เข้าใจเหตุที่ ‘ไม่ออม’ เตรียมพร้อมวันเกษียณ | ธนิน ว่องวงศ์
ก้าวผ่านปีใหม่มา หลายคนตั้งใจกำหนดเป้าหมายใหม่ให้ชีวิต และเป้าของหลายคนอาจมีเรื่อง “การออมเงิน” อยู่ด้วย แต่หากใครยังไม่มีเป้าและแผนเรื่องเงินออม คงถึงเวลาแล้วที่ต้องคิดวางแผน
เนื่องจากการออมเพื่อการเกษียณอย่างสุขสบายอาจต้องใช้เงินมากกว่าที่คิด และคนส่วนใหญ่เองก็กำลังประสบปัญหาเงินออมไม่พอเช่นเดียวกัน
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2564 พบว่ามีผู้สูงอายุจำนวนเพียงประมาณ 5% เท่านั้นที่ประเมินว่าตนเองมีรายได้เหลือเก็บ และมีผู้สูงอายุที่ยังต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงตนเองหรือครอบครัวหลังจากเลยวัยเกษียณไปแล้วถึง 1 ใน 3 โดยในจำนวนนี้ เกือบครึ่งเลือกที่จะทำงานเนื่องจากเงินเก็บไม่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงดูตนเองหรือครอบครัว
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่คนไม่มีเงินออมคือ การมีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นปัจจัยเชิงเศรษฐศาสตร์ แต่ปัจจัยที่ส่งผลการออมของคนแต่ละคนยังมีมากกว่านั้น คือปัจจัยเชิงจิตวิทยา โดยเฉพาะจิตวิทยาเชิงพฤติกรรม (Behavioral Psychology) ซึ่งรวมถึงการมีอคติเชิงพฤติกรรม (Behavioral Bias) ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจต่างๆ
ในที่นี้ คำว่า “อคติเชิงพฤติกรรม” หมายถึงความคิดหรือความเชื่อที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งมักส่งผลต่อการตัดสินใจของคน อคติเชิงพฤติกรรมมักเกิดจากการเชื่อในความคิดแรกของตน หรือความคิดที่เกินขึ้นโดยอัตโนมัติโดยไม่ผ่านการไตร่ตรองอย่างละเอียดก่อน
โดยผู้คนมักใช้ระบบการคิดแบบนี้เนื่องจากใช้ความพยายามในการคิดน้อยกว่า และใช้เวลาในการตอบสนองน้อยกว่า แต่บางครั้งก็ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด
หรือในเชิงเศรษฐศาสตร์คือ ไม่สมเหตุสมผลนั่นเอง ซึ่งเรื่องนี้ถูกศึกษาอย่างลึกซึ้งในสาขาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในสาขาวิชาของเศรษฐศาสตร์ที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (Mainstream Economics) ไม่สามารถอธิบายได้
โดยทั่วไปแล้ว มนุษย์ส่วนใหญ่มีอคติเชิงพฤติกรรมหลากหลายรูปแบบ โดยแต่ละรูปแบบสามารถส่งผลต่อการตัดสินใจเก็บออมเงินได้ทั้งสิ้น
ดังนั้น การเรียนรู้ทำความเข้าใจอคติเชิงพฤติกรรมต่อเรื่องการออม ไม่เพียงแค่จะช่วยให้เรารู้ทันอคติตัวเองซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเก็บออมเงิน แต่จะมีส่วนช่วยในการอธิบายเหตุการณ์ที่ผู้สูงอายุจำนวนมากประสบปัญหาเงินออมไม่เพียงพอ
และสามารถนำไปสู่การหาเครื่องมือหรือช่องทางแก้ไขปัญหา ที่สอดคล้องกับการมีอคติเชิงพฤติกรรมบางลักษณะของคนไทยบางกลุ่มได้
ในหลายๆ การศึกษา อคติเชิงพฤติกรรมถูกจำแนกออกเป็นหลายประเภทแตกต่างกันไป มีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น
• อคติชอบปัจจุบัน (present bias) หมายถึง การที่ผู้คนมีแนวโน้มในการให้น้ำหนักกับความสุขหรือผลตอบแทนที่อยู่ตรงหน้าในปัจจุบันมากกว่าความสุขหรือผลตอบแทนที่ต้องอดทนรอคอยเพื่อจะได้รับในอนาคต
เช่น การเลือกถอนเงินเร็วกว่ากำหนด ถึงแม้จะได้ดอกเบี้ยน้อยกว่าการรอถอนเงินในอนาคตก็ตาม
• การแบ่งบัญชีในใจ (mental accounting) คือ การที่คนแบ่งเงินหรือทรัพย์สินสำหรับแต่ละจุดประสงค์ออกจากกัน และไม่มองว่าเงินเหล่านั้นสามารถใช้แทนกันได้
เช่น การแบ่งเงินสำหรับการออมและการบริโภคในแต่ละเดือน แต่หากเงินสำหรับการบริโภคเหลือ ก็ไม่อยากนำไปออม และอยากใช้ให้หมดตามที่แบ่งไว้แต่แรก
• การกลัวความสูญเสีย (loss aversion) คือ การเกรงกลัวเป็นอย่างสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสถานะไปในเชิงลบเมื่อเทียบกับระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เช่น การไม่อยากออมเงินเพิ่ม เนื่องจากมองว่าการลดเงินที่ต้องใช้บริโภคในแต่ละเดือนเป็นการสูญเสียรูปแบบหนึ่ง
• การมีความมั่นใจล้นเกิน (overconfidence bias) คือ การที่ผู้คนมีความมั่นใจเกี่ยวกับความรู้ความสามารถของตนเองในระดับที่สูงเกินจริง
เช่น การมั่นใจว่าจะมีเงินเก็บออมเพียงพอสำหรับการเกษียณแน่นอน ทั้งๆ ที่ไม่เคยคำนวณวางแผนอย่างละเอียดถี่ถ้วน
• อคติค่าเริ่มต้น (default option bias) คือการที่ผู้คนมีแนวโน้มที่จะพึงพอใจกับสภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากกว่าการเปลี่ยนไปสู่สิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทดลองทำหรือที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน
เช่น การเลือกไม่เข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถึงแม้จะมีการสมทบเงินจากนายจ้างก็ตาม เนื่องจากแต่เดิมไม่ได้เข้าร่วม
• แรงกดดันจากผู้คนในกลุ่มเดียวกัน (peer pressure) คือ การที่การตัดสินใจของคนได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของคนรอบตัว
โดยผู้คนมักมีพฤติกรรมคล้อยตามผู้คนในกลุ่มสังคมดังกล่าว เพื่อให้เป็นที่ยอมรับหรือรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนในกลุ่ม เช่น การเลือกใช้สินค้าแฟชั่นยี่ห้อเดียวกับคนรอบตัว
จะเห็นได้ว่ามีอคติหลากหลายรูปแบบ ซึ่งส่งผลต่อการเก็บออมเงินได้ทั้งสิ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดบัญชี "เงินฝาก" คนไทย พบส่วนใหญ่ 88.3% มีฐานเงินฝากไม่ถึง 50,000 บาท
- ‘ทีดีอาร์ไอ’ชี้คนไทยออมเงินต่ำ พบ‘เล่นพนัน’มากกว่า‘ลงทุน’
- ผลสำรวจชี้ จีนยังไม่กล้าเที่ยว ขอออมเงินให้รวยก่อนดีกว่า
ดังนั้น การแก้ปัญหาการมีอคติเหล่านี้จะสามารถเพิ่มการออมเงินเพื่อการเกษียณของกลุ่มเป้าหมายได้ มีตัวอย่างกรณีศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาอคติค่าเริ่มต้นของพนักงานบริษัทหนึ่ง
ในสหรัฐอเมริกา มีโครงการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อการเกษียณของพนักงานบริษัท ชื่อว่า “401 (k) retirement program” ซึ่งโครงการนี้มีการช่วยสมทบเงินออมจากนายจ้างอีกด้วย แต่มีพนักงานเพียงประมาณครึ่งเดียวเท่านั้นที่เข้าร่วม
ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าปัญหาเกิดจากการมีอคติค่าเริ่มต้นของพนักงาน ซึ่งค่าเริ่มต้นในที่นี้คือการไม่เข้าร่วมโครงการ จึงมีการทดลองแก้ไขปัญหาด้วยการปรับจากการ “opt in” (เลือกเข้าร่วม) เป็นการ “opt out” (เลือกเอาออก)
กล่าวคือ แต่เดิมพนักงานบริษัทจะได้เลือกว่าจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ เปลี่ยนมาเป็นการให้พนักงานเข้าร่วมโครงการโดยอัตโนมัติตั้งแต่แรก และหากไม่ต้องการ ก็ให้แจ้งออกจากโครงการ (โดยไม่มีค่าใช้จ่าย)
ซึ่งพบว่าทำให้มีพนักงานเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 86% ซึ่งนอกจากพนักงานส่วนใหญ่จะไม่ออกจากโครงการแล้ว ส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับลดอัตราการออมอีกด้วย
สำหรับประเทศไทย ขณะนี้ทาง TDRI กำลังศึกษาอคติเชิงพฤติกรรมต่อการเก็บออมเงินของคนทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน และหวังว่าจะนำผลการศึกษามาพัฒนาเครื่องมือแก้ปัญหาการออมเพื่อการเกษียณที่ไม่เพียงพอได้
ซึ่งเครื่องมือเพื่อลดหรือปรับอคติดังกล่าวก็อาจช่วยให้การกำหนดเป้าหมายให้ชีวิตว่าจะเก็บออมให้ได้มากขึ้นไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป
บทความนี้เป็นหนึ่งในผลงานโครงการวิจัย การศึกษาอคติเชิงพฤติกรรมในประชากรไทย เพื่อเสาะหามาตรการที่ได้ผลในการส่งเสริมการวางแผนทางการเงินของประชากรไทยสำหรับสังคมอายุยืน โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)