‘เงินบาททรงตัว’เปิดตลาดที่ 33.34 บาทต่อดอลลาร์ รอลุ้นCPIสหรัฐในคืนนี้

‘เงินบาททรงตัว’เปิดตลาดที่ 33.34 บาทต่อดอลลาร์ รอลุ้นCPIสหรัฐในคืนนี้

“กรุงไทย” ชี้เงินบาททรงตัวและอาจผันผวนฝั่งอ่อนค่าบ้าง หลังตลาดรอคอยตัวเลขCPIสหรัฐในคืนวันนี้ หวังหนุนเฟดชะลอเร่งขึ้นดอกเบี้ย มีแรงขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงและแรงซื้อทองในจังหวะย่อตัว มองกรอบวันนี้ 33.25-33.60 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (12 ม.ค.) ที่ระดับ 33.34 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.60 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดต่างรอคอยรายงานเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันนี้ ทำให้ เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ sideways ไปก่อน อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างวันก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะรับรู้รายงานเงินเฟ้อCPI สหรัฐฯ (ช่วงเวลาประมาณ 20.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย) 

เรามองว่า เงินบาท มีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจอยากขายทำกำไรสถานะShort USDTHB ซึ่งเราเริ่มเห็นแรงขายบอนด์ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติในวันก่อนหน้าถึง -6.2 พันล้านบาทนอกจากนี้ หากราคาทองคำย่อตัวลงใกล้แนวรับแถว 1,875 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เราประเมินว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจเข้ามาทยอยซื้อทองคำบ้าง ทำให้อาจเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้ 

ทั้งนี้ เราประเมินว่า หากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด หรือต่ำกว่าคาด ก็จะช่วยหนุนให้ตลาดยิ่งมั่นใจว่า เฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้อาจเห็นภาพตลาดเปิดรับความเสี่ยง พร้อมกับการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ การปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งในกรณีนี้ เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าลงทดสอบโซน 33.25 บาทต่อดอลลาร์ (หากผ่านแนวรับสำคัญถัดไปคือ 33 บาทต่อดอลลาร์) 

แต่หากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ กลับไม่ได้ชะลอลงตามคาด ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน เพราะผู้เล่นในตลาดอาจกลับมากังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีกครั้ง (อาจประเมินว่า เฟดจะยังไม่สามารถชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ง่าย) ส่งผลให้ตลาดการเงินจะพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นรวดเร็ว (ดัชนีเงินดอลลาร์ หรือ DXY อาจรีบาวด์ขึ้นแตะระดับ 105 จุดอีกครั้ง) กดดันให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านสำคัญจะอยู่ 33.70บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก

 

อนึ่ง การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

 

 

 

 

 

ความหวังแนวโน้มเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ จะชะลอตัวลง และสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ได้ช่วยให้ตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ต่อเนื่อง โดยผู้เล่นในตลาดเดินหน้าซื้อหุ้นในกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.76% ส่วนดัชนีS&P500 ปรับตัวขึ้น +1.28%

 

ส่วนในทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นราว +0.38% หลังหุ้นกลุ่มเทคฯและหุ้นสไตล์ Growth ในฝั่งยุโรปพลิกกลับมาปรับตัวขึ้น จากความหวังว่า เฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย หากเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม จากความหวังการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน

 

ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่า ตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างคาดหวังให้ เฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย (ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง +0.25%ในการประชุมครั้งหน้า) ได้กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวเล็กน้อยสู่ระดับ 3.54% ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอไฮไลท์สำคัญอย่าง รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ทำให้ในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 3.50% จนกว่าจะรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 103.2 จุด สอดคล้องกับมุมมองของเราก่อนหน้าที่ประเมินว่า เงินดอลลาร์จะแกว่งตัว sideways หรืออาจอ่อนค่าลงได้เล็กน้อย หากตลาดเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี แม้ว่า เงินดอลลาร์จะยังคงทรงตัว และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง แต่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านแถว 1,890 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ก่อนที่จะย่อตัวลงมาแกว่งตัวใกล้โซน 1,875-1,880 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เรามองว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างคาดหวังเฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย หากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะราคาทองคำย่อตัวลงในการทยอยเข้าซื้อ และอาจทยอยขายทำกำไร หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นทะลุแนวต้านไปทดสอบโซน 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้

 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามไฮไลท์สำคัญ คือ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เดือนธันวาคม โดยตลาดประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อาจชะลอลงสู่ระดับ 6.5% จากระดับ 7.1% ในเดือนก่อนหน้า ตามการปรับตัวลดลงของราคาพลังงาน, ปัญหา Supply Chain ที่คลี่คลายลง รวมถึงการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาสินค้าและบริการหลายรายการตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน ก็จะชะลอลงสู่ระดับ 5.7% จากระดับ 6.0% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดมีความสบายใจมากขึ้นว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง จนอาจทำให้เฟดพิจารณาชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต เหลือ +0.25% (ลดลงจาก +0.50% ในการประชุมเดือนธันวาคม)