จากฝรั่งเศสถึงไทย เมื่อสังคมสูงวัย กำลังทำให้เราเกษียณได้ช้าลง
เป็นอย่างไรกันบ้างครับท่านผู้อ่าน ปีนี้เราก็ผ่านไตรมาส 1 กันไปแล้ว รู้สึกเหมือนเวลาผ่านไปเร็วมากเลยใช่ไหมครับ
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ท่านผู้อ่านน่าจะได้ทราบข่าวจากประเทศฝรั่งเศสกันบ้าง ที่ในภาพข่าวเป็นภาพของกองขยะมหึมาจำนวนมากวางกองสูงเป็นภูเขาทั่วนครปารีส เมืองที่ขึ้นชื่อว่าโรแมนติก อันดับต้นๆของโลก
โดยสาเหตุนั้น มาจากการรวมตัวกันประท้วงของสหภาพแรงงาน และ ประชาชนจำนวนมาก ที่ไม่เห็นด้วยต่อการปรับอายุ การเกษียณ จาก 62 ปี ไปเป็น 64 ปี การประท้วงมีผู้เข้าร่วมเป็นล้านคน มีการจลาจล เผา และ มีการปะทะกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุม
ในขณะที่ทางประธานาธิบดี มาครง ก็ยังยืนยันว่าจะไม่ถอย ในการปรับแก้กฎหมายนี้โดยเด็ดขาด โดยให้เหตุผลว่า หากยังยืนอายุเกษียณที่ 62 ปี เหมือนเดิมนั้น จะทำให้ วินัยทางการเงินของรัฐเกิดปัญหา และนำไปสู่วิกฤติการเงินของประเทศได้ โดย ณ ตอนที่เขียนบทความนี้ ก็ยังหาข้อสรุปกันไม่ได้
จากข่าวนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัวเรากันใช่มั้ยครับ แต่วันนี้ผมมี ผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Investment Advisory Security Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาให้มุมมองอีกหนึ่งมุมมองกับท่านผู้ผ่าน ว่าข่าวนี้ไกลตัวเราจริงหรือไม่ครับ หากเราลองมองดูอายุเกษียณของหลายๆประเทศ จะพบว่า อายุเกษียณของคนไทยที่ 60 นั้นยังถือว่าต่ำกว่าหลายๆประเทศอยู่มาก
โดยหลายๆ ประเทศเริ่มขยับอายุเกษียณให้มากขึ้น เช่นสหรัฐอยู่ที่ 62 ปี สหราชอาณาจักรอยู่ที่ 66 ปีและกำลังจะขยับไปที่ 67 ปี เยอรมัน อยู่ที่ 67 ปี ออสเตรเลียอยู่ที่ 67 ปี ฮ่องกงอยู่ที่ 65 ปี และญี่ปุ่นอยู่ที่ 64 ปี
หากดูจากอายุเกษียณในหลายๆประเทศแล้วนั้น ก็พอจะเห็นแนวโน้มที่ค่อนข้างชัดเจนว่า อายุเกษียณของไทยเราก็คงจะต้องขยับตามในไม่ช้า สอดคล้องกับ ที่มีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า จะมีการขยายอายุเกษียณราชการออกไปเป็น 63 ปี โดยตอนนี้อยู่ในช่วงของการศึกษาความเป็นไปได้ และ จากข่าวที่ออกมาในปี 2564 ที่กองทุนประกันสังคมจะขยับอายุเกษียณจาก 55 ปี ออกไปเป็น 60 ปี แต่ก็ถูกระงับไว้เสียก่อน
สาเหตุที่หลายๆประเทศต่างพากัน ขยับอายุเกษียณนั้นก็เพราะ หลายๆประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย หรือ สังคมที่มีผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำงานเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับวัยแรงงาน ส่งผลให้ รายได้ของรัฐที่มาจากภาษีที่เก็บจากคนทำงานนั้นจะน้อยลงแต่กลับมีรายจ่ายเพื่อดูแลคนในวัยเกษียณที่มากขึ้น จนอาจทำให้รัฐไม่มีงบประมาณเพียงพอไปพัฒนาประเทศด้านอื่นได้
ส่วนในไทยนั้น กองทุนประกันสังคมก็กำลังจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างพื้นฐาน ที่ใช้คำนวนยอดเงินจ่ายสมทบประกันสังคมที่สูงขึ้น เพื่อให้ มีเงินไหลเข้ามาสู่กองทุนประกันสังคมให้มากขึ้น เพื่อที่จะสอดคล้องกับเงินบำนาญที่ต้องจ่ายให้กับผู้เกษียณในระบบสังคมมากขึ้นนั่นเอง จากที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ผู้เขียนมองว่า ในเวลาอีกไม่นานไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และในไม่ช้านี้คงจะได้เห็น การปรับอายุเกษียณออกไปอย่างแน่นอน
แผนการเงินที่วางไว้ว่าจะเกษียณตอน 55 หรือ 60 อาจจะต้องมีการปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น การดูแลสุขภาพก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพที่ต้องใช้แรงงาน นอกจากนั้น การหมั่นปรับปรุงความรู้ในสายอาชีพ การเรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยีก็เป็นสิ่งสำคัญ การศึกษาหาความรู้ในศาสตร์แขนงอื่นก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะอายุสิ้นสุดของอาชีพเราอาจจะไม่ได้อยู่ที่ 60 เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว อย่าลืมว่า ถึงตอนนั้นเราจะอายุ 60 แล้ว แต่เราก็ยังต้องแข่งกับคลื่นลูกใหม่ในที่สุขภาพดีกว่า ความสามารถที่อาจจะมากกว่า และ รับค่าจ้างที่น้อยกว่า ก่อนที่ปัญหาจะมาถึง
การวางแผนและเตรียมตัวเสียแต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งที่จะช่วยเราได้ในอนาคตครับ อยากให้ทุกท่านได้ลองกลับมาให้ความสำคัญและวางแผนการเกษียณของเรากันอย่างเต็มที่มากขึ้น อย่าเพียงคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไว้เดี๋ยวค่อยวางแผนก็ได้ แต่อย่าลืมนะครับ หากเราเริ่มต้นวางแผนเร็ว เงินสำหรับวางแผนเราก็จะเริ่มต้นที่จำนวนไม่มาก
หากวางแผนช้า อาจต้องเพิ่มเงินลงทุน หรือยืดระยะเวลาเกษียณของตนเองออกไปนะครับ เหมือน Quote ที่แชร์กันในโลกโซเชียลที่กล่าวว่า “ที่สุดของความเสียดายคือตายแล้วยังใช้เงินไม่หมด ที่สุดของความสลด คือใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตาย” และในสุดท้ายนี้ สำหรับเดือนเม.ย. นับเป็นเดือนที่หลายๆท่านได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมครอบครัว เยี่ยมญาติผู้ใหญ่กัน ทางผู้เขียนขออวยพรให้ทุกท่านเดินทางโดย สวัสดิภาพ ได้ประสบพบเจอแต่ความราบรื่น สวัสดีวันปีใหม่ไทย ครับผม”