ผู้เกษียณปีนี้โปรดอ่าน
ต้องยอมรับว่า การลงทุนในหลักทรัพย์ปีนี้เป็นปีที่หนักหนาสาหัสกว่าปีอื่นๆ เพราะนอกจากผลตอบแทนจากหุ้นทุนจะติดลบแล้ว ผลตอบแทนจากการลงทุนในหลักทรัพย์เกือบทุกประเภทต่างก็ให้ผลตอบแทนติดลบด้วย ผู้ที่จะเกษียณอายุงานในปีนี้จึงกลุ่มอกกลุ้มใจเป็นอันมาก เพราะเงินก้อนที่คาดว่าจะได้เมื่อเกษียณ มีมูลค่าลดลงจากปีที่แล้ว
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน กลต.) ได้จัดเสวนาออนไลน์ผ่านเฟซบุ้คไลฟ์ ในหัวข้อ “การจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังเกษียณ” โดยมีวิทยากรจาก สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สำนักงาน กลต. และดิฉันได้ร่วมเป็นวิทยากรด้วยในนามของสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้มีการให้ข้อแนะนำแก่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ ซึ่งผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็สามารถนำไปตรึกตรองและประยุกต์ใช้กับการจัดการเงินลงทุนหลังเกษียณได้ด้วย จึงขอนำมาสรุปไว้ในบทความนี้
โดยทั่วไป การวางแผนเพื่อการเกษียณ จะเริ่มด้วยการคำนวณเงินที่เราคาดว่าจะใช้ในช่วงหลังเกษียณ คิดกลับมาเป็นค่าเงิน ณ วันเกษียณ (สมมุติว่าอายุ 60 ปี) และเราจะต้องมาคำนวณว่า เงินออมที่เรามีอยู่ขณะนี้ กับผลตอบแทนและผลประโยชน์ที่เราจะได้รับ รวมถึงเงินก้อนที่เราจะได้รับเมื่อเกษียณ เช่น เงิน กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินชดเชย ฯลฯ เมื่อถึงวันที่เราอายุ 60 ปีจะมีมูลค่าเท่าใด และขาดอีกเท่าใด จำนวนที่ขาดนั้นคือจำนวนที่เราต้องออมและลงทุนเพิ่ม เพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณ
เพราะฉะนั้น ช่วงเวลาที่เราเกษียณจึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ และปีนี้ก็เป็นปีที่ท้าทายอย่างที่ดิฉันได้เกริ่นไป
ในการเสวนา วิทยากรแนะนำว่า ผู้เกษียณในปีนี้ หากยังไม่จำเป็นต้องนำเงินออกมาใช้ ควรจะให้เงินอยู่ลงทุนต่อ เพราะมองไป 12 เดือนข้างหน้า สถานการณ์การลงทุนน่าจะดีกว่าในปัจจุบัน เนื่องจากตลาดทุนจะมองล่วงหน้าเสมอ สาเหตุที่ปีนี้ผลตอบแทนจากการลงทุนติดลบ เนื่องจากผู้ลงทุนมองว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกในปีหน้าจะไม่ดีนัก แต่พอถึงกลางปีหน้า เมื่อธนาคารกลางของสหรัฐหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย ผู้ลงทุนก็จะมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2567 จะดีขึ้น หลักทรัพย์ต่างๆจึงน่าจะมีราคาปรับตัวขึ้นตั้งแต่กลางปี 2566 เป็นต้นไป
การให้เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคงอยู่ต่อไปทำได้หลายวิธี เช่น คงอยู่ในกองเดิมทั้งหมด ทยอยถอนออก คงอยู่บางส่วนถอนออกบางส่วน หรือโอนย้ายไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ตั้งขึ้นมารองรับเงินลงทุนที่ย้ายมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF for PVD) ซึ่งสำนักงาน กลต.ให้ข้อมูลว่ามีอยู่ 20 กองทุน
การจัดการการเงินสำหรับท่านที่เกษียณไปแล้ว หรือกำลังจะเกษียณ หัวใจสำคัญจะอยู่ที่การจัดการค่าใช้จ่ายให้ดี ให้มีเงินใช้เพียงพอจนกว่าท่านจะจากไป ดังนั้นหากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น หมายถึงค่าครองชีพเพิ่มขึ้น เงินที่ท่านวางแผนไว้ว่าจะมีใช้เพียงพอ ก็อาจจะไม่พอ นอกจากท่านอาจจะต้องคอยปรับพอร์ต เพื่อบริหารจัดการผลตอบแทนและเพิ่มค่าให้กับเงินลงทุน
ในการลงทุนท่านต้องลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง และไม่โลภ คือไม่ลงทุนกระจุกตัว หรือทุ่มลงไปในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง โดยในการกระจายนั้น ท่านต้องอย่ากลัวความเสี่ยงจนเกินไป
ในช่วงเวลาที่มีความผันผวนสูงแบบนี้ ดิฉันแนะนำให้แบ่งเงินลงทุนหลังเกษียณเป็นสองส่วนคือ ลงทุนในพอร์ตหลัก ประมาณ 80-85% เพื่อให้อยู่ได้สบายแบบพื้นฐาน และลงทุนในพอร์ตรองอีกประมาณ 15-20% เพื่อเพิ่มโอกาสให้เงินเติบโต
พอร์ตหลัก 80-85% ควรตั้งเป้าหมายการลงทุนเพื่อผลระยะยาวใน 7-10 ปี แนะนำลงทุนในหุ้นไม่เกิน 15% โดยอาจลงทุนในหุ้นไทย 10% และหุ้นต่างประเทศ 5%ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อรับผลตอบแทนค่าเช่า ประมาณ 10-15%ส่วนที่เหลือ 70-75% ลงทุนในตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ A- ขึ้นไป พอร์ตนี้มีผลตอบแทนที่คาดหวัง 4.55% และมีค่าความผันผวน 7.75%
ส่วนพอร์ตรอง 15-20% เราจะลงทุนเพื่อหวังผลใน ระยะ 1-3 ปี แนะนำลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ประเภทหุ้นหรือใกล้เคียงไม่เกิน 40% (หุ้นไทย 23% หุ้นต่างประเทศ 15% โภคภัณฑ์ 2%) ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อรับผลตอบแทนค่าเช่า ประมาณ 10-15%ส่วนที่เหลือ 45-50% ลงทุนในตราสารหนี้ (ตลาดเงิน 10% พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ A- ขึ้นไป 35%) พอร์ตนี้มีผลตอบแทนที่คาดหวัง 6.3% และมีค่าความผันผวน 9.2%
เมื่อนำสองพอร์ตมารวมกัน จะพบว่า สัดส่วนการลงทุนในหุ้นทุน และสินทรัพย์เสี่ยงจะไม่เกิน 20% ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 15% มีสภาพคล่องในเงินฝากหรือเงินลงทุนในตลาดเงิน 2% และส่วนใหญ่คือ 63% ยังลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้ ซึ่งในปีหน้าคาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดี และไม่ผันผวนดังเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2565 พอร์ตรวมนี้ จะให้ผลตอบแทนที่คาดหวังประมาณ 4.9% และมีค่าความผันผวน 8.04%
การเสวนายาวสองชั่วโมงเศษแต่น่าสนใจมากค่ะ รับชมได้ที่ เฟซบุ้ค สำนักงาน กลต.
หากพบว่าเงินออมที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการเกษียณ ท่านสามารถมีทางเลือกได้ดังนี้คือ
1. ทำงานต่อไป ไม่หยุดทำงาน เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงชีพ
2. ใช้สิทธิ์จากสวัสดิการทั้งหมดที่มี ไม่ว่าจะเป็นเงินประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เบี้ยยังชีพของผู้สูงวัย ฯลฯ
3. ตรวจสอบดูว่าเข้าข่ายได้รับสิทธิ์เงินสงเคราะห์อะไรบ้าง เช่น เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุในยามยากลำบาก 3,000 บาท ไม่เกิน 3 ครั้ง ต่อคน ต่อปี เงินช่วยเหลือปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้สูงอายุให้เหมาะสมและปลอดภัย โดยถัวจ่าย กรณีซ่อมแซมบ้านโดยไม่ต้องปรับปรุงโครงสร้าง ไม่เกิน 22,500 บาท และกรณีซ่อมแซมโดยต้องปรับปรุง/เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ไม่เกิน 40,000 บาท และเงินสงเคราะห์ในการจัดการศพผู้สูงอายุตามประเพณี จำนวน 3,000 บาท
ทั้งนี้สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กรมกิจการผู้สูงอายุ ประทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โทร.0-2642-4336 หรือ เว็ปไซต์
4. ปรับสภาพการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับเงินที่มีอยู่
5. ขายทรัพย์สินบางอย่างเพื่อให้มีเงินเพิ่ม
6. ทำการจำนองย้อนกลับ (reversed mortgage) เพื่อให้ได้เงินใช้จ่าย และข้อสุดท้ายคือ ขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้องบางส่วน