ไขปม 3 แบงก์สหรัฐล้ม….ไม่สะเทือนแบงก์ไทย
เปิดปัจจัย 3 แบงก์สหรัฐล้ม ไม่กระทบแบงก์ไทย ‘สงวน’ กรุงไทย ชี้งบดุลแบงก์ไทยแกร่ง เน้นปล่อยกู้ ไม่ได้เน้นลงทุน ส่งผลความเสี่ยงกระทบจากแบงก์ล้มต่ำ ‘พิพัฒน์’ เคเคพี หวั่นความมั่นใจผู้ฝากเงินลาม หากเฟดไม่จัดการปัญหาในวงกว้าง เชื่อเกมล่าแม่มดยังเดินต่อ
ผ่านมาไม่ถึงสัปดาห์ แต่กลับสร้างความสั่นสะเทือนยังตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกหลัง 3แบงก์ในสหรัฐที่ปิดตัวลง คือ ธนาคารซิลเวอร์เกต ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์(SVB) และธนาคารซิกเนเจอร์ จากปัญหาการบริหารสินทรัพย์ผิดพลาด นำมาสู่การขาดความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน จนแบงก์ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก และต้องปิดตัวไปในที่สุด
ล่าสุดแม้ ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะประกาศเรียกความเชื่อมั่นจากผู้ฝากเงิน หยุดกระแสการถอนเงินฝากจากประชาชน โดยการคุ้มครองเงินฝาก สำหรับแบงก์ที่ล้มไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤติจาก “การขาดความเชื่อมั่น วิกฤติศรัทธาถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เมื่อเกิดขึ้นแล้ว คงไม่สามารถเรียกกลับมาได้ง่ายๆ
ดังนั้นจึงมีการตั้งคำถามว่า จากการปิด 3 แบงก์ในสหรัฐครั้งนี้จะลุกลามไปสู่แบงก์อื่นๆ อีกหรือไม่ หรือลามไปสู่ “วิกฤติการเงินโลก” ครั้งใหม่ที่เคยเผชิญอย่างวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์หรือไม่ และเหตุการณ์ครั้งนี้ จะกระทบมาสู่แบงก์ไทย ต่อธุรกิจไทยหรือไม่?
“สงวน จุงสกุล” ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เหตุผลสำคัญ ที่มองว่า แบงก์ไทย จะไม่ถูกกระทบ จากการล้มของแบงก์ในสหรัฐ เนื่องจากงบดุลของแบงก์ไทย แตกต่างสิ้นเชิงกับแบงก์สหรัฐ แบงก์ไทยเน้นการปล่อยสินเชื่อ 80% และนำเงินไปลงทุนต่ำมากเพียง 10-15% ต่างกับ SVB ที่เน้นนำเงินฝากไปลงทุนถึง 60% ดังนั้นรูปแบบการทำธุรกิจต่างกันมาก
หากดูด้านความเสี่ยงของแบงก์ไทย จากการปล่อยสินเชื่อ จนเกิดหนี้ด้อยคุณภาพ หรือหนี้เสีย ซึ่งปัจจุบัน หนี้เสียของแบงก์ไทยถือว่าต่ำมาก ดังนั้นไม่ใช่ประเด็นน่ากังวล เทียบไม่ได้ กับความเสียหาย จากพอร์ตการลงทุน ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดเงินตลาดทุนผันผวนสูง
ดังนั้นเชื่อว่า แบงก์ไทย จะไม่ “ซ้ำรอย” แบงก์ SVB เพราะหน้าตาของงบดุลแตกต่างกัน อีกทั้ง การดูพอร์ตการลงทุนของแบงก์ไทย พบว่า ลงทุนในบอนด์ต่ำมาก อีกทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของไทยที่ผ่านมา ไม่ได้ก้าวกระโดด ทำให้โอกาสที่จะมีความเสี่ยงจาก การอ่อนไหวด้านราคา หรือผลตอบแทนมีน้อย
การลงทุนของแบงก์ไทย รวมไปถึงกองทุนหรือบริษัทประกัน พบว่าหลักๆ เป็นการลงทุนในบอนด์เอเชียเป็นหลัก ดังนั้นความเสี่ยงมาจาก Asian Risks ไม่ได้มาจากฝั่ง American Risks
“เชื่อว่าปัญหาจากแบงก์ในสหรัฐล้มครั้งนี้ จะไม่ลุกลาม บานปลาย ไปสู่ปัญหาระดับเศรษฐกิจ แม้สถานการณ์นี้จะใช้เวลา และอาจมีแรงกระเพื่อมหรืออาฟเตอร์ช็อกบ้าง แต่เชื่อว่ากลไกที่มีอยู่ จะช่วยเสริมให้การแก้ไขปัญหาถูกคลายได้”
“พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ตราบใดที่ สถานการณ์ยังอยู่ในภาวะ “คลุมเครือ” ไม่จัดการปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ การขาดความเชื่อมั่นมีโอกาส “ลาม” ได้เสมอ แม้เฟดจะออกมาตรการดูแลแบงก์สหรัฐที่ล้มไป โดยเฉพาะ SVB แต่คำถามถัดมาคือ จะมีแบงก์ล้มอีกหรือไม่? และเฟดจะเข้ามาคุ้มครองเงินฝาก 100% ด้วยหรือไม่
ดังนั้น ภายใต้คำถามนี้ หาก “เฟด” ยังไม่สามารถตอบได้ และยังไม่ออกมาประกาศคุ้มครองเงินฝากอย่างวงกว้าง เชื่อว่า “เกมล่าแม่มด”ยังไม่จบ
สะท้อนการขาดความมั่นใจของผู้ฝากเงินที่ไม่สามารถเรียกกลับมาได้ง่ายๆ ดังนั้น เชื่อว่า มาตรการที่เฟดออกมา จะไม่ใช่มาตรการสุดท้าย อาจจะเห็นมาตรการดูแลแบงก์ ดูแลผู้ฝากเงินตามมาอีก
กลับมาที่ “แบงก์ไทย” เชื่อว่า จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะการที่แบงก์ในสหรัฐล้มครั้งนี้ ต้นเหตุมาจากการขึ้นดอกเบี้ยแรง ส่งผลให้สภาพคล่องหดหาย แต่ประเทศไทย ไม่ได้เจอบริบทแบบเดียวกัน บอนด์ยีลด์ของไทยไม่ได้ปรับตัวขึ้นแรง
อีกทั้ง เงินฝากของแบงก์ไทยส่วนใหญ่ เป็นเงินฝากจากรายย่อยเป็นหลัก แตกต่างกับ SVB ที่ 90% เป็นผู้ฝากเงินรายใหญ่ ดังนั้นการถอนเงิน หรือสภาพคล่องจึงหายไปเร็วมาก
บวกกับ ที่ผ่านมา ข้อดีของประเทศไทยคือ การมีผู้กำกับ อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่กำกับดูแลแบงก์อย่างเข้มข้น โดยการให้แบงก์ทำ แบบทดสอบภาวะวิกฤติอย่างต่อเนื่อง (Stress Test) บวกกับแบงก์ไทยมีไม่มาก ไม่กี่สิบแบงก์ หากเทียบกับแบงก์สหรัฐที่มีกว่า 4.7 พันแห่ง ดังนั้นการดูแล กำกับอย่างเข้มงวดทั่วถึงจึงไม่ได้มากเท่าแบงก์ไทย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์