6 ธีมการลงทุนสำหรับปี 2023 (ตอนที่ 2)
ในสัปดาห์ก่อนเราคุยกันถึงเรื่องธีมของการลงทุนในปี 2023 ไปแล้ว 3 ประเด็นได้ แก่ เรื่องของเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ โอกาสในหุ้นจีน และเรื่องของการลงทุนที่ชดเชยความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปแล้ว ในสัปดาห์นี้เรามาต่อในส่วนของธีมการลงทุนในปี 2023 ที่เหลือกันครับ
4.ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง (Geopolitical Risk) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานและความยั่งยืนต่อเนื่อง
ปัญหาและความเสี่ยงจากการพึ่งพิงพลังงานดั้งเดิมจากแหล่งผลิตหลักไม่กี่แห่งถูกขับให้เด่นชัดขึ้นในปีนี้จากเรื่องของสงครามในยูเครน ทำให้แผนการลดการพึ่งพิงพลังงานดั้งเดิมน่าจะถูกเร่งขึ้นมาและน่าจะเร่งขึ้นอีกในปีหน้าหลังจากแต่ละประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะในยุโรปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปได้บ้างแล้ว รวมถึงผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็น่าจะได้รับรู้ถึงความเสี่ยงด้านความยั่งยืนต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ทำให้กลุ่มที่ยังน่าจะมีแนวโน้มเติบโตได้ดีต่อเนื่องท่ามกลางความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มพลังงานทางเลือกต่างๆ ที่ไม่เพียงแต่เพิ่มความสำคัญขึ้น แต่ยังสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาวที่เกิดขึ้นด้วย โดยการลงทุนในส่วนนี้อาจจะช่วยชดเชยความเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากประเด็นเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ ที่ดูแล้วน่าจะยืดเยื้อต่อเนื่องไปอีกหลายปี รวมถึงเรื่องของมาตรการต่างๆ ที่จะมีการนำมาใช้เพื่อเป็นบทลงโทษหรือการรวมกลุ่มระหว่างประเทศที่มีนโยบายในทิศทางเดียวกันมากขึ้น
ในส่วนของการลงทุนกับความยั่งยืนก็น่าจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน การบริหารการลงทุนโดยมีความเสี่ยงยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่ง (ESG Integration) หรือเรื่องของการเติบโตของประเด็นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมมาภิบาลในการทำธุรกิจของภาคเอกชนต่างๆ โดยในส่วนนี้อาจจะไม่ได้เป็นตัวชี้เป็นชี้ตายในเรื่องของผลตอบแทน แต่ก็เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดในการลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่างๆ รวมถึงการร่วมมือกันพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อลดต้นทุนให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป
5.สินทรัพย์นอกตลาด (Private Asset) ยังน่าจะทำได้ดีต่อเนื่องในฐานะของการกระจายความเสี่ยง
Private Assets หรือ การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดเป็นการลงทุนที่เริ่มนิยมและมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้นในบ้านเรา โดยเฉพาะในส่วนของ Private Equity และ Private Credit ซึ่งประโยชน์ที่สำคัญๆ ของการขยายการลงทุนไปยังกลุ่มนี้ คือผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าสินทรัพย์จดทะเบียนต่างๆ และการกระจายการลงทุน (Diversification Benefits) แม้จะแลกมาด้วยความเสี่ยงที่สูงขึ้น สภาพคล่องที่ลดลง รวมถึงต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของสินทรัพย์นอกตลาดเพิ่มเติม แต่ก็นับได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนดีไม่น้อย และมีแนวโน้มเติบต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า หากเศรษฐกิจไม่ถดถอยอย่างรุนแรงหรือเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจนธนาคารกลางไม่สามารถควบคุมได้ในระยะสั้น
6.ยุคดอกเบี้ยศูนย์และติดลบที่น่าจะไม่กลับมาแล้ว
ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่เด่นชัดในระบบเศรษฐกิจการเงินโลก คือ การคงดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำมากในกลุ่มประเทศหลัก ทั้งในระดับใกล้เคียงศูนย์หรือแม้แต่ดอกเบี้ยติดลบ ซึ่งสามารถทำได้ภายใต้สภาพแวดล้อมทางการเงินที่เงินเฟ้อต่ำ จากการส่งออกแรงงานราคาถูกของประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า การขยายขอบเขตการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ
โดยนโยบายดอกเบี้ยที่ต่ำมากส่งผลต่อตลาดการเงินทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงสภาพคล่องส่วนเกินของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น และระดับมูลค่าซื้อขาย หรือ Valuation ที่สูงขึ้น นักลงทุนคุ้นเคยกับระดับการซื้อขายที่มีมาตรวัดในหลายๆ ด้าน เช่น กำไรต่อหุ้น (Price-to-Earing Ratio) ที่สูงขึ้นกว่าในยุคที่ดอกเบี้ยสูง นอกจากนั้นนักลงทุนยังเหมือนถูกผลักดันให้ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่มากขึ้น เนื่องจากการลงทุนในตราสารหนี้นั้นให้ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับระดับความเสี่ยงต่ำลงจากนโยบายดอกเบี้ยของธนาคากลางต่างๆ
ส่งผลให้การออมในระยะยาวโดยเฉพาะเพื่อการเกษียณนั้นบรรลุผลได้ยากขึ้น เช่น เรื่องของความนิยมของนโยบายการลงทุนแบบสมดุลตามอายุ (Life-Path Investment) ที่ลดลงอย่างมาก นอกจากนั้นยังส่งผลให้สินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามหลังจากวัฏจักรรอบนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยน่าจะกลับเข้าสู่ค่าเฉลี่ยในระยะยาว (Neutral Rate) มากขึ้น และไม่น่าจะกลับไปอยู่ใกล้เคียงศูนย์อีกแล้ว ทำให้พฤติกรรมและการจัดพอร์ตอาจจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อตราสารหนี้โดยรวมน่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเมื่อก่อน
ในปี 2023 น่าจะเป็นปีที่ใกล้เคียงกับภาวะปรกติมากขึ้น ความผันผวนในตลาดการเงินน่าจะลดลงเมื่อเทียบกับปีนี้ แต่ในภาพรวมก็ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายประการที่ต้องคอยจับตาดูต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของแนวโน้มเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน การคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงประเด็นทางการเมืองต่างๆ แต่ในภาพรวมได้แต่หวังว่าจะเป็นปีที่เป็นมิตรการนักลงทุนมากขึ้นครับ ..
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด