แนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนปี 2566

แนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนปี 2566

จากการที่ธนาคารกลางหลายประเทศ เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลให้เศรษฐกิจของหลายๆประเทศมีสัญญาณชะลอตัวชัดเจนมากขึ้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ทั่วโลกมองว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะอยู่ในภาวะชะลอตัวรุนแรง โดยที่เศรษฐกิจบางประเทศอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติพลังงาน

อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง จากที่เคยแตะระดับสูงกว่า 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้ ลงมาแกว่งตัวอยู่ในช่วง 75 – 92 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปัจจุบัน แรงกดดันเงินเฟ้อที่มีสาเหตุจากราคาน้ำมันจึงปรับตัวลดลง

เป็นผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มส่งสัญญาณลดความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนมีทิศทางดีขึ้น ถึงแม้ยังมีความไม่แน่นอนว่าธนาคารกลางหลายประเทศจะยุติการขึ้นดอกเบี้ยเมื่อใด

 

การชะลอการขึ้นดอกเบี้ย กอปรกับการที่จีนเริ่มมีท่าทีชัดเจนขึ้นในการผ่อนคลายมาตรการสกัดโควิด เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับทิศทางการลงทุนก่อนที่หลายประเทศจะเริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในปีหน้า เมื่อพิจารณาจากข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่ในปัจจุบัน กอปรกับบทวิเคราะห์ของหลายๆสำนัก อาจพอสรุปเป็นมุมมองได้ดังนี้

1. ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตามการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์ล่าสุดของ ธปท. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.2%, 3.7% และ 3.9% ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการเติบโตสวนทางกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง เงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติอาจไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยจำนวนมาก เนื่องจากเป็นแหล่งลงทุนที่มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดที่เศรษฐกิจชะลอตัว

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติอาจจะได้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น และการแข็งค่าของเงินบาท ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยอาจซื้อขายที่ premium กล่าวคือ ค่า P/E อาจอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตมากพอสมควร โดยเป้าหมาย SET Index ในปี 2566 ของนักวิเคราะห์ในตลาดอยู่ที่ระหว่าง 1,700 – 2,000 จุด

2. ตลาดหุ้นจีนกลับมาน่าสนใจมากขึ้น จากการที่จีนมีแนวโน้มผ่อนคลายมาตรการสกัดโควิด และกลับมาเปิดประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนกลับมาเติบโตได้ดีขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนสะดุดหลายครั้งจากการใช้มาตรการล็อคดาวน์ที่เข้มงวด การที่จีนกลับมาเปิดเศรษฐกิจนอกจากจะส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นจีนแล้ว จะยังส่งผลดีต่อมายังเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว เนื่องจากจีนเป็นทั้งตลาดส่งออกและตลาดท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย

3. ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐก็เริ่มอ่อนค่าลง กอปรกับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วจากที่เคยอยู่สูงกว่า 38 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 35 บาทต่อดอลลาร์ ภายใน 1 เดือนครึ่ง และยังคงมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าต่อไป 

 แต่หากค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาค และเข้าใกล้ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก็อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวพอสมควร ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลให้กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากองทุนที่ไม่มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน

4. ตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นยุโรปมีโอกาสปรับตัวลงอีกก่อนที่จะกลับมาฟื้นตัว โดยในช่วงที่ผ่านมาทั้งตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นยุโรปฟื้นตัวดี หลังธนาคารกลางสหรัฐและยุโรปเริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ยังคงมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงมากกว่านี้ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายท่านมองว่าตลาดยังตอบรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไม่มากพอ

ดังนั้นจึงมีโอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงต่อ ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนที่นิยมลงทุนจากปัจจัยพื้นฐานมองว่า ไม่มีใครรู้ว่าจุดต่ำสุดของตลาดอยู่ที่จุดใด แต่ราคาหุ้นในตลาดหลายตัวอยู่ในระดับราคาที่น่าสนใจ และมองว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งตลาดจะต้องฟื้นตัว จึงเริ่มทยอยลงทุนเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

ข้อมูลที่นำเสนอมานี้ เป็นการรวบรวมจากข่าวสารและบทวิเคราะห์เพื่อให้นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจ อย่างไรก็ดี ยังคงมีความเสี่ยงอื่นๆที่ต้องนำมาพิจารณาร่วม และนักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากหลายๆแห่งเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้