ธปท.เร่งวางTaxonomyไฟแนนซ์ธุรกิจสีเขียว

ธปท.เร่งวางTaxonomyไฟแนนซ์ธุรกิจสีเขียว

ธปท.เร่งวางTaxonomyไฟแนนซ์ธุรกิจสีเขียว คาดเริ่มในธุรกิจพลังงาน-ขนส่งในเดือนเม.ย.นี้ ระบุ ราว 13% จะได้รับผลกระทบกับกติกา CBAM ถ้าไม่เร่งปรับตัวจะก่อให้เกิดความเสียหายในภาคเศรษฐกิจจริงและกระทบต่อภาคธนาคาร

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในหัวข้อ"ภาษีคาร์บอน ไทยจะเดินหน้าอย่างไร" ในงานสัมมนา GO GREEN 2023 Business Goal to the Next Era จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า ขณะนี้ โลกเราป่วย ประเทศแต่ละประเทศป่วยมากน้อยไม่เท่ากัน กรณีของไทยนั้น ป่วยมาก เราเป็นอันดับที่ 9 ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change ทั้งนี้ ปัจจุบัน พบว่า 30% ของอุตสาหกรรมในบ้านเราเป็นอุตสาหกรรมเก่า ในจำนวนนี้ จะมี 13% ของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ CBAM ฉะนั้น ก็มีความเร่งด่วน ถ้าเราเฉยๆ จะเกิดความเสียหาย ซึ่งความเสียหายในภาคเศรษฐกิจจริงสุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ ซึ่งจะกระทบภาคธนาคาร เพราะธนาคารก็มีลูกค้าที่อยู่ภาคเศรษฐกิจจริง ฉะนั้น แบงก์ชาติต้องเข้ามามีส่วนกำหนดกรอบการเงินให้ลูกหนี้ปรับตัวให้ได้

ทั้งนี้ กรอบในการดูแลความยั่งยืนทางการเงินของธปท.นั้น มีเป้าหมาย 2 เรื่อง คือ 1.เราอยากให้แบงก์มีสุขภาพที่ดี คือ นำระบบการบริหาร ESGเข้าไปในกระบวนการทำงานทั้งหมด และอยากให้แบงก์มีส่วนร่วมสนับสนุนลูกหนี้ให้ปรับตัวให้ได้ด้วย ส่วนการปรับตัวนั้น เราทำ 5 เรื่องคือ การวางมาตรฐานการทำงานให้กับสถาบันการเงิน การมีส่วนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาฐานข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอน การสร้างแรงจูงใจ แต่จะมาจากภาคธนาคารทั้งหมดไม่ได้ และการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อESG

เขากล่าวด้วยว่า ทาง ธปท.จะใช้ Taxonomy เข้ามาเป็นกติกาช่วยกำหนดเรื่องการไฟแนนซ์เงินแก่ผู้ประกอบการ โดย Taxonomy จะเป็นกติกาที่บอกว่า อะไรเข้าข่ายว่า อะไรเป็นธุรกิจสีเขียว สีเหลือง และแดง เพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเราไม่ได้คำนึงถึง Climate Change อย่างเดียว  แต่ยังรวม ESG ด้วย ซึ่งเฟสแรกจะเน้นไปสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ทิ้งเรื่องสังคม ฉะนั้น Taxonomy จะยึดโยงเรื่องความยั่งยืน ถ้าธุรกิจจัดอยู่ในกลุ่มสีเขียวจะมีความยั่งยืนสูง ถ้าสีเหลืองหรือน้ำตาล จะจัดอยู่ในกลุ่มที่กำลังเปลี่ยนผ่าน ส่วนสีแดงคือ คนที่ต้องถอยออกไป ฉะนั้น Taxonomy จะเป็นนิยามกลาง 

“ของเรานั้น กลุ่มเขียวจะเป็นไปตามมาตรฐานนานาชาติ เหตุที่ต้องเป็นไปตามนั้น เพราะเม็ดเงินเวลาเขาออกกรีนบอนด์มาไฟแนนซ์กรีนโปรเจกต์ต้องอิงกับมาตรฐานนั้น แต่เมื่อมาในกลุ่มเหลืองแดง จะเป็นไปตามบริบทบ้านเรา”

ทั้งนี้ ขณะนี้ Taxonomy นั้น เราจะเริ่มทำ 2 เซกเตอร์หลัก คือ พลังงาน กับขนส่ง แต่ยังไม่ได้เริ่มอย่างเป็นทางการ จะเริ่มจริงในเม.ย.- พ.ค.นี้ คงออกมาเร็วๆ นี้ และต่อไปก็จะทำกับอุตสาหกรรมอื่น ก็ยังตกลงกันว่าจะเป็นอะไร ส่วนจะเอามาใช้ในการจัดสรรเงินทุนอย่างไร เรียนว่า เราอยากเห็นเปลี่ยนผ่านโดยไม่สะดุดโดยคนที่เป็นกรีนก็มีโอกาสได้รับเงินทุนที่มีดอกเบี้ยที่ดีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องหลักที่หนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัว แต่จะต้องมีองค์ประกอบอื่นด้วย เช่น เรื่องของความรู้

“เรามองว่า อุปสรรคต่อการสนับสนุนการทำธุรกิจสีเขียวในขณะนี้ คือ นโยบายภาครัฐ และเอกชนต้องชัดเจน การที่จะบอกว่า แต่ละเซกเตอร์จะเคลื่อนตัวอย่างไร ซึ่งตอนนี้ พูดตรงๆ ว่า ยังไม่เห็น หรือเห็นไม่ชัดถ้าไม่มีตรงนี้จะเคลื่อนตัวอย่างเป็นระบบยาก ซึ่งเราอยากเห็น และเราอยากเห็นเรื่องการปรับตัวของเอสเอ็มอี ซึ่งอยากเห็นธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาช่วย”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์