ความเสี่ยงของการกระจุกตัว

ความเสี่ยงของการกระจุกตัว

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley Bank หรือ SVB) และธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) หากนำว่าวิเคราะห์จะพบว่า เป็นตัวอย่างของการที่องค์กรมีความเสี่ยงของการกระจุกตัว  (Concentration Risk)

ความเสี่ยงของการกระจุกตัวเกิดขึ้นได้หลายแบบ สำหรับการลงทุน เรามักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า “อย่าเอาไข่ทุกฟองไปไว้ในตะกร้าใบเดียวกัน” เพราะหากตะกร้าเกิดตก ไข่เกิดแตกขึ้นมา จะไม่เหลือไข่สักฟองเดียว เราจึงต้องกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลายๆประเภท และลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ออกหลายๆบริษัท เผื่อว่าเกิดความเสียหายขึ้น เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนโดยรวมแล้ว จะได้ไม่เป็นสัดส่วนที่สูง และยังมีเงินลงทุนในจุดอื่นๆที่ไม่ได้รับผลกระทบ เหลือให้เราใช้ได้

ปกติ เวลาที่ดิฉันและทีมงานจัดพอร์ตให้กับกองทุนที่บริหาร เราจะมีเกณฑ์การกระจายความเสี่ยง เช่น กองทุนรวมหุ้นทุนโดยทั่วไป หากลงทุนในหุ้นของกลุ่มธุรกิจในกลุ่มธุรกิจหนึ่ง (Sector Allocation) กรณีที่เราเห็นว่ากลุ่มธุรกิจนั้นดี เราก็จะมีกำหนดว่า ให้น้ำหนักไม่เกิน 1.5 เท่าของน้ำหนักตลาด เช่น หุ้นกลุ่มนี้มีน้ำหนัก 10% ของน้ำหนักดัชนีตลาด

เราก็จะลงทุนได้ไม่เกิน 15% ของพอร์ต หรือกรณีเป็นหุ้นของแต่ละบริษัท หากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ หุ้นมีสภาพคล่องสูง เราสามารถเพิ่มน้ำหนักการลงทุนได้ 2 เท่าของน้ำหนักตลาด แต่หากเป็นบริษัทขนาดเล็ก สภาพคล่องการซื้อขายต่ำ เราอาจให้น้ำหนักเพียงไม่เกิน 1.5 เท่าของน้ำหนักตลาด เป็นต้น

นอกจากนี้ เราต้องระมัดระวังไม่ให้เราถือหุ้นหรือตราสารแต่ละบริษัทมากเกินไป เช่น กำหนดลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทใดบริษัทหนึ่งไม่เกิน 2% ของหุ้นกู้ทั้งหมดที่บริษัทนั้นออกจำหน่าย เป็นต้น เพราะหากเรากลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของหุ้นหรือหุ้นกู้นั้นๆ ตอนขาซื้อไม่ค่อยเป็นปัญหาค่ะ มีคนเอามาขายให้เสมอ แต่ตอนจะขายออก จะหาคนอยากเข้ามาซื้อยาก เราจึงอาจต้องขายในราคาที่ทำร้ายตัวเอง คือขายไปก็ทำราคาตกลงไป

 

ในการทำธุรกิจทั่วๆไปก็เช่นเดียวกัน หากเราพึ่งพาลูกค้ารายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป หากลูกค้าเปลี่ยนใจ อาจด้วยเหตุผลส่วนตัว ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับความมั่นคงของบริษัทเรา แต่การจากไปของลูกค้า อาจกระเทือนไปถึงธุรกิจโดยรวมของเรา  ยิ่งเราพึ่งลูกค้ารายใดรายหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเท่าไร ก็อาจส่งผลกระทบมากขึ้นตาม

ธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ หรือ เอสวีบี ชื่อก็บอกแล้วว่าอยู่ในเขตที่มีธุรกิจเทคโนโลยี และมีกิจการใหม่ๆของคนรุ่นใหม่ๆอยู่กันหนาแน่น จึงมีลูกค้าผู้ฝากเงินที่เป็นบริษัทตั้งใหม่ ที่เรียกว่าสตาร์ทอัพ (Start Up)  หรือเป็นผู้เกี่ยวข้องกับสตาร์ทอัพ เป็นส่วนใหญ่ เช่น เป็นพนักงาน เป็นเจ้าของ เป็นผู้ลงทุน ฯลฯ และยังมีลูกค้าสินเชื่อ หรือผู้กู้ที่เป็นสตาร์ทอัพ และเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอีก เพราะฉะนั้นจึงมีความกระจุกตัวทั้งในฝั่งของ สินทรัพย์ ​(เงินให้กู้ยืม) และฝั่งหนี้สิน (เงินรับฝาก)

จากข้อมูลของธนาคาร ธนาคารก่อตั้งมาแล้ว 35 ปี ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ธนาคารช่วยลูกค้าที่ทำธุรกิจเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ระดมทุนได้จำนวนมาก ธนาคารถึงกับให้สถิติเอาไว้ว่า 88% ของบริษัทที่อยู่ในลิสต์รายชื่อสตาร์ทอัพที่จะเป็นธุรกิจพันล้านเหรียญหรือยูนิคอร์นรายต่อไป เป็นลูกค้าของธนาคาร

นอกจากนี้ 50%ของบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ ชีวภาพ ที่มี กองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital หรือ VC) เข้าสนับสนุน ใช้บริการของธนาคารเอสวีบี  และ 44% ของบริษัทที่มีกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital หรือ VC) เข้าสนับสนุน ที่เอาหุ้นเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดสหรัฐอเมริกาในปี 2565 เคยเป็นลูกค้าของธนาคาร

 เรียกได้ว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ทำธุรกิจใหม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เป็นลูกค้าของธนาคารหมด ประเด็นคือ ธุรกิจหรือผู้คนที่อยู่ในแวดวงเดียวกันจะมีความเสี่ยงคล้ายๆกันค่ะ คือหากธุรกิจดี ก็จะดีเหมือนกัน หากธุรกิจไม่ดี ก็จะไม่ดีเหมือนกัน

 ในช่วงที่ผ่านมาเมื่อยุคหลังโควิด คนให้ความสำคัญกับธุรกิจเทคโนโลยีมาก มองว่าคืออนาคตของโลก และให้ราคาไว้สูงมาก พอปีที่แล้ว พ.ศ. 2565 หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมีการปรับตัวลงอย่างมาก การระดมทุนของสตาร์ทอัพหลายแห่งจึงเป็นไปได้ยากขึ้น จึงต้องถอนเงินฝากมารักษาสภาพคล่องบางส่วน

ประกอบกับเมื่อธุรกิจซบเซาลง หลายบริษัทมีการลดจำนวนพนักงาน คนตกงานก็ต้องถอนเงินออมไปใช้เลี้ยงชีพ เงินจึงถูกถอนจากธนาคารจำนวนมาก

 เมื่อถูกถอนเงิน ธนาคารก็ต้องขายสินทรัพย์เพื่อนำเงินไปคืนให้กับผู้ฝากเงิน สินทรัพย์หลักของสถาบันการเงินก็คือเงินให้กู้ยืม กับเงินลงทุน ในช่วงที่ธุรกิจไม่ได้สดใสมาก ธนาคารอาจไม่ได้ปล่อยกู้มากนัก จึงนำเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเปรียบเสมือนการปล่อยกู้ให้กับภาครัฐนั่นเอง ได้ดอกเบี้ยบ้าง ก็ยังดีกว่าไม่ได้รับเลย และมาประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างบ้าคลั่ง ทำให้พันธบัตรเก่าที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำมีราคาตกลงไป เมื่อต้องการได้เงินไปคืนผู้ฝาก จึงต้องขายในราคาที่ขาดทุน (ทั้งที่หากถือไปจนครบอายุ ก็จะเสียหายเพียงเสียโอกาสในการได้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ในท้องตลาดเท่านั้น)

และเราก็คงทราบกันดีว่า ข่าวสาร การซุบซิบ หรือความเห็นของคนในวงการเดียวกัน ก็จะคล้ายๆกัน พอคนหนึ่งไม่มั่นใจ คนอื่นๆก็พลอยไม่มั่นใจด้วย และสำหรับธุรกิจการเงิน ความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดค่ะ

 สำหรับเครดิตสวิส (Credit Suisse) เราคงได้ยินข่าวมาบ้างแล้ว ดิฉันก็เคยเขียนถึงแล้วในคอลัมน์นี้ เกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดจากการให้กู้กับ อาคีโกส์ แคปปิตอล เมื่อสองปีก่อน ซึ่งความเสียหายค่อนข้างมาก เพราะไปทุ่มเต็มที่ในการให้สินเชื่อกับอาคีโกส์ และเมื่ออาคีโกส์มีปัญหาจากการฉ้อโกง จึงทำให้ธนาคารขาดทุนเป็นจำนวนมาก

 การทุ่มไปเต็มที่กับการให้สินเชื่อมาร์จิ้น (Margin Loan) แก่อาคีโกส์ ถือเป็นความเสี่ยงจากการกระจุกตัวกับลูกค้ารายใดรายหนึ่งเช่นกัน  ข้อมูลจากรอยเตอร์สระบุว่าเครดิตสวิสได้รับความเสียหายจากรายการนี้ถึง 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

              ดังนั้น การกระจายความเสี่ยง ไม่กระจุกตัวอยู่กับลูกค้ารายใดรายหนึ่งถือเป็นวิธีการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจ และการกระจายการลงทุน ไม่ทุ่มไปในหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่ง ถือเป็นการบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนค่ะ