ปลัดคลังชูแนวกำกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่เหมาะสมเวทีเอเปคไฟแนนซ์

ปลัดคลังชูแนวกำกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่เหมาะสมเวทีเอเปคไฟแนนซ์

ปลัดคลังชูแนวกำกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่เหมาะสมเวทีเอเปคไฟแนนซ์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบในภาคการเงิน ขณะที่ ธปท.ร่วมแชร์ประสบการณ์เงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปค (APEC Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: FCBDM) ระหว่างวันที่ 25 – 26 กุมภาพันธ์ 2566 ณ เมืองปาล์มสปริงส์ มลรัฐแคลิฟอร์เนียสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้แทนกระทรวงการคลัง และผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าสหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค ปี 2566 ได้กำหนดหัวข้อหลัก (Theme) คือ“สร้างอนาคตที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและยั่งยืนสำหรับทุกคน” (Creating a Resilient and Sustainable Future for All.)” ซึ่งมีผลการประชุมสรุปได้  ดังนี้

1.ประเด็นสำคัญภายใต้กรอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค 2023 (APEC Finance Ministers’ Process (APEC FMP) 2023 Priorities) ที่ประชุมได้เห็นชอบประเด็นสำคัญ (Priorities) ที่เจ้าภาพต้องการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย(1) เศรษฐศาสตร์อุปทานสมัยใหม่ (Modern Supply Side Economics) (2) การพัฒนานวัตกรรมและสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบ (Responsible Innovation and Development of Digital Assets) และ (3) การเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance)

โดยได้หารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญข้างต้น ดังนี้

1.1 เศรษฐศาสตร์อุปทานสมัยใหม่ สหรัฐฯ ได้นำเสนอแนวคิดที่มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพและผลิตภาพทางเศรษฐกิจของสมาชิกเอเปคผ่านการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์และแรงงานทักษะสูง

การวิจัยและพัฒนา และการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่มีภูมิคุ้มกัน ครอบคลุม และยั่งยืน

ทั้งนี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เป็นผู้นำการหารือ (Lead Intervention) และได้แบ่งปันประสบการณ์การดำเนินนโยบายของไทย โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและดิจิทัล

การพัฒนาทุนมนุษย์ และการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public – Private Partnership: PPP) เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและส่งเสริมการเติบโตในระยะยาวของไทย

รวมทั้งยังได้เสนอแนะให้ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการจัดทำรายงานในหัวข้อเศรษฐศาสตร์อุปทานสมัยใหม่ที่จะเป็นหนึ่งในเอกสารผลลัพธ์ของปี 2566 โดยรายงานดังกล่าวควรมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาอุปทานสมัยใหม่เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือร่วมกันในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม

1.2 การพัฒนานวัตกรรมและสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบ เป็นประเด็นสำคัญต่อเนื่องจากที่ไทยได้ผลักดันไว้ในคราวที่เป็นเจ้าภาพการประชุมภายใต้ APEC FMP ปี 2565

โดยในปีนี้ได้มีการหารือในรายละเอียดของบทบาทของสินทรัพย์ดิจิทัลในระบบเศรษฐกิจของสมาชิกเอเปค และรูปแบบและแนวทางในการกำกับดูแลของภาครัฐที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบในภาคการเงิน ซึ่งครอบคลุมสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ คริปโทเคอร์เรนซี(Cryptocurrency) สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีกลไกตรึงมูลค่าไว้กับสินทรัพย์ประเภทอื่นหรือกลไกอื่นเพื่อคงมูลค่า (Stablecoins) และสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC)

โดยผู้แทน ธปท. ได้แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาและสถานะการพัฒนา CBDC ของไทย ทั้งCBDC สำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) และสำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (Retail CBDC)

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงความร่วมมือกับธนาคารกลางสาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกงและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในการทดสอบการนำ CBDC มาใช้สำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ

1.3 การเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นประเด็นต่อเนื่องจากที่ไทยได้ผลักดันไว้ในคราวที่เป็นเจ้าภาพการประชุมภายใต้ APEC FMP ปี 2565 เช่นกัน

โดยสหรัฐฯ ได้กำหนดหัวข้อหารือเพื่อสนับสนุนให้สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคสามารถริเริ่มให้มีความร่วมมือในประเด็นดังกล่าวที่เป็นรูปธรรม ได้แก่

(1) การระดมทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Financing a Just Energy Transition)

(2) การพัฒนาตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Markets) และ (3) แนวทางและเครื่องมือสำหรับการเงินที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านการจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบแผนงานความร่วมมือภายใต้กรอบ APEC FMP ปี 2566 เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของประเด็นสำคัญข้างต้น ซึ่งแผนงานดังกล่าวสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 และแผนปฏิบัติการเซบูที่มุ่งมั่นส่งเสริมการเติบโตที่แข็งแกร่ง สมดุล ปลอดภัยยั่งยืน และครอบคลุม ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมและการแปลงเป็นดิจิทัลให้ก้าวหน้าในภูมิภาค

2.สถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินโลก ภูมิภาค และแนวโน้ม (Global and Regional Economic and Financial Outlook) ที่ประชุมได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นด้านเศรษฐกิจ โดยผู้แทนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ได้รายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2566 ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 ต่อปี ซึ่งชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ3.4 ต่อปี เป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด และสงความในยูเครนที่อาจยกระดับความรุนแรง

อย่างไรก็ดี คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในปี 2567 ในขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.6 ต่อปี ในปี 2565 จากปัจจัยสนับสนุนด้านอุปสงค์ที่สะสมมาจากช่วงก่อนหน้า และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงเร็วกว่าที่คาดการณ์

ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกจะยังคงเผชิญความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว

นอกจากนี้ IMF ได้ให้ข้อเสนอแนะด้านนโยบายว่าควรมุ่งเน้นไปที่การรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน การช่วยเหลือประชากรกลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจ และการส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคีเพื่อจัดการกับการค้าโลก เสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินโลก และเร่งรัดให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

3.การหารือผู้แทนระดับสูงกระทรวงการคลังอย่างไม่เป็นทางการในหัวข้อนโยบายการคลัง 

โดยนายพรชัย  ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกำหนดนโยบายด้านการคลังและเป้าหมายระยะกลางของเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึงมุมมองเกี่ยวกับความยั่งยืนของหนี้สาธารณะ

โดยไทยได้นำเสนอประสบการณ์ในการดำเนินนโยบายการคลังและแผนการคลังระยะปานกลาง(Medium Term Fiscal Framework: MTFF) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2570 ซึ่งมีเป้าหมายปรับลดสัดส่วนการขาดดุลการคลังให้เหลือไม่เกินร้อยละ 3 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 และมีเป้าหมายปรับลดสัดส่วนการขาดดุลเพื่อมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม และลดอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะยาว

พร้อมทั้งมีการประเมินความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อความยั่งยืนของหนี้สาธารณะเพื่อทบทวนกลยุทธ์การกู้ยืมอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ ไทยจะยังมุ่งเน้นสนับสนุนประชากรกลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจ ร่วมกับการปฏิรูปแนวทางการเก็บภาษี โดยปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดเก็บและขยายฐานภาษี