ธ.ก.ส. ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ยังตรึงดอกเบี้ยเงินกู้
ธ.ก.ส. ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากประจำสูงสุด 0.20% ต่อปี มีผลตั้งแต่ 19 ธ.ค.นี้ เพื่อหนุนการออม และเพิ่มผลตอบแทนให้กับลูกค้า พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่าตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%ต่อปี จาก1.00% เป็น 1.25% ต่อปี ธ.ก.ส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีบทบาทในการดูแลภาคการเกษตร และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีความเข้มแข็ง
พร้อมสนับสนุนนโยบายในการแบ่งเบาภาระ และสนับสนุนการออมเกษตรกร ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ A-Savings สำหรับลูกค้าทั่วไป 0.05%
เงินฝากออมทรัพย์ และออมทรัพย์พิเศษสำหรับลูกค้านิติบุคคล ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 0.05 – 0.10 และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ สำหรับลูกค้าทุกประเภท 0.12 – 0.20%
ประกอบด้วย เงินฝากออมทรัพย์ A-Savings สำหรับลูกค้าทั่วไป อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นจาก 0.45% เป็น 0.50% เงินฝากประเภทออมทรัพย์
สำหรับ ลูกค้านิติบุคคล ปรับขึ้นจาก 0.15% เป็น 0.25%ต่อปี
ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ปรับขึ้นจาก 0.25% เป็น 0.35%ต่อปี และเงินฝากออมทรัพย์พิเศษสำหรับลูกค้านิติบุคคล ปรับขึ้นจาก 0.20% เป็น 0.30% ต่อปี และส่วนราชการ ปรับขึ้นจาก 0.30% เป็น 0.40% ต่อปี
สำหรับบัญชีเงินฝากประจำ ลูกค้าทั่วไปที่มีบัญชีเงินฝากประจำ 3 เดือน อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นจาก 0.50% เป็น 0.62% ต่อปี เงินฝากประจำ 6 เดือน จาก 0.50% เป็น 0.65% ต่อปี เงินฝากประจำ 12 เดือนและ 24 เดือน จาก 1.00% เป็น 1.15% และ 1.20% ต่อปี ตามลำดับ
อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 36 เดือน 48 เดือน และ 60 เดือน ปรับขึ้นจาก 1.10% เป็น 1.30% ต่อปี และลูกค้านิติบุคคล ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจที่มีบัญชีเงินฝากประจำ 3 เดือน อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นจาก 0.25 % เป็น 0.37% ต่อปี เงินฝากประจำ 6 เดือน จาก 0.25% เป็น 0.40% ต่อปี เงินฝากประจำ12 เดือน จาก 0.48 % เป็น 0.63%ต่อปี
เงินฝากประจำ 24 เดือน จาก 0.48% เป็น 0.68% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ย เงินฝากประจำ 36 เดือน 48 เดือน และ 60 เดือน ปรับขึ้นจาก 0.70% เป็น 0.90% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ธ.ก.ส. ยังคงตรึง ทั้งอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบัน และนิติบุคคลชั้นดี (MLR) และอัตราดอกเบี้ยเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ไว้ให้นานที่สุด เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรลูกค้า สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการด้านการเกษตร ให้มีกำลังในการฟื้นตัวจากผลกระทบ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์