“อาคม”ฝากรัฐบาลใหม่สานต่อ5นโยบายขับเคลื่อนประเทศ

“อาคม”ฝากรัฐบาลใหม่สานต่อ5นโยบายขับเคลื่อนประเทศ

“อาคม”ฝากรัฐบาลใหม่สานต่อ 5 นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ระบุ ปีนี้จีดีพียังโตได้ 3-4% แต่ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยง 3 ด้าน ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การส่งออกชะลอ และปัญหาการปิดสถาบันการเงินในต่างประเทศ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาพิเศษประจำปี 2566 TEA Annual Forum 2023 ถึงเวลา!ก้าวสู่ทรงใหม่ไทยแลนด์ ระบุ การเดินหน้าของเศรษฐกิจไทยจะประกอบด้วย 5 เรื่องสำคัญ คือ 1.นโยบายการเงินการคลังต้องสอดประสาน ซึ่งเน้นไปที่การเติบโตยั่งยืนและมีเสถียรภาพ โดยต้องดูเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงาน ซึ่งว่างงานเดือนม.ค.อยู่ที่ 1% แต่ต้องจับการเคลื่อนย้ายแรงงานที่โควิดปรับจากภาคอุตสาหกรรมไปยังภาคเกษตรโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่

2.โมเดลเศรษฐกิจใหม่ โดยมีการลงทุนในอีอีซีเป็นตัวชูโรง และ 12 อุตสาหกรรมใหม่ ทั้งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการลงทุนในดิจิทัล ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมา มีการดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกทีเกี่ยวกับดาต้าเซ็นเตอร์เข้ามาลงทุนได้ ขณะเดียวกัน ไทยก็ต้องมีมาตรการจูงใจ ทั้งเรื่องของภาษี วีซ่า และ ความมั่นคงของพลังงาน 3.การเปลี่ยนพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ที่ผ่านมา ได้หารือสถาบันการเงินระหว่างประเทศให้เข้ามาซัพพอร์ตเรื่องการเงินเพื่อลงทุนในโซล่าเซล

4.นโยบายคาร์บอนเครดิตเพื่อช่วยลดโลกร้อน 5.การปรับโครงสร้างรายได้ ซึ่งต้องหารายได้เข้าเพิ่ม ที่ผ่านมา รายได้ต่อจีดีพีอยู่ที่ 13% จากปกติอยู่ที่ 17-18% ซึ่งต่ำกว่าหลายประเทศ เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในประเทศ ส่วนรายจ่ายนั้น ต้องดูความคุ้มค่าของงบประมาณ โดยเฉพาะการลงทุนต้องหันไปลงทุนเรื่องทรัพยากรมนุษย์กับการศึกษาพัฒนาทักษะแรงงาน จากเดิมที่เน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค

เขายังระบุ เศรษฐกิจไทใยในปีนี้ ยังมีอัตราการเติบโตได้ในระดับ 3-4% แต่ก็ยังเผชิญกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ โดยเฉพาะใน 3 ด้านหลัก คือ 1.ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ 2.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อการส่งออก และ 3.ความเสี่ยงของธุรกิจสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถาบันการเงินในสหรัฐและยุโรป

“ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3-4% ถามว่า จะโตได้อีกหรือไม่นั้น จะต้องมีเรื่องการลงทุนเข้ามาเพิ่ม โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐต้องลงทุนต่อ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนนั้น ในปีก่อนโตได้ 6% แต่ภาครัฐยังโตไม่มาก แต่ก็ต้องเร่งรัดให้มีการใช้จ่ายงบตลอดเวลา”

ทั้งนี้ ในเรื่องปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์นั้น ในปีที่ผ่านมา ได้กระทบต่อต้นทุนปัจจัยการผลิต ส่งผลให้เงินเฟ้อไทยและทั่วโลกเพิ่มสูงมาก แต่ 2 เดือนแรกปีนี้ เงินเฟ้อของไทยทยอยลดลงมาเหลือ 3% กว่า แต่ยังต้องจับตา เพราะความขัดแย้งดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด

ส่วนภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ทำให้ติดลบมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องมาถึงม.ค.ปีนี้ ซึ่งเกิดจากการชะลอคำสั่งซื้อ ดังนั้น เราต้องหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะอาเซียน ส่วนค่าเงินบาท เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกิดความผันผวน ซึ่งมาจากปัจจัยภายนอก รวมถึง ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดจะพิจารณาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปลายสัปดาห์นี้ ก็ต้องติดตามอัตราแลกเปลี่ยนของเราจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ค่าเงินบาทของไทยก็มีทั้งอ่อนและแข็งเกินไป แต่เรามองว่า ปัจจุบันยังอยู่ที่เคยแข็งค่าระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์  แต่ระดับดังกล่าวนั้น ถือว่า แข็งกว่าปลายปีที่แล้ว

สำหรับปัญหาของธนาคารในสหรัฐและยุโรปที่ถูกปิดกิจการ กระทรวงการคลังได้คุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แล้วว่า เรามีธุรกรรมหรือการลงุทนในธนาคารดังกล่าวน้อย หรือ 2 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาต่อระบบธนาคารไทย ซึ่งธปท.ได้ยืนยันออกมาแล้ว นอกจากนี้ ระบบการกำกับดูแลสถาบันการเงินของไทยหลังจากปี 2540 ก็มีความเข้มงวด ทำให้ไทยมีมาตรฐานเข้มแข็ง เรามีระบบการค้ำประกันเงินฝาก เงินสำรอง บีไอเอสยังสูงกว่ามาตรฐาน หนี้เสียแค่ 2% กว่า ดังนั้น สถาบันการเงินยังแข็งแรง

“กรณีเครดิตสวิส ทำให้เกิดความตื่นตระหนก แต่ภาคการเงินของเราไม่มีปัญหา ธปท.ก็ออกมาพูดแล้วว่า ฐานะการเงินเข้มแข็งพอ อย่างไรก็ตาม เราห้ามไม่ได้เรื่องความตื่นตระหนก ถ้าขยายวงกว้างก็จะได้รับผลกระทบ ดังนั้น การสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งแบงก์ชาติก็ได้ชี้แจงแล้ว ทั้งนี้ ตลาดหุ้นได้ก็ได้รับผลกระทบจากความตื่นตระหนกในช่วงสั้นๆ และ มองว่า ในหลายเรื่องก็มีผลกระทบในช่วงสั้นเท่านั้น

สำหรับกรณีที่เอกชนมองว่า ภายใต้รัฐบาลรักษาการจะเกิดสุญญากาศทางการเมืองกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เขากล่าวว่า ภาคธุรกิจยังต้องเดินหน้าต่อไป เพราะเศรษฐกิจหยุดเดินไม่ได้ ในส่วนของภาครัฐเองก็มีโครงการที่ยังเดินต่อ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน ลดภาษีน้ำมันดีเซลถึงส.ค.นี้ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็เดินหน้า ขณะที่ การใช้จ่ายงบประมาณนั้น หากยังอยู่ในกรอบวงเงินเดิมก็สามารถใช้จ่ายได้ ยกเว้น การใช้จ่ายที่เป็นโครงการใหม่ จะต้องรอรัฐบาลใหม่มาพิจารณา

“ในส่วนนโยบายการคลังในช่วงรัฐบาลรักษาการนั้น ถ้าจำเป็นต้องเสนออะไรก็ทำได้ แต่ต้องมีเงื่อนไขไม่ผูกพันในรัฐบาลต่อไป และ ไม่ผูกพันในนโยบายรัฐบาลต่อไป”