ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในตลาดหุ้นสหรัฐต่างร่วงลงแรงเนื่องจากต้นทุนในการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้น
การที่การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศและตราสารหนี้ในปีนี้ให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีเป็นลบ ส่งผลให้การกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ในปีนี้ช่วยได้ในด้านการลดความผันผวน แต่อาจไม่ช่วยในด้านผลตอบแทนการลงทุน เว้นเสียแต่หากมีการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งให้ผลตอบแทนเป็นบวก (ณ วันที่ 8 พ.ย. 2565 ดัชนีผลตอบแทนรวมตลาดหลักทรัพย์ไทย +1.14% จากวันทำการสุดท้ายของปีที่แล้ว) และลงทุนในเงินฝากหรือกองทุนตลาดเงินในสัดส่วนที่สูง พอร์ตการลงทุนก็อาจจะไม่ติดลบ
การที่ผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ และตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนเป็นลบ กอปรกับนักวิเคราะห์จำนวนมากเริ่มให้ความเห็นเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นไทย (ทางเราได้ให้ความเห็นเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยมาต่อเนื่องตั้งแต่บทความในเดือน ก.ค.) นักลงทุนอาจจะเริ่มมีคำถามว่าควรกลับมาลงทุนได้หรือยัง?
ในแง่ของปัจจัยภายนอก มีแนวโน้มที่เฟดจะลดความรุนแรงในการขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงจากผลของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา กอปรกับผลของฐานการคำนวณสูงขึ้น ดังนั้น ถึงแม้เฟดระบุว่าการขึ้นดอกเบี้ยอาจยาวนานกว่าที่ประเมินไว้ แต่วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐอาจสิ้นสุดในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐส่วนใหญ่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย
ในส่วนของยุโรปยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากประสบปัญหาวิกฤตพลังงานจากการคว่ำบาตรรัสเซีย ส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดตลอดกาลอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มแก้ไขได้ยาก เนื่องจากเงินเฟ้อกระจายตัวเป็นวงกว้าง
สำหรับเศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงขาขึ้นจากการที่จีนเตรียมผ่อนคลายมาตรการสกัดโควิด-19 โดยในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนเติบโตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากรัฐบาลยึดมั่นในนโยบายโควิดเป็นศูนย์ โดยมีการล็อคดาวน์หลายครั้ง ส่งผลให้ภาคการผลิตและการบริโภคหยุดชะงักเป็นช่วงๆ ดังนั้นหากจีนผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว จะส่งผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจจีนอาจเติบโตดีกว่าที่คาดจากการกลับมาเปิดเศรษฐกิจ และผลของฐานต่ำ
ส่วนเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัวอย่างชัดเจน นำโดยการท่องเที่ยว การส่งออก และการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยมากที่สุดยังจำกัดการเดินทางก็ตาม การส่งออกในปีนี้เติบโตดีกว่าที่คาดเช่นกัน
ถึงแม้ภาคการผลิตและส่งออกมีอุปสรรคจากการล็อคดาวน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และประสบปัญหาการขาดแคลนอุปทานก็ตาม ดังนั้น การส่งออกและการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าที่คาดหากจีนผ่อนคลายมาตรการสกัดโควิดและกลับมาเปิดประเทศ และปัญหาในภาคอุปทานดีขึ้น ส่วนการใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการสกัดโควิด ส่งผลให้เศรษฐกิจกลับมาใกล้เคียงปกติมากขึ้น และผู้บริโภคมีความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้นหลังจากขาดรายได้ในช่วงการระบาดของโควิด
จากมุมมองดังกล่าว ผลตอบแทนการลงทุนอาจจะยังไม่อยู่ที่จุดต่ำสุด แต่ก็น่าจะตอบรับข่าวร้ายต่างๆไปมากพอแล้ว ในขณะที่ข่าวดีต่างๆมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในช่วงปีหน้า ดังนั้นนักลงทุนอาจเริ่มทยอยลงทุนเพื่อที่จะไม่พลาดโอกาสในการรับผลตอบแทนที่ดี ในขณะเดียวกันก็ไม่เป็นการเสี่ยงเกินไปจากการลงทุนทั้งหมดในครั้งเดียว แล้วสถานการณ์ไม่ได้ดีดังคาด ส่งผลให้เกิดการขาดทุนจำนวนมาก ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมประเมินความเสี่ยงของท่านก่อนการตัดสินใจลงทุน