ยกระดับการกระจายความเสี่ยงผ่านกลยุทธ์ในสกุลเงินต่างประเทศ
นักลงทุนส่วนใหญ่มักมองว่าการกระจายความเสี่ยงผ่านการลงทุนในสินทรัพย์ดั้งเดิม เช่น หุ้น ตราสารหนี้ รวมทั้งทองคำที่เชื่อกันว่าเป็นหลุมหลบภัยชั้นดี ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการจัดพอร์ตลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอและไม่ผันผวนมาก
แต่แล้ว...กลับต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่นปี 2022 ที่ไม่เพียงแต่ราคาตราสารหนี้และหุ้นปรับลงจนทำให้เกิดขาดทุนหนักในระดับสองหลัก แต่การลงทุนในทองคำที่น่าจะพยุงพอร์ตได้ก็ขาดทุนเช่นกัน แม้ภาวะตลาดทุนเช่นปี 2022 จะเกิดขึ้นเพียง 3 ครั้ง ในรอบ 30 ปี ที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ก็สะท้อนว่าการเฟ้นหากลยุทธ์หรือสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งของพอร์ตลงทุนมีความสำคัญมาก
เริ่มต้นปีนี้ แม้ภาพรวมจะดูดีขึ้น เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ชะลอการขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็ยังไม่อาจวางใจได้ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีท่าทีว่าจะแข็งแรงกว่าที่ประเมินไว้ ล่าสุด การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 แสนตำแหน่ง
อัตราการว่างงานลดลงต่ำสุดในรอบ 53 ปี และค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมงก็ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนตลาดแรงงานที่ยังร้อนแรง ด้านยอดค้าปลีกเดือนมกราคมก็ขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 ทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมองว่ามีโอกาสที่สหรัฐฯ จะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยเลย (No Landing)
เศรษฐกิจที่แข็งแรงก็เหมือนดาบสองคม เพราะแม้จะเป็นข่าวดีให้คลายกังวลเรื่องภาวะถดถอย แต่อาจทำให้ FED ขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการ FED หลายท่านก็ออกมาย้ำว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อจนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อลดลงเข้าใกล้เป้าหมาย ล่าสุด ตลาดประเมินว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ไปทำระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50% มากกว่า FED Dot Plot เดือนธันวาคมที่ 5.00-5.25%
ส่งแรงกระเพื่อมไปทั้งตลาดหุ้นและตราสารหนี้ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี พุ่งขึ้นสู่ระดับเกิน 3.90% หลังจากที่ปรับลงแตะระดับราว 3.40% เมื่อช่วงต้นปี ด้านหุ้นโลกก็ปรับฐานลงจากจุดสูงสุดราว 4% (ณ 22 กุมภาพันธ์ 2023)
สินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ยังไม่แพร่หลายในบรรดานักลงทุนบุคคลมากนักคือ อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างๆ โดยนักลงทุนสามารถจับคู่สกุลเงินเพื่อซื้อหรือขายสัญญาฟิวเจอร์สได้ นอกจากโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีแล้ว อีกหนึ่งจุดเด่นคือ การเปลี่ยนเปลงของค่าเงินมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงราคาของสินทรัพย์อื่นค่อนข้างต่ำ เพราะหลายปัจจัยที่ขับเคลื่อนค่าเงินแตกต่างจากปัจจัยที่ส่งผลต่อผลตอบแทนในสินทรัพย์อื่น กลยุทธ์การลงทุนในเงินตราต่างประเทศจึงช่วยยกระดับการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนโดยรวมได้ โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดหุ้น ตราสารหนี้ และโภคภัณฑ์ เคลื่อนไหวในทางเดียวกัน ดังเช่นปีที่แล้ว ที่แม้ราคาสินทรัพย์หลักส่วนใหญ่ปรับตัวลง แต่การลงทุนในสกุลเงินกลับให้ผลตอบแทนได้โดดเด่น
ดอลลาร์สหรัฐคือสกุลเงินหลักที่มักถูกนำไปจับคู่มากที่สุด และการจับคู่ซื้อขายสกุลเงินที่สร้างผลงานดีในปีที่แล้ว ได้แก่ การซื้อ Brazilian Real ของบราซิล และ Mexican Peso ของเม็กซิโก ที่แข็งค่าขึ้นกว่า 5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หรือการขายเงินเยนของญี่ปุ่น และเงินปอนด์ของอังกฤษ ที่อ่อนค่าลงมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ดังนั้นการวิเคราะห์และเลือกซื้อสกุลเงินที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนเป็นบวก และ/หรือ ขายสกุลเงินที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนเป็นลบจึงสามารถเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนได้อย่างดี
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการลงทุนในสกุลเงินมีมากกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดั้งเดิม เพราะการเปลี่ยนแปลงของสกุลเงินขึ้นกับหลายปัจจัย ไม่เพียงแต่ปัจจัยพื้นฐาน เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ แต่รวมถึงกระแสเงินทุนไหลเข้า-ออก สถานะการเก็งกำไร อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาว ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน
ตลอดจนนโยบายการแทรกแซงค่าเงินจากหน่วยงานกลางของแต่ละประเทศ กลยุทธ์ที่มีความซับซ้อนเช่นนี้ ต้องอาศัยทีมผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญ เข้าใจตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และมีประสบการณ์ยาวนาน และที่สำคัญคือต้องบริหารเชิงรุก ติดตามผลการดำเนินงานรายวัน และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนสถานะการลงทุน รวมทั้งคู่สกุลเงิน เพื่อให้ทันกับสภาวะที่เปลี่ยนแปลง
จากความผันผวนที่ยังมีอยู่เสมอในโลกการลงทุน การกระจายความเสี่ยงในหลากหลายสินทรัพย์นอกเหนือไปจากสินทรัพย์แบบดั้งเดิม จึงเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างขุมทรัพย์ลงทุนระยะยาว