ค่าเงินบาทเปิดตลาด'อ่อนค่า' ที่ 33.52 บาทต่อดอลลาร์ ต่างชาติทยอยขายหุ้นไทย
“กรุงไทย” ชี้เงินบาทอ่อนค่า จากดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นและโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลง อีกทั้งยังมีแรงกดดันจาก นักลงทุนต่างชาติยังมีโอกาสทยอยขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง มองกรอบวันนี้ 33.35-33.65บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ( 10 ก.พ.) ที่ระดับ 33.52 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ33.35-33.65 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ปัจจัยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ยังคงเป็น การแข็งค่าของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลง
ทั้งนี้ เราประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเนื่องได้ในวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังมีโอกาสทยอยขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าแรงขายสุทธิบอนด์เริ่มชะลอลง อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าดังกล่าว อาจไม่สามารถกดดันให้เงินบาทอ่อนค่ารุนแรงทะลุโซนแนวต้านสำคัญ 33.60-33.70 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก เนื่องจากผู้เล่นบางส่วน อาทิ บรรดาผู้ส่งออกก็ยังคงทยอยขายเงินดอลลาร์ในจังหวะเงินบาทอ่อนค่าลงอยู่ และหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง
เราคงมองว่า เงินบาทยังขาดปัจจัยหนุนให้แข็งค่าขึ้นได้มากในระยะสั้น ทำให้แนวรับสำคัญจะยังอยู่ในช่วง 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรามองว่า เงินบาทมีโอกาสที่จะแกว่งตัวเหนือโซนแนวรับได้ต่อ เพราะผู้เล่นในตลาดเริ่มมีการปรับสถานะมาเป็นฝั่งที่มองว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อ หรือ มีสถานะสุทธิเป็นฝั่ง Long USDTHB มากขึ้น
อนึ่ง ความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเคลื่อนไหวผันผวนและเผชิญแรงขายจากนักลงทุนต่อเนื่อง โดยในช่วงแรกตลาดหุ้นสหรัฐฯสามารถปรับตัวขึ้นจากวันก่อนหน้า หลังยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 196,000 ราย และราว 1.69 ล้านราย ตามลำดับ ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลภาพตลาดแรงงานแข็งแกร่งอาจกดดันให้เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปบ้าง
ทว่า บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางแรงขายหุ้นหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ นำโดย Alphabet (Google) ที่ปรับตัวลงต่อกว่า -4.4% จากความผิดหวังของนักลงทุนต่อ “Bard AI” ที่ทางAlphabet ได้เปิดตัวไปในวันก่อนหน้า ให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลงต่อ -1.02% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.88%
ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 เดินหน้าปรับตัวขึ้น +0.62% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน(TotalEnergies +2.5%, BP +2.3%) หลังราคาน้ำมันดิบทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 77.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (สำหรับWTI) และระดับ 84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (สำหรับ Brent) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงมีความคาดหวังว่า ความต้องการใช้พลังงานอาจได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปที่อาจไม่ได้แย่อย่างที่ตลาดเคยกังวล
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้รีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 103.2 จุด หนุนโดยความต้องการถือเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดการเงินยังคงผันผวนและบรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ ก็อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ไม่สามารถปรับตัวขึ้นเหนือโซนแนวต้านแถว 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะย่อตัวลงต่อเนื่องใกล้ระดับ 1,872 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า การย่อตัวลงของราคาทองคำอาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ทำให้โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานข้อมูลเศรษฐกิจอังกฤษในไตรมาสที่ 4 โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า เศรษฐกิจอังกฤษ อาจขยายตัวเพียง +0.3%y/y ชะลอลงหนัก จากที่ขยายตัวกว่า +1.9%y/y ในไตรมาสก่อนหน้า กดดันโดยภาวะเงินเฟ้อสูงและผลกระทบของราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูงจนกดดันการใช้จ่ายของครัวเรือน
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงาน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตลาดคาดว่า ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ไม่ได้แย่ลงอย่างที่ตลาดเคยกังวล รวมถึงภาพเงินเฟ้อที่ชะลอลงมากขึ้น อาจช่วยหนุนให้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 65 จุด ได้ ทั้งนี้ประเด็นสำคัญในรายงานดังกล่าว อาจอยู่ที่ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งหากคาดการณ์เงินเฟ้อดังกล่าวปรับตัวลดลง หรือ ทรงตัว ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจมากขึ้นต่อแนวโน้มการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ ได้
นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากรายงานผลประกอบการโดยรวมดีกว่าคาด (อาจที่เห็นในฝั่งยุโรป) ก็อาจช่วยหนุนให้ผู้เล่นในตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้