ตัวเลขเศรษฐกิจกับโอกาสถดถอยของเศรษฐกิจโลก
จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรปเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้นักวิเคราะห์ต่างกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ เนื่องจากการที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนในหลายๆด้านสูงขึ้น และจะส่งผลให้ความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง ซึ่งจะฉุดให้ราคาสินค้าลดลงตามอุปสงค์ที่ลดลง
อย่างไรก็ดี ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆของสหรัฐที่ทยอยประกาศออกมาบ่งชี้ว่า โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยมีน้อยลง โดยในการประเมินเบื้องต้น จีดีพีไตรมาส 4 ของสหรัฐขยายตัว 2.9% และส่งผลให้ตลอดปี 2565 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.1% ซึ่งสูงกว่าที่เฟดประเมินไว้เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่าเศรษฐกิจสหรัฐในปีที่แล้วอาจขยายตัวเพียง 0.5% นอกจากนี้ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดมากในเดือนมกราคม และอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 53 ปีที่ 3.4% ซึ่งดีกว่าที่เฟดคาดว่าจะอยู่ที่ 3.7%
การที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาแข็งแกร่งกว่าที่คาดท่ามกลางตลาดแรงงานที่ตึงตัว ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยยาวนานกว่าที่คาด เนื่องจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ชะลอตัวเท่าที่ควร เป็นการเปิดโอกาสให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยได้มากขึ้น
ทางด้านฝั่งยุโรป ตัวเลขภาคแรงงานมีความแข็งแกร่งเช่นกัน โดยอัตราการว่างงานของยูโรโซนอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในไตรมาสแรกของปีนี้
ทั้งนี้ การที่ธนาคารกลางหลายแห่งเร่งขึ้นดอกเบี้ยมีเป้าหมายหลักเพื่อไม่ให้เงินเฟ้อเร่งตัวมากเกินไป โดยเชื่อว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจะช่วยให้เงินเฟ้อชะลอลง แต่หากเงินเฟ้อชะลอลงโดยที่เศรษฐกิจไม่ได้ชะลอลงมากก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้น ถึงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีในช่วงนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าธนาคารกลางต่างๆจำเป็นที่จะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอย่างต่อเนื่อง
เพราะเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลงจากผลของฐานสูง ราคาน้ำมันลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน และปัญหาด้านอุปทานเริ่มคลี่คลาย ทั้งนี้ มีโอกาสที่เงินเฟ้อจะลดลงแรงตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป เนื่องจากราคาน้ำมันในปีก่อนเริ่มพุ่งขึ้นแรงหลังจากรัสเซียบุกยูเครน และเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัว ในขณะที่จีนใช้มาตรการล็อคดาวน์ต่อเนื่อง
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ ได้แก่ ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง กล่าวคือ เมื่อคนมีงานทำ ก็มีรายได้ที่จะสามารถนำมาใช้จ่ายได้ ในขณะที่ราคาสินค้าที่เริ่มชะลอลงส่งผลให้ผู้บริโภคมีความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้น แต่ยังคงเป็นการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังเนื่องจากยังความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคต เมื่อมีอุปสงค์ในตลาดเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตก็จะเพิ่มกำลังการผลิตและมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งก็จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตต่อไปได้
นอกจากนี้ การเปิดประเทศของจีนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากจีนเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ที่สำคัญ ทั้งนี้หลายฝ่ายคาดว่าการบริโภคในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นมากหลังจากจีนเปิดประเทศ เนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ของจีนส่งผลให้คนจีนมีเงินเก็บส่วนเกินเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านล้านหยวน ซึ่งคาดว่าจะถูกทยอยนำออกมาใช้จ่าย ในขณะที่ปัญหาในภาคอุปทานก็จะทยอยคลี่คลายไปในทางที่ดี เนื่องจากสินค้าที่สำคัญหลายรายการ โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนใหญ่ผลิตโดยจีน
ในส่วนที่เฟดยังคงกังวลว่าการปรับตัวลงของเงินเฟ้อมีสาเหตุมาจากการปรับลดลงของราคาสินค้าเป็นหลัก แต่ตลาดแรงงานที่ตึงตึวส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานยังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าจ้างแรงงานในภาคบริการ ซึ่ง ณ จุดนี้อาจเป็นผลมาจากภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและสันทนาการยังคงอยู่ในช่วงฟื้นตัว โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุดต่อเนื่องมาหลายเดือน
ในขณะที่จำนวนแรงงานในภาคบริการอาจลดลง เนื่องจากแรงงานมองหางานที่มีความยืดหยุ่น และไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าทำงานที่ออฟฟิศ ซึ่งหลายธุรกิจในภาคบริการไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ ดังนั้น ภาคบริการจึงอาจจำเป็นที่จะต้องให้ค่าตอบแทนที่จูงใจพอเพื่อดึงดูดแรงงาน ค่าจ้างแรงงานในภาคบริการจึงยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อไป แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง
ทั้งนี้ สุนทรพจน์ล่าสุดของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ระบุว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีกสักพัก โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ ท่ามกลางตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งเกินคาด ส่งผลให้ตลาดคลายความกังวลว่าเฟดอาจเดินขึ้นดอกเบี้ยยาวนานกว่าที่คาด นอกจากนี้ ตลาดคาดว่าเฟดอาจเริ่มปรับลดดอกเบี้ยในช่วงสิ้นปีนี้ สะท้อนว่าตลาดคาดว่าเงินเฟ้อจะทรงตัวใกล้ระดับเป้าหมายของเฟดก่อนสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เฟดปรับดอกเบี้ยลงจากระดับที่สูงกว่าปกติ
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและดอกเบี้ย และปัญหาด้านอุปทานมีแนวโน้มลดลง แต่ปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ และปัญหาอื่นๆที่อาจมีในอนาคต อาจส่งผลให้ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจกลับมามีมากขึ้น ดังนั้น นักลงทุนจึงควรติดตามข้อมูลการลงทุนอย่างต่อเนื่อง