หุ้นไทยทยอยลงทุนได้
ภาพรวมการลงทุน เดือน ก.พ. แตกต่างจากต้นปีที่ผ่านมาแบบคนละอารมณ์ ข่าวเดิมๆที่ในช่วงต้นปีเป็นข่าวดี ณ เดือน นี้ เริ่มกลายเป็นเรื่องที่จะต้องมาระมัดระวัง ขอเริ่มจากสถานการณ์เงินเฟ้อ ในสหรัฐฯที่ตอนแรกดูเหมือนจะใกล้จุดสูงสุดแล้วแต่สถานการณ์ตอนนี้ก็เริ่มมากังวลกันต่อทำให้ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร แกว่งไปมา
โดยตลาดหุ้นก็มีทิศทางเป็นลงมากกว่าขึ้น ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรก็แกว่งไปในทางขึ้นมากกว่า ต่อมาก็ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ก็แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เกิดกระแสการขายสินทรัพย์ในต่างประเทศออกเพื่อไปถือครองทรัพย์สินสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ แทน ทั้งหมดนี้มีสาเหตุมาจากนักลงทุน กลับมากังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นในไตรมาสแรกของปี
พิจารณาได้จาก ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ออกมาสูงกว่าคาด (517,000 ตำแหน่ง), ตัวเลขยอดค้าปลีกเดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น 3% เทียบกับเดือนก่อน และตัวเลข Personal spending ของสหรัฐฯ เดือน ม.ค. ออกมา เพิ่มขึ้น 1.8% ทำให้โอกาสที่เงินเฟ้อจะลดลงเป็นไปได้ยาก โดยเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ม.ค. เร่งตัวขึ้น 0.4% เทียบกับเดือนก่อน และ เพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดืยวกันของปีที่ผ่านมา
ทำให้ตลาดปรับมุมมองว่าเฟดอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาดการณ์เดิมที่ 5%-5.25% ไปที่ระดับ 5.5%-5.75% เพื่อกดเงินเฟ้อให้ลงมาที่เป้าของ FED ทำให้ค่าเงินสหรัฐฯแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆทั่วโลก และก่อให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์ต่างๆ ตลอดเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา
ดัชนี MSCI ACWI ปรับตัวลง 3 - 4 % ในเดือน ก.พ. ในขณะที่ดัชนีหุ้นในทุกภูมิภาคต่างก็ปรับตัวลดลงไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 44 bps. เป็น 3.94% สะท้อนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังออกมาแข็งแกร่ง ขณะที่สินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำปรับตัวลดลง เพราะค่าเงินสหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดี และดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มที่จะทรงตัวในระดับสูง ในส่วนของราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลง 3 – 3.5.% เนื่องจากตลาดกังวลเรื่องอุปสงค์น้ำมันที่ชะลอตัวจากความกังวลที่มีต่อความเสี่ยงที่ภาวะเศรษฐกิจจะถดถอยเริ่มเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับประเทศไทย ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรต่างก็ได้รับผลกระทบในเชิงลบจากแรงเทขายของต่างชาติตลอดเดือนที่ผ่านมา ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนค่าไปจนทะลุระดับ 35 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ หรืออ่อนกว่า 7% ภายในเวลาเดือนเดียว ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากนักลงทุนเปลี่ยนมุมมองว่า FED มีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่คาด ทำให้ กนง. อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยตามเพื่อลดช่องว่างกับสหรัฐฯ
นอกจากนี้ GDP ไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วของไทยที่ออกมาต่ำคาดที่ 1.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ลดลง 4.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ก็ช่วยตอกย้ำให้เกิดแรงเทขายออกมามากขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน อย่างไรก็ตามปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทยยังคงไม่เปลี่ยนเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง การบริโภคภายในประเทศที่ยังดีอยู่ การปรับตัวลดลงของราคาพลังงาน ต่างก็เป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจของไทยมีความแข็งแรง ยังได้แรงกระตุ้นจากการเลือกตั้งในช่วงใกล้ๆกลางปีนี้ ก็ยิ่งทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยน่าจะเข้มแข็งกว่าหลายประเทศทั่วโลก
การจัดพอร์ตการลงทุนเดือน มี.ค. จะออกมาแนวกระจายความเสี่ยงมากขึ้น แต่ก็ยังคงให้มุมมองในเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยและตราสารหนี้ระยะกลาง เพราะยังคงมุมมองว่าอัตราดอกเบี้ยได้ปรับขึ้นมาใกล้ระดับที่เหมาะสมแล้วโดยให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นอยู่ประมาณ 50% โดยแบ่งเป็น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ประเทศละ 10% ปะเทศไทย 20% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น -20% เป็นตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade ประมาณ 10% ตลาดเงิน 10% ทอง น้ำมัน และ REIT รวมกันประมาณ 10%
สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้และมีความรู้และประสบการณ์ในการลงทุนในหุ้นมาพอสมควร ท่านสามารถทยอยเข้าลงทุนได้ในช่วงนี้โดยอาจจะเลือกเข้าลงทุนในกลุ่มค้าปลีก และ ท่องเที่ยว จากราคาที่ปรับตัวลงมาอย่างรวดเร็ว โดยปัจจัยบวกก็คือโมเมนตัมการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวยังดีอยู่ ค่าเงินที่อ่อนค่าลง หรือถ้าจะเปลี่ยนเป็น ธีม หุ้นปันผลก็พอได้เพราะเดือน มี.ค ก็เป็นเดือนที่หุ้นปันผลสูงจะเริ่มทยอยปรับตัวสูงขึ้น ถือเป็นโอกาสที่ดีในการที่จะทยอยเข้าเลือกซื้อหุ้นที่ปรับตัวลงมาในช่วงนี้ครับ