ขายของออนไลน์ ขายดีจนต้อง “จด VAT“ แต่อยู่ “คอนโด” จดได้ไหม ทำอย่างไร
ข้อดีการขายของออนไลน์ คือ ทำที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมีหน้าร้าน แต่เมื่อขายดีมากๆ จนต้องจด VAT แม่ค้าออนไลน์หลายรายมักเจอคำถามสำคัญ ถ้าอยู่คอนโด สามารถใช้จดเป็นสถานประกอบการได้ไหม และทำอย่างไร
หากใครมีโซเชียลอยู่ในมือก็สามารถเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายของออนไลน์ได้ไม่ยาก และเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายแถมมีลูกค้าจำนวนมาก ทำให้คนทั่วไปลุกขึ้นมาขายของออนไลน์กันเป็นล่ำเป็นสัน
แต่เมื่อใดก็ตามที่เริ่มขายของออนไลน์ ผู้มีรายได้เหล่านี้ต้องหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และตามกฎหมายกำหนดให้เมื่อผลประกอบการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหลายคนไม่ค่อยทราบว่าจะต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วย
และปัญหาที่ตามมาคือ จะต้องมีบ้านที่ใช้เป็นสถานประกอบการยื่นจด VAT แต่เนื่องจากอาชีพขายของออนไลน์สามารถทำงานได้ทุกที่ที่มีออนไลน์ อยู่คอนโดมิเนียมก็สามารถขายของออนไลน์ได้ ซึ่งเดิมทีกฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้คอนโดเป็นสถานประกอบการ จึงทำให้คนทั่วไปไม่สามารถยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้
กระทั่งล่าสุด สามารถใช้อาคารชุด (คอนโด) เป็นสถานประกอบการเพื่อยื่นจด VAT ได้แล้ว แต่ก็มีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง และข้อปฏิบัติต่างๆ ดังนี้
- อย่าลืม! ขายของออนไลน์ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ผู้มีรายได้จากการขายของออนไลน์ เมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี (ยกเว้นเงินเดือนประจำไม่ต้องนำมาคำนวณ) จะต้องยื่นแบบ ภ.พ.01 ขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภายในไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท และนำเงิน 7% จากราคาขายสินค้า นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกๆ เดือน นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียนเป็นต้นไป
แต่เมื่อใดที่รายได้เกิน 1.8 ล้านบาท แล้วไม่ไปยื่นขอจดทะเบียน VAT หรือไปจดล่าช้า จะต้องเสียภาษีย้อนหลังเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้ากรมสรรพากรตรวจสอบพบว่ามีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท แต่ไม่ได้จด VAT จะต้องเสียค่าปรับตั้งแต่ 2-20% และเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน นับตั้งแต่วันแรกที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จนถึงวันที่ยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือจนถึงวันที่ทางกรมสรรพากรตรวจสอบ
โดยถ้าหากไม่จด VAT ให้ถูกต้องจะมีผลทางกฎหมายดังนี้
1.ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยตนเอง หากทำธุรกิจเกี่ยวกับการขายสินค้าหรือบริการ ไม่สามารถเก็บได้จากลูกค้า และไม่สามารถออกใบกำกับภาษีได้ เนื่องจากไม่ได้จด VAT
2.ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ 2 เท่า ของเงินภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษีตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้จด VAT หรือเท่ากับเป็นเงิน 1,000 บาทต่อเดือนภาษี และเสียภาษีเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
3.ไม่สามารถนำ VAT ที่ถูกร้านค้าหรือผู้ปะกอบการที่จด VAT เรียกเก็บ มาเป็นภาษีซื้อเพื่อหักออกจากภาษีขายได้ เนื่องจาก VAT ที่ถูกเรียกเก็บไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อ
- ปัจจุบันใช้ “คอนโด” จด VAT ได้แล้ว
ปัญหาหลักของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจด VAT แต่ไม่สามารถจดได้ เนื่องจากกฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้อาคารชุด (คอนโด) เป็นสถานที่ประกอบการได้ แต่ส่วนใหญ่คนขายของออนไลน์จะอยู่คอนโด หรือเช่าคอนโดเสียมากกว่า เพราะเป็นช่องทางการสร้างรายได้ที่ไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะ คนอยู่คอนโดจึงนิยมทำอาชีพดังกล่าว
ล่าสุดกรมสรรพากรได้มีการแก้ไขข้อกฎหมายให้สามารถใช้อาคารชุด (คอนโด) เป็นสถานประกอบการในการขอจด VAT ได้แล้ว แต่ต้องแนบภาพถ่ายหนังสือรับรองจากผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดที่ระบุว่า “สถานที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ประกอบการค้าของอาคารชุด” ดังนั้น หากส่วนที่เป็นที่พักอาศัยที่ไม่ใช่ร้านค้าก็ยังไม่สามารุนำมาเป็นสถานประกอบการเพื่อจด VAT ได้
- ใครขายของออนไลน์แล้วใช้ “คอนโด” จด VAT ได้บ้าง
คุณสมบัติของผู้มีรายได้ที่ขายของออนไลน์ จะสามารถใช้คอนโดเป็นสถานประกอบการเพื่อขอจด VAT ได้นั้น นอกจากจะต้องแนบภาพถ่ายหนังสือรับรองจากผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดแล้ว ยังต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ ด้วย ดังนี้
- เป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย
- อาศัยในอาคารชุด/คอนโดมิเนียม
- ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว (ศึกษาวิธีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คลิกที่นี่)
- มีสถานประกอบการอยู่ในอาคารชุดเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
- เอกสารที่ใช้ประกอบการขอจด VAT
สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ใช้คอนโดเป็นสถานประกอบการ หลังจากพ่อค้าแม่ค้าขายของออนไลน์ ที่รายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี และเข้าเงื่อนไขในการใช้คอนโดขอจด VAT ได้ จะต้องเตรียมเอกสารต่างๆ เพื่อ Upload ส่งเป็นหลักฐานในการขอจด VAT กับกรมสรรพากรด้วยดังนี้
1.กรณีเช่าให้เตรียมสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือหนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ (กรณีเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้ใช้อสังหาริมทรัพย์นั้น โดยไม่มีค่าตอบแทน)
2.เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นสถานประกอบการ (กรณีเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ใช้ที่อยู่อาศัยของตนเองเป็นสถานประกอบการ)
3.สำเนาทะเบียนบ้าน (คอนโด) ที่ตั้งสถานประกอบการ
4.ภาพถ่ายหนังสือรับรองจากผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดที่ระบุว่า “สถานที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ประกอบการค้าของอาคารชุด”
5.แผนที่แสดงที่ตั้งของสถานประกอบการ พร้อมภาพถ่ายสถานประกอบการ
6.สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคารที่ใช้ประกอบกิจการ (ถ้ามี)
- ขั้นตอนการจด VAT สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ใช้คอนโดเป็นสถานประกอบการ
เมื่อตระเตรียมเอกสารเพื่อใช้ในการขอจด VAT ครบถ้วนแล้ว ผู้มีรายได้สามารถทำการยื่นขอจด VAT ได้เลย โดยยื่นผ่านออนไลน์ได้ช่องทางเดียว ตามขั้นตอนการจด VAT ดังนี้
1.จดทะเบียนได้ที่ www.rd.go.th ช่องทางเดียวเท่านั้น โดยสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
2.ใส่เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก พิสูจน์และยืนยันตัวตนดิจิตอล (NDID)
3.ต้อง Upload เอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่
4.สามารถแก้ไขข้อมูลได้ก่อนเวลา 17.00 น. ของวันที่ยื่นแบบคำขอฯ เท่านั้น
- ข้อควรระวัง! เมื่อใช้คอนโดจด VAT
ทั้งนี้ การแก้ไขข้อกฎหมายนี้ จะช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าขายขอออนไลน์ที่อาศัยอยู่คอนโด ซึ่งต้องยอมรับว่ามีมากขึ้นหลายเท่าตัว สะดวกสบายและง่ายในการขอจด VAT มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามผู้มีรายได้ต้องจำไว้เสมอว่า ห้ามยื่นรายการจด VAT ที่เป็นเท็จ จะถือว่ามีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา และหลังจากจด VAT แล้ว ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน (ภ.พ.30) แม้ว่าเดือนนั้นๆ จะไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องยื่นก็ตาม
----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่