นโยบายการเงินหลังเงินเฟ้ออ่อนแรง | บัณฑิต นิจถาวร

นโยบายการเงินหลังเงินเฟ้ออ่อนแรง | บัณฑิต นิจถาวร

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลก เพื่อแก้เงินเฟ้อเริ่มส่งผลคือ อัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอ

ล่าสุด อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 ลดจากร้อยละ 10.7 เดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศก็ชะลอเช่นกัน ทําให้นักวิเคราะห์มองว่าอัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลกอาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว

คำถามคือ เมื่ออัตราเงินเฟ้อเริ่มอ่อนเเรง นโยบายการเงินจากนี้ไปควรเป็นอย่างไร อัตราดอกเบี้ยควรขึ้นต่อหรือไม่ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดเริ่มแสดงการอ่อนแรงของอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศ คือเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง แสดงถึงผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางที่มีต่อเงินเฟ้อ

ล่าสุด อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนในกลุ่มประเทศยูโรโซนลดลงเป็นครั้งแรก คือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 ลดลงจากร้อยละ10.7 เดือนก่อนหน้า และในบางประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ อัตราเงินเฟ้อลดลงมากในเดือนพฤศจิกายนคือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 เทียบกับร้อยละ 14.3 เดือนตุลาคม

ในเดือนตุลาคมอัตราเงินเฟ้อในอังกฤษก็สูงมากเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 สูงสุดในรอบ 41  ปี เป็นผลจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นมาก

นโยบายการเงินหลังเงินเฟ้ออ่อนแรง | บัณฑิต นิจถาวร

ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเดือนพฤศจิกายนยังไม่ประกาศตอนเขียนบทความนี้ แต่ตัวเลขเดือนตุลาคมก็สะท้อนอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงเช่นกัน คือ ขยายตัวร้อยละ 7.7 จากร้อยละ 8.2 เดือนกันยายน

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น บราซิล ไทย อินเดีย อินโดนีเซีย ในเดือนตุลาคมก็ชะลอลงเทียบกับเดือนหน้า

ของไทยอัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 6.0 เทียบกับร้อยละ 6.4 เดือนกันยายน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อโลกเดือนตุลาคมชะลออยู่ที่ร้อยละ 12.1

การชะลอตัวของเงินเฟ้อเป็นผลจากหลายปัจจัย ที่สำคัญคือการใช้จ่ายที่ชะลอลงจากผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ทําให้ราคาสินค้าวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน ปรับลดลง ส่งผลต่อถึงราคาสินค้าผู้ผลิตให้ปรับลดลง

ขณะเดียวกันข้อจำกัดต่อการผลิตและการขนส่ง โดยเฉพาะค่าระวางสินค้า ก็เริ่มผ่อนคลายและลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟมองว่าอัตราเงินเฟ้อคาดหวังโดยผู้ผลิตและผู้บริโภค (Inflation Expectation) ก็เริ่มนิ่ง เช่น อัตราเงินเฟ้อคาดหวังห้าปีข้างหน้าในสหรัฐที่ไม่ปรับขึ้นต่อ ช่วยให้แรงขับเคลื่อนเงินเฟ้อชะลอ

พลวัตเหล่านี้ทำให้นักวิเคราะห์เริ่มสรุปว่า จุดสูงสุดของเงินเฟ้อรอบนี้อาจผ่านไปแล้ว ทําให้ความจำเป็นที่อัตราดอกเบี้ยจะต้องปรับขึ้นต่อเพื่อดูแลเงินเฟ้อมีน้อยลง

ในเรื่องนี้ประธานเฟดให้ข้อสังเกตอย่างน่าสนใจว่า เงินเฟ้อที่ลดลงเดือนต่อเดือนนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เหมือนที่เคยเพิ่มขึ้นเดือนต่อเดือน แต่การลดลงของเงินเฟ้อที่ต่อเนื่องจนเป็นขาลงนั้นจะใช้เวลา และจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อความไม่สมดุลที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจเริ่มหายไป ซึ่งมีสองประเด็นสำคัญ

หนึ่ง ความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในระบบเศรษฐกิจ คือการใช้จ่ายและการผลิต ถ้าการใช้จ่ายยังขยายตัวเร็วกว่าที่การผลิตจะตอบสนองได้ทัน ราคาสินค้าและเงินเฟ้อก็จะปรับสูงขึ้นอย่างที่เกิดขึ้น

การลดความไม่สมดุลนี้ต้องมาจากการลดการขยายตัวของการใช้จ่าย ซึ่งนโยบายการเงินที่เข็มงวดคือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสามารถช่วยได้ ควบคู่ไปกับแก้ปัญหาหรือข้อจำกัดด้านการผลิตเพื่อให้อุปทานสามารถขยายตัวหรือเพิ่มได้มากขึ้น

การปรับตัวในทั้งสองด้านนี้กําลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลกทําให้อัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอ แต่ความไม่สมดุลที่มีอยู่ยังไม่หมด เงินเฟ้อเพิ่งเริ่มลดลง ทําให้การแก้ความไม่สมดุลควรต้องทำต่อไปเพื่อลดความไม่สมดุลที่เหลืออยู่

สอง ความไม่สมดุลในตลาดแรงงาน ที่หลังโควิดเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ธุรกิจไม่สามารถหาคนมาทํางานได้ เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน การหาคนมาทํางานกลายเป็นเรื่องยาก

อุปสงค์หรือความต้องการแรงงานจึงมีมากกว่าอุปทานหรือจํานวนคนที่พร้อมทำงาน ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานต้องปรับสูงขึ้นเพื่อดึงคนมาทํางาน ราคาสินค้าโดยเฉพาะสินค้าบริการจึงปรับสูงขึ้นตาม เพราะต้นทุนหลักของสินค้าบริการคือค่าจ้าง

ผลคืออัตราเงินเฟ้อในกลุ่มสินค้าบริการเร่งตัวขึ้นมาก และจะไม่ลดลงง่ายๆถ้าความไม่สมดุลในตลาดแรงงานยังมีอยู่

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ จึงมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอขณะนี้อาจไม่ลดลงเร็ว เพราะการลดความไม่สมดุลจะใช้เวลาและอัตราเงินเฟ้อยังจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าเป้าร้อยละ 2 ในปีหน้า ทำให้นโยบายการเงินที่เข้มงวดยังจำเป็น

ซึ่งตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีในวันที่ 13-14 เดือนนี้ แต่มีความเป็นไปได้ที่ขนาดการปรับขึ้นคราวนี้อาจไม่เข้มเหมือนสองสามครั้งที่ผ่านมา

ผมเห็นด้วยกันกับแนวคิดนี้เพราะถ้านโยบายการเงินผ่อนคลายเร็วเกินไป อัตราเงินเฟ้อคงกลับมาเร่งตัวใหม่แน่นอน ซึ่งจะทําให้การเอาอัตราเงินเฟ้อลงจะยิ่งเป็นเรื่องยาก

ดังนั้น จึงควรปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อจนชัดเจนว่าอัตราเงินเฟ้อได้ชะลอลงมาใกล้หรือกลับสู่ระดับที่เป็นเป้าหมาย ที่สำคัญ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเร็วไปจะกระทบอัตราเงินเฟ้อคาดหวังของภาคธุรกิจและประชาชน ทําให้อัตราเงินเฟ้ออาจกลับไปสูงอีกได้ จึงเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง

น่ายินดีว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็คิดเริ่องนี้ในแนวเดียวกันสะท้อนจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ในการประชุมครั้งล่าสุดแม้อัตราเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอ

เป็นการประคองให้แรงกดดันเงินเฟ้อสามารถลดลงได้ต่อเนื่อง ในขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สร้างข้อจำกัดให้กับภาคเศรษฐกิจจริง ขณะเดียวกันก็นําอัตราดอกเบี้ยในระบบเศรษฐกิจกลับไปสู่ระดับที่เป็นปรกติมากขึ้นตามที่ได้ประกาศไว้

กรณีที่ควรติดตามและน่าสนใจคือญี่ปุ่น ที่ธนาคารกลางไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเลยในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่ามาก ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 3.6 เดือนตุลาคม สูงกว่าระดับที่เป็นเป้าหมายของนโยบายการเงิน

จึงน่าสนใจว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นหรือไม่ และด้วยเหตุผลอะไร.

นโยบายการเงินหลังเงินเฟ้ออ่อนแรง | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]