นักเศรษฐศาสตร์ ห่วงส่งออกทรุดต่อ ฉุดเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกซึม
“นักวิเคราะห์” ห่วงส่งออกไทยติดลบต่อเนื่อง ฉุดเศรษฐกิจปีนี้โตต่ำคาด “เคเคพี” หวั่นขาดดุลการค้ายาว ลามดุลบัญชีเดินสะพัด ซ้ำเติมบาทอ่อน “ซีไอเอ็มบีไทย” มองส่งออกยังแย่ ฉุดภาคการผลิต กระทบเศรษฐกิจไตรมาส 1 “อีไอซี” หวังสัญญาณเศรษฐกิจโลกดีขึ้นดันส่งออกไทยผงกหัว
Key Points
- ส่งออกไทย ทรุดต่อเนื่อง ล่าสุด เดือนม.ค. หดตัวลง 4.5% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และมูลค่ายังต่ำสุดในรอบ 23 เดือน
- นักวิเคราะห์ห่วง หากส่งออกติดลบต่อเนื่อง อาจฉุดเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าคาด จับตา เดือน มี.ค.ติดลบแรงกว่า 10%
- หวั่นส่งออก ต่ำกว่านำเข้ามาก ฉุดไทยขาดดุลการค้าต่อเนื่อง ลามสู่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน
- เสี่ยงไทยเผชิญ เงินทุนไหลออก กระทบเงินบาทผันผวนอ่อนค่าแรง
- หวังจีนเปิดเมือง นักท่องเที่ยวทะลักเข้าไทย ช่วยพยุงเศรษฐกิจ ชดเชยผลกระทบจากส่งออกทรุดได้
“ภาคส่งออก” ถือว่ามีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมาก หากดูสัดส่วนส่งออกต่อจีดีพีของไทยสูงเกือบ 80% ดังนั้นถ้าภาคส่งออกชะลอตัวแรง ย่อมมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ
โดยการส่งออกเดือน ม.ค.2566 เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดติดลบต่อเนื่อง โดยหดตัวลง 4.5% ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และมูลค่ายังต่ำสุดในรอบ 23 เดือน
ห่วงส่งออกโตไม่ทันนำเข้า ฉุดไทยเสี่ยงขาดดุลการค้าต่อ
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ส่งออกเดือน ม.ค.ติดลบต่อเนื่อง ถือเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทยและคาดว่าระยะข้างหน้า หรือเดือน มี.ค.อาจเห็นส่งออกติดลบ 2 หลัก หรือกว่า 10% ดังนั้นส่งออกจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย
แต่ปัจจัยที่น่ากังวลที่ต้องจับตาใกล้ชิด คือ มูลค่าการนำเข้าที่มากกว่าการส่งออก จะเกิดต่อเนื่องหรือไม่ โดยมาจากมูลค่าการนำเข้าที่สูงจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น แม้ปริมาณการส่งออกและนำเข้าใกล้เคียงกัน ดังนั้นอาจส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าต่อเนื่องได้
นายพิพัฒน์ กล่าวย้ำว่า การส่งออกเป็นความเสี่ยงที่ต้องระวัง ซึ่งปีนี้เกียรตินาคินภัทรคาดส่งออกติดลบ 2% แต่หากส่งออกติดลบมากกว่า จะยิ่งมีผลต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน
“ในอดีตเราเกินดุลการค้ามาตลอด และเคยติดลบเป็นรายไตรมาส คือ ตั้งแต่ปี 2013 แต่รอบนี้ต่างกัน เศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นจากการเปิดเมือง การท่องเที่ยว กลายเป็นว่าส่งออกแผ่ว การนำเข้ายังโตดี อาจทำให้ขาดดุลการค้า ซึ่งหากขาดดุลต่อจะน่ากังวล เพราะคนหวังเยอะว่าการท่องเที่ยวจะทำให้กลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ความหวังจะลดลงเรื่อยๆ ยิ่งเราขาดดุลการค้า ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จะเผชิญเงินทุนไหลออก วันนี้ดอกเบี้ยสหรัฐ-ไทยต่างกัน 4% เงินไหลออกได้ตลอด จะเจอแรงกดดันจากเงินบาทที่อ่อนอีก”
ห่วงเศรษฐกิจไตรมาส 1 ซึม
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ส่งออกเดือนล่าสุดยังเกิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ถือว่าไม่น่าตกใจ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าน่ากังวล เพราะหากยิ่งชะลอลงอาจกระทบภาคการผลิต และรายได้คนให้แย่ลง
นอกจากนี้การส่งออกที่แย่ลง ขณะที่การนำเข้าขยับขึ้นอาจทำให้ดุลการค้าไทยยิ่งติดลบขึ้น และอาจกดดันดุลบัญชีเดินสะพัดไทยให้ลดลงหรือติดลบได้ ดังนั้นแม้เศรษฐกิจไทยจะไม่เกิด Technical Recession แต่อาจทำให้เศรษฐกิจซึมได้ไตรมาสแรกปีนี้
“ภาพวันนี้ที่ส่งออกเรายังติดลบต่อเนื่อง แต่เราไม่ได้เป็นคนเดียวที่ติดลบ แต่ติดลบเกือบทุกประเทศ หากดูส่งออก เดือนต่อเดือนพบว่าดีขึ้น ดังนั้นต้องดูว่ามีโมเมนตัมบวกต่อได้หรือไม่”
“ส่งออก”เสี่ยงติดลบปีนี้
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า มูลค่าส่งออก 2 หมื่นล้านดอลลาร์ต้นๆ ต่ำกว่าที่คาด แต่คาดว่าส่งออกอาจปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 จากที่จีนเปิดประเทศ และภาคการผลิตสะดุด ดังนั้นหากสถานการณ์นี้คลี่คลายเชื่อว่า ส่งออกอาจกลับมาฟื้นตัวได้
สำหรับส่งออกปีนี้ขยายตัว 0.7% แต่จากภาพส่งออกที่ชะลอตัวคาด อาจทำให้ส่งออกมีโอกาสต่ำกว่าที่คาดหรือติดลบในปีนี้
อย่างไรก็ตามภาคท่องเที่ยวที่มากกว่าคาด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เดิมคาด 22 ล้านคน มาสู่ 25-30 ล้านคน จะเป็นปัจจัยสำคัญให้จีดีพีไทยดีขึ้น ดังนั้นท่องเที่ยวที่เพิ่มจะชดเชยภาคส่งออก ดังนั้นจึงประมาณการจีดีพีที่ใกล้เดิมที่ 3.4%
“เดิมเราไม่ได้คาดส่งออกสูง และหากส่งออกไม่เป็นตามคาด แต่ท่องเที่ยวยังฟื้นตัวดีกว่าคาด อาจหนุนจีดีพีให้ไปได้มากกว่า 3.4% ดังนั้นแม้ส่งออกจะชะลอแต่ปัจจัยบวกที่เข้ามาจะชดเชยส่วนนี้ได้ ดังนั้นเราคงประมาณการเดิม
หวังส่งออกรีบาวด์จากเศรษฐกิจโลกฟื้น
นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แม้ส่งออกเดือน ม.ค.จะติดลบต่อเนื่องแต่อยู่ในคาดการณ์ ซึ่งสถานการณ์โลกเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นอาจทำให้ส่งออกระยะข้างหน้าไม่น่ากังวลเหมือนที่คาด เพราะปัจจัยแวดล้อมเริ่มดีขึ้นโดยเฉพาะสถานการณ์ในต่างประเทศ
ดังนั้น EIC ไม่กังวลสถานการณ์ส่งออกไปมากกว่าเดิม และยังไม่ปรับประมาณการที่คาดส่งออกขยายตัว 1.2% ขณะเดียวกันมีแนวโน้มปรับจีดีพีปี 2566 ดีกว่าคาดการณ์ที่ 3.4% จากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวมากกว่าคาดที่ส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน และการบริโภคมากขึ้น
“ท่องเที่ยวรวมกันทั้งในและต่างประเทศมีสัดส่วนราย 18% ของจีดีพี แม้ไม่ใหญ่เท่าส่งออกแต่ไม้ต่อที่ส่งต่อไปสู่ซัพพลายเชนสู่ภาคการผลิต ไปสู่การบริโภคในประเทศ มีผลค่อนข้างมากต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้นภาพเหล่านี้ทำให้ปรับจีดีพีเพิ่มเร็วๆนี้ และยังไม่ปรับเป้าส่งออก เพราะเชื่อว่าข้างหน้าส่งออกมีทิศทางที่ดีขึ้น”