จะเกิดอะไรขึ้น? ถ้า "เฟด" คุม "เงินเฟ้อ" ไม่อยู่
เงินเฟ้อ (PCE) พุ่งขึ้นเกินคาด! ตอกย้ำว่า "เงินเฟ้อสหรัฐ" ยังไม่พ้นจุดสูงสุดอย่างที่ตลาดคาดเอาไว้ "เฟด" อาจจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 0.5% ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว เฉพาะเดือน ก.พ. 2566 เงินบาทอ่อนค่าลงมาแล้วเกือบ 7%
หลังจากที่ตลาดเงินเริงร่ามาพักใหญ่ๆ เพราะคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใกล้ถึงจุดสิ้นสุด ก็ต้องพบกับความผิดหวังเมื่อตัวเลขเงินเฟ้อในส่วนของดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พุ่งขึ้นเกินคาด
โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เผยตัวเลขดัชนี PCE ทั่วไปเดือน ม.ค. 2566 ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าเดือน ธ.ค. ที่เพิ่มขึ้น 5.3% ส่วนตัวเลข PCE แบบเทียบเดือนต่อเดือน (MoM) เพิ่มขึ้น 0.6% สูงกว่าระดับ 0.2% ในเดือนธ.ค. 2565
ดัชนี PCE เดือน ม.ค. 2566 ที่พุ่งแรงเกินคาดนับเป็นการตอกย้ำว่า ‘เงินเฟ้อสหรัฐ’ ยังไม่พ้นจุดสูงสุดอย่างที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ และก่อนหน้านี้ดัชนีเงินเฟ้อทั้งในส่วนของดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต(PPI) ก็พุ่งแรงเกินคาดเช่นกัน ขณะที่นักลงทุนบางส่วนเริ่มมองว่า เฟด อาจจะคุมเงินเฟ้อไม่อยู่
โดย 'เจมี ไดมอน' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจมี มอร์แกน สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ระบุในเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า เฟด เริ่มที่จะสูญเสียการควบคุมเงินเฟ้อไปบางส่วนแล้ว ดังนั้น เฟด อาจจำเป็นต้องคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงอีกระยะเพื่อจะดึงให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ 2%
ด้วยเหตุนี้ตลาดจึงเริ่มคาดการณ์ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ครั้งถัดไปซึ่งตรงกับวันที่ 21-22 มี.ค. นี้ เฟด อาจจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 0.5% และยังจำเป็นต้องขึ้นต่อเนื่องในครั้งถัดไป ทั้งที่เมื่อเดือนก่อนหน้า ตลาดยังคาดการณ์อยู่เลยว่า ในการประชุมเดือน มี.ค. นี้ อาจจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายของเฟด ก่อนที่จะเริ่มเห็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงปลายปีนี้
คำถามสำคัญ คือ หากเฟดยังต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงและขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไรบ้าง
...คำตอบนี้น่าจะถูกเฉลยมาแล้วบางส่วน เนื่องจากเงินบาทเริ่มกลับมาอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว เฉพาะเดือน ก.พ. 2566 เงินบาทอ่อนค่าลงมาแล้วเกือบ 7% เป็นอันดับสองของภูมิภาครองจากเกาหลีใต้ ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรรวมกันเกือบ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า เป็นเพราะส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐมีแนวโน้มถ่างจากกันมากยิ่งขึ้น ทำให้นักลงทุนเริ่มเป็นกังวล จึงพากันเทขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมาก่อน
ส่วนแนวโน้มเงินบาทระยะข้างหน้า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ยังมีทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่อง เพราะดอกเบี้ยนโยบายไทยคงไม่ได้ขยับขึ้นไปมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจยังค่อนข้างเปราะบาง ขณะที่เงินเฟ้อไม่ได้มีแรงกดดันมากเหมือนในอดีต
แต่ทั้งนี้ก็ยังวางใจกับทิศทางค่าเงินไม่ได้ เพราะช่วงต้นปีมีบทเรียนให้เห็นแล้วว่า อยู่ๆ เงินบาทก็กลับมาแข็งค่าเร็วและแรงเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาค ดังนั้นผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกหรือนำเข้าต้องไม่ประมาท ดูแลความเสี่ยงค่าเงินให้ดี บอกได้เลยว่าปีนี้เงินบาทขึ้นรถไฟเหาะแน่ๆ