ทำไมธนาคาร “เครดิต สวิส” ใหญ่จนปล่อยให้ล้มไม่ได้?
ส่องเหตุผลเบื้องหลัง ทำไมธนาคาร “เครดิต สวิส” ถึงกลายเป็นกรณีล่าสุดของ "Too big to fail" หรือเป็นองค์กรใหญ่จนรัฐปล่อยให้ล้มไม่ได้ หลังธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ปล่อยเงินกู้ให้กว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง ท่ามกลางวิกฤติธนาคารในหลายประเทศ
Key Points
- เครดิต สวิส กู้ยืมเงินจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ 5 หมื่นล้านฟรังก์สวิส เพื่อเสริมสภาพคล่องในระยะสั้น
- เครดิต สวิส เป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ มีขนาดสินทรัพย์ประมาณ 600,000 ล้านดอลลาร์
- ธนาคารเก่าแก่อายุประมาณ 167 ปีรายนี้ มีโครงข่ายเชื่อมโยงกับธนาคารต่าง ๆ ในยุโรป และในสหรัฐมาอย่างยาวนาน
มาตรการช่วยเหลือเหล่านี้ ย้ำเตือนถึงความเปราะบางของระบบการเงินสหรัฐ แม้ว่าหน่วยงาน จะกางตำราหลักเกณฑ์เล่มใหม่มาปรับใช้ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา
ในวันนี้ (16 มี.ค.) ธนาคารเครดิต สวิส กู้ยืมเงินจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์เป็นวงเงินสูงถึง 5 หมื่นล้านฟรังก์สวิส (5.368 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายใต้โครงการจัดหาเงินกู้แบบครอบคลุม และการจัดหาสภาพคล่องในระยะสั้น (Covered loan facility and a short-term liquidity facility)
“การกู้ยืมดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนธุรกิจหลักของเครดิต สวิส และลูกค้าของธนาคาร ในขณะที่เครดิต สวิสเองก็จะดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง และมุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของลูกค้า” ธนาคารเครดิต สวิส ระบุ
นอกจากนี้ ธนาคารเครดิต สวิส ยังเปิดเผยว่า ธนาคารกำลังทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์จากผู้ถือหุ้นทั่วไป (tender offer) ซึ่งได้แก่ หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิสกุลเงินดอลลาร์จำนวน 10 ชุด วงเงินรวมกันไม่เกิน 2.5 พันล้านดอลลาร์ รวมทั้งทำ tender offer หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิสกุลเงินยูโรจำนวน 4 ชุด วงเงินรวมกันไม่เกิน 500 ล้านยูโร
ความเคลื่อนไหวล่าสุดทำให้เกิดคำถามจากหลายฝ่ายว่า เหตุใดธนาคารชื่อดังรายนี้ถึงได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษจากทางการสวิส
คำตอบคือ เครดิต สวิส เป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ มีขนาดสินทรัพย์ประมาณ 600,000 ล้านดอลลาร์ เป็นธนาคารเก่าแก่มีอายุประมาณ 167 ปี ฝังรากลึกมีโครงข่ายเชื่อมโยงกับธนาคารต่าง ๆ ในยุโรป และในสหรัฐมาอย่างยาวนาน และเป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้มได้ ทางการจึงต้องเข้ามากำกับดูแลเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านความเชื่อมั่น แก่ระบบการเงินของประเทศ และของโลก
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของเครดิต สวิส เกิดขึ้นเพียงไม่นาน หลังจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และ FINMA ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลตลาดการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ให้คำมั่นว่าจะจัดหาสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือธนาคารเครดิต สวิส หากพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็น
- ขาดทุนสุทธิสูงเกินคาด
หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ ตัดสินใจเข้าช่วยเหลือธนาคารเครดิต สวิส หลังจากราคาหุ้นของธนาคารแห่งนี้ทรุดตัวลงอย่างหนัก ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานะด้านการเงิน หลังจากขาดทุนสุทธิ 1.4 พันล้านฟรังก์ สวิสในไตรมาส 4/2565 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 1.32 พันล้านฟรังก์ ส่งผลให้ยอดขาดทุนตลอดทั้งปีอยู่ที่ 7.3 พันล้านฟรังก์
นอกจากนี้ ลูกค้าของธนาคารยังแห่ถอนเงินฝากจากเครดิต สวิส มากกว่า 1.10 แสนล้านฟรังก์ ในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นผลมาจากข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการทำผิดกฎระเบียบ และความเสี่ยงในการถูกดำเนินคดี
นักลงทุนกำลังกังวลเกี่ยวกับสถานะการเงินของธนาคารเครดิต สวิส โดยราคาหุ้นธนาคารเครดิต สวิส ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ปิดร่วงลง 13.94% ในวันพุธ (15 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกระหน่ำขาย หลังธนาคารซาอุดี เนชั่นแนล แบงก์ (Saudi National Bank) หรือเอสเอ็นบี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของเครดิต สวิส ประกาศว่า เอสเอ็นบีไม่สามารถเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินต่อเครดิต สวิส เนื่องจากจะทำให้เอสเอ็นบี ถือหุ้นในเครดิต สวิสมากกว่า 10% ซึ่งจะเป็นการทำผิดกฎระเบียบธนาคาร
- ดอลล์อ่อนค่าเทียบเยน
สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าสู่กรอบบน 132 เยน ในการซื้อขายที่ตลาดโตเกียว หลังนักลงทุนเข้าซื้อเงินเยนซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับระบบการเงินยุโรป
สำนักข่าวเกียวโด รายงานว่า ณ เที่ยงวันนี้(16 มี.ค.)ตามเวลาโตเกียว ดอลลาร์เคลื่อนไหวที่ 132.83-132.84 เยน เทียบกับ 133.42-133.52 เยนที่ตลาดนิวยอร์ก และ 134.86-134.89 เยนที่ตลาดโตเกียวเมื่อเวลา 17.00 น.ของเมื่อวานนี้
ยูโรเคลื่อนไหวที่ 1.0591-1.0595 ดอลลาร์ และ 140.68-140.74 เยน เทียบกับ 1.0573-1.0583 ดอลลาร์ และ 141.06-141.16 เยนที่ตลาดนิวยอร์ก และ 1.0737-1.0738 ดอลลาร์ และ 144.81-144.85 เยนที่ตลาดโตเกียวในช่วงเย็นวานนี้
- หวั่นลามสู่วิกฤติ ศก.โลกครั้งใหม่
ธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินโลกมีประมาณ 30 แห่ง รวมถึงธนาคารเจ.พี. มอร์แกน เชส ของสหรัฐ และธนาคารรายใหญ่ๆ ของจีน
“ปัญหาในเครดิต สวิส ทำให้เกิดคำถามว่า นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ หรือเป็นเพียงกรณีพิเศษเท่านั้น” แอนดรูว์ เคนนิงแฮม จากบริษัท แคปิตัล อีโคโนมิกส์ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์อิสระในกรุงลอนดอน กล่าว
- ต้นตอวิกฤติเครดิต สวิส
ธนาคารเครดิตสวิส ก่อตั้งขึ้นในปี 2399 และเผชิญกับเรื่องอื้อฉาวมาหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมถึงข้อหาฟอกเงิน และอื่นๆ ธนาคารสูญเสียเงินมหาศาลในปี 2564 และอีกครั้งในปี 2565 ถือเป็นปีเลวร้ายที่สุดของทางธนาคาร นับแต่วิกฤติทางการเงินปี 2551 ทางธนาคารเตือนว่า ประเมินแล้วไม่คิดว่าจะสร้างกำไรได้จนถึงปี 2567
หุ้นของธนาคารได้รับผลกระทบหนักตั้งแต่ก่อนเข้าสู่สัปดาห์นี้ มูลค่าของธนาคารถูกหั่นตกเหลือ 2 ใน 3 เมื่อปีที่แล้ว หลังลูกค้าถอนเงินทุน โดยทางธนาคารสูญเงินทุนไปถึง 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา
การประกาศยอมรับของทางธนาคารถึงสถานการณ์ภายในที่เป็นจุดอ่อน ในรายงานทางการเงิน ก่อให้เกิดความวิตกกังวล และทำให้นักลงทุนรายใหญ่ อย่างธนาคารแห่งชาติซาอุดี ประกาศจะไม่อัดฉีดเงินทุนให้เครดิตสวิส มากไปกว่านี้
- หวั่นล่มสลายเหมือน 3 แบงก์อเมริกัน
ปัญหาในภาคการธนาคารเริ่มจากในสหรัฐ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จากการล้มละลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดอันดับที่ 16 ของสหรัฐ เมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์ มีมูลค่าตลาดสูงถึง 16,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ธนาคารแห่งนี้เชี่ยวชาญด้านการปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทด้านเทคโนโลยี แต่ถูกทางการสหรัฐ สั่งปิดธนาคารเมื่อวันศุกร์ (10 มี.ค.) ซึ่งถือเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดของธนาคารสหรัฐ นับแต่ปี 2551 ต่อมา ธนาคารเอชเอสบีซี ซื้อธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ในอังกฤษไปด้วยราคา 1 ปอนด์
อย่างไรก็ตาม ความหวาดวิตกยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะนักลงทุนกลัวว่าจะมีธนาคารแห่งอื่นๆ ที่เผชิญปัญหาคล้ายกัน ทำให้การซื้อขายหุ้นธนาคารผันผวนมากมาตลอดสัปดาห์
ลอเรนซ์ ฟิงค์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทด้านการลงทุนยักษ์ใหญ่อย่าง แบล็ค ร็อก ระบุในจดหมายประจำปีต่อนักลงทุนว่า "ยังเร็วไปที่จะทราบความเสียหายว่ามากแค่ไหน มาตรการรับมือของหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินค่อนข้างเร็ว การตัดสินใจที่เด็ดขาดช่วยลดความเสี่ยงที่ปัญหาจะระบาดไปธนาคารอื่น แต่ตลาดทุนก็ยังวิตกกังวลอยู่"
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์