CIMB ผู้นำธุรกิจบริหารเงิน Treasury Products โต 50% แตะ 6 หมื่นล้าน
CIMB เปิดแผนปี 66 รุกธุรกิจบริหารเงิน" Treasury Product" ดันยอดลงทุนแตะ 6 หมื่นล้าน โต 50% จากปีนี้กว่า 4 หมื่นล้าน เหตุ เพิ่มทีมดูแลลูกค้า ชู ปี 65 สร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 2-5% สูงกว่าผลตอบแทนตลาดหุ้น-กองทุนที่ติดลบ
ปี2565 ถือเป็นปีที่ “ลงทุนยาก” เพราะมีสารพัดปัจจัยลบที่กดดันต่อเนื่อง ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อพุ่งแรง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศต่างๆ และเงินบาทอ่อนค่า
ทว่า ปัจจัยดังกล่าวนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการบริหารเงินลงทุนของ ทีมบริหารเงิน (Treasury Products) ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT ที่ปีนี้โชว์ผลงานได้โดดเด่น สร้างผลตอบแทนให้กับลูกค้าเฉลี่ย 2-5% ในพอร์ตการลงทุนที่เน้นปลอดภัย แต่หากลูกค้าที่รับความเสี่ยงได้สูงขึ้นผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 7-10% สวนทางกับผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปัจจุบันติดลบ 0.96% (ณ 2 ธ.ค.2565) และอุตสาหกรรมกองทุนที่ติดลบกว่า10% (ณ 29 พ.ย.2565)
ตอกย้ำจากรางวัลใหญ่ Thailand House of the Year จาก Asia Risk Awards 2022 ด้านการบริหารความเสี่ยง และนวัตกรรมทางการเงินที่ “เพา จาตกานนท์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจบริหารเงิน เพิ่งได้รับในปี 2565 รวมถึง การสร้างมูลค่าธุรกรรมตราสารหนี้ภาคเอกชนตลาดรองกว่า 1.2 แสนล้านบาท มูลค่าการค้าตราสารหนี้กว่า 6 แสนล้านบาท นำทัพโดย “เจษฎา เจนวาณิชย์” ผู้บริหารธุรกิจค้าอนุพันธ์การเงิน รวมถึงการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนกว่า 1.2 แสนล้านบาท
“ภูดินันท์ เศรษฐนันท์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงิน ผู้บริหารธุรกิจผลิตภัณฑ์การเงินและที่ปรึกษา Equity Derivatives ธุรกิจบริหารเงิน และผู้บริหารการขายลูกค้าบุคคลธนกิจ ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ดีมากสำหรับผู้ที่ลงทุนในผลิตภัณฑ์ของ Treasury Product ของธนาคาร เพราะ ได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่ดีเฉลี่ย 2-5% แต่หากนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 7-10% จากคำแนะนำของทีมบริหารเงิน (Treasury&Markets)ที่มีความเชี่ยวชาญในการออกผลิตภัณฑ์การลงทุน และแนะนำลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้ถูกจังหวะ
สะท้อนจากได้รับรางวัลธนาคารยอดเยี่ยมและผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมด้านตราสารอนุพันธ์ ตราสารที่มีความซับซ้อน Best Structured Product House, และ Best Bank for Investment and Financing Solutions อย่างต่อเนื่อง 9 ปีซ้อน รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์สนับสนุน ESG ซึ่งปีนี้มียอดการลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท
โดยผลิตภัณฑ์ที่สร้างผลตอบแทนที่ดีแก่ลูกค้าได้แก่ ผลิตภัณฑ์คุ้มครองเงินต้น ตระกูล MAXI โดยเฉพาะ MAXI V-PLUS หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR อายุ 2 ปี หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงอ้างอิง “หลักทรัพย์ใน SET50” หรือ Equity Linked Note (ELN) และหุ้นกู้เอกชนและพันธบัตรตลาดรอง ที่มีทั้งเสนอขายและรับซื้อคืน ซึ่งบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) อันดับ 1 โดยปีนี้มียอดการสนับสนุนการออกหุ้นกู้เอกชนปีนี้ 1.1 แสนล้านบาท คิดเป็น 10% ของทั้งตลาด 1.2 ล้านล้านบาท
“ในปีนี้สำหรับทีมTreasury นั้นมองว่าไม่มีช่วงไหนที่การลงทุนซบเซาเลย เพราะ ทีมได้ให้คำแนะนำลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุน ที่ถูกต้อง ถูกจังหวะการลงทุนในทุกช่วงเวลา และธนาคารก็มีทีมดูแลลูกค้าที่คอยแจ้ง คอยเตือนลูกค้าได้ทันต่อสถานการณ์ เช่น ช่วงบอนด์ยิลด์ปรับตัวเพิ่มขึ้น เราก็แนะนำให้ลูกค้าซื้อเข้าพอร์ต แต่เมื่อบอนด์ยิลด์ลดลงมากๆ เราก็รับซื้อจากลูกค้า”
“ภูดินันท์” กล่าวว่า แผนการดำเนินงานในปี 2566 ธนาคารตั้งเป้ายอดการลงทุนใน Treasury Product เติบโต 50% หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท จากปีนี้คาดอยู่ที่กว่า 4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากลูกค้าให้การตอบรับในการเข้าลงทุนดีมากในปีนี้ เพราะธนาคารให้คำแนะนำการลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุนแล้วลูกค้าได้รับผลตอบแทนที่ดี จึงยังคงมั่นใจที่จะลงทุนต่อเนื่อง และขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น
โดยธนาคารมีแผนขยายในธุรกิจผลิตภัณฑ์การเงิน “Treasury Product” การเพิ่มคำแนะนำลงทุนต่างประเทศ เช่น บอนด์ , Structured note,ELNอ้างอิงหุ้นต่างประเทศ ฯลฯ เพื่อให้ลูกค้าลงทุนได้ทั้งสกุลเงินบาท และดอลลาร์ ซึ่งเป็นการช่วยให้ลูกค้าสามารถกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปในสกุลเงินดอลลาร์ได้สะดวกขึ้น และผลตอบแทนที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สูงกว่าผลตอบแทนสกุลเงินบาท เมื่อยิลด์ของดอลลาร์ปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจทำให้พอร์ตการลงทุนของลูกค้าเติบโตถึง 5-8% หากลงทุนเป็นสกุลเงินบาทอาจได้ผลตอบแทนเพียง 2-3%
โดยในช่วงแรกจะแนะนำให้ฝากเงินสกุลเงินดอลลาร์ก่อน ซึ่งธนาคารซีไอเอ็มบีฯให้ดอกเบี้ยเงินฝากประจำสกุลเงินดอลลาร์สูงถึง 3% หลังจากนั้นเมื่อลูกค้ามีความเข้าใจเรื่องค่าเงินดอลลาร์แล้ว ก็จะแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนที่สูงขึ้นต่อไป เช่น Structured note, บอนด์, ELN ซึ่งในช่วงเริ่มต้นแนะนำลงทุนสัดส่วน 5-15% ของพอร์ตลงทุนก่อน ซึ่งทางธนาคารมีเป้าหมายจะทำให้พอร์ตการแนะนำลงทุนที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์เติบโต 20-30% จากปัจจุบันสัดส่วนไม่ถึง 5%
“ปีหน้าทางทีมบริหารเงินจะเน้นแนะนำการลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์มากขึ้น เริ่มต้นจากการฝากเงินประจำก่อน และจะให้ความรู้แก่ลูกค้าเพื่อให้เข้าใจถึงความเสี่ยงค่าเงินก่อน เมื่อมีความเข้าใจแล้วเบื้องต้นอาจจะแนะนำลงทุนในบอนด์ของบริษัทไทยที่ไปเสนอขายในต่างประเทศ ซึ่งมีผลตอบแทนสูง เป็นต้น”
รวมถึงธนาคารจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ Investment Grade ผลิตภัณฑ์การลงทุนที่คุ้มครองเงินต้นและกระจายความเสี่ยงไปในการลงทุนในหลากหลาย Asset Class และที่สำคัญจะเพิ่มทีมงานด้าน Markets Research and Advisory และขยายทีมดูแลลูกค้า ทั้งทีมงานสาขา และ Relationship Manager เพื่อรองรับลูกค้าใน Preferred Segment ที่มีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีพอร์ตลงทุนตั้งแต่ 1-3,000 ล้านบาท
“จากที่ธนาคารได้รับรางวัลธนาคารยอดเยี่ยมและผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมด้านตราสารอนุพันธ์ ตราสารที่มีความซับซ้อน Best Structured Product House, Best Bank for Investment Solutions อย่างต่อเนื่อง 9 ปีซ้อน ตอกย้ำให้เราต้องทำงานเพิ่มขึ้น สร้างความสุข สนุกจากการลงทุน ต้อนรับลูกค้าท่านใหม่จากการแนะนำต่อจากลูกค้าเดิมและ อยากให้ลูกค้าเมื่อนึกถึงผลิตภัณฑ์การลงทุน นึกถึงการให้บริการที่ดี นึกถึงธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย”
“ภูดินันท์” กล่าวทิ้งท้ายว่า หน้าที่ของเราคือบริหารเงินของลูกค้าให้งอกเงย เป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด และการให้คำแนะนำการลงทุนของเรานั้น เน้นการลงทุนที่ปลอดภัย ไม่ High Risk เพื่อลูกค้าสบายใจเมื่อลงทุนกับเรา ผลตอบแทนเฉลี่ย 2-5% อยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่หากลูกค้ารับความเสี่ยงได้สูง เราก็มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงระดับ 10% เช่นกัน