BofA เผย ‘12 ข้อมูล’ บ่งชี้ เศรษฐกิจสหรัฐจ่อเข้าสู่ภาวะถดถอย
“Bank of America” หรือ BofA เปิดข้อมูล 12 ชุด ฟันธงตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาเข้าสู่ “สภาวะเศรษฐกิจถดถอย” แบบสมบูรณ์แล้ว
ความกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เริ่มเข้ามาใกล้จุดเดือดในปีนี้ โดยประชาชนหลายคนเริ่มตั้งแต่นักกลยุทธ์ตลาดวอลล์สตรีทไปจนถึงซีอีโอของบริษัทต่างออกมาเตือนถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ทว่าจนถึงขณะนี้ ภาวะถดถอยก็ยังไม่เกิดขึ้นเนื่องจาก “ตลาดงาน” และ “การใช้จ่ายของผู้บริโภค” ยังคงฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของ “Bank of America” หรือ BofA มีสัญญาณมากมายที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจถดถอยไม่ได้หายไป และนี่คือ 12 แผนภูมิที่บ่งชี้ว่าสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเต็มตัวอ้างอิงจาก ไมเคิล ฮาร์ทเน็ตต์ (Michael Hartnett) วิเคราะห์จาก BofA
1. กิจกรรมการผลิตที่ลดลง
"ตัวเลขดัชนีภาคอุตสาหกรรมโรงงาน (ISM) ของเดือนมี.ค. อยู่ที่ 46.3 หน่วย ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2563 โดยในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา เมื่อใดก็ตามที่ตัวเลข ISM ของภาคการผลิตย่อตัวต่ำกว่า 45 หน่วย ในอดีตเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยถึง 11 ครั้งจากทั้งหมด 12 ครั้ง (ยกเว้นในปี 1967) " BofA กล่าว
2. การลดลงของการผลิตมักเกิดขึ้นพร้อมกับรายได้ที่ลดลง
"ส่วนประกอบคำสั่งซื้อใหม่ (New Orders Component) ของ ISM ในภาคการผลิตอยู่ 44.3 หน่วย คำสั่งซื้อใหม่อยู่ที่น้อยกว่า 45 หน่วย สอดคล้องกับการถดถอยของกำไรต่อหุ้น (EPS) โดยสามารถตรวจสอบได้จากช่วงปี 2534, 2544, 2551,2563)" BofA กล่าว
3. โมเดลเอิร์นนิ่งทั่วโลก (Global earnings model) ชี้อาจเกิดการย่อตัวครั้งใหญ่
"ปัจจุบัน BofA Global EPS Growth Model คาดการณ์ว่าภายในเดือนส.ค. EPS จะลดลง -16% เมื่อเทียบเป็นรายปี โมเดลการคาดการณ์ดังกล่าวได้รับแรงหนุนจากการส่งออกในทวีปเอเชีย, ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ทั่วโลก ,สภาวะทางการเงินของจีน และเส้นอัตราผลตอบแทนของสหรัฐ" BofA กล่าว
4. เส้นอัตราผลตอบแทนที่สูงชันมักนําหน้าภาวะถดถอย
เส้นอัตราผลตอบแทนของตั๋วเงินคลังสหรัฐ ชนิด 2 ปี/10 ปีจะแบน และกลับด้าน (Flattens and Inverts) เมื่อมีแนวโน้มเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และเส้นอัตราผลตอบแทนจะชันขึ้นทันทีที่เริ่มเกิดภาวะดังกล่าว โดยเส้นอัตราผลตอบแทนดังกล่าวปรับตัวชันขึ้นจาก -1.1% มาเป็น -0.5% ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา" BofA กล่าว
5. ราคาน้ำมันแสดงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
BofA กล่าวว่า "ราคาน้ำมันมักจะพุ่งขึ้นในช่วงกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และจะลดลงเมื่อเข้าสู่สภาวะดังกล่าวแล้ว" BofA กล่าว
6. ตลาดภาคการจ้างงานมักจะเป็นไปตามกิจกรรมการผลิต
“ดัชนี PMI ภาคการผลิตที่อ่อนแอของ ISM บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐจะอ่อนตัวลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า นอกจากนี้รายงานการจ้างงานในเดือนก.พ.และมี.ค.เป็นรายงานการจ้างงานที่แข็งแกร่งที่อาจเกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายในปี 2566”
7. ราคาบ้านทั่วโลกลดลง
“ราคาบ้านทั่วโลกได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากอัตราที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ สหราชอาณาจักร แคนาดา สวีเดน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์” BofA กล่าว
8. แบงก์พาณิชย์ปล่อยกู้ยากกระทบภาคการจ้างงาน
"ธนาคารในสหรัฐเริ่มออกมาตรการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทขนาดเล็กหลังจากเกิดวิกฤติธนาคารสหรัฐช่วงที่ผ่านมา โดยวิกฤติสินเชื่อที่ทวีความรุนแรงขึ้น และมีความสัมพันธ์กับความต้องการแรงงานของธุรกิจขนาดเล็กอย่างมาก ทั้งนี้หากอัตราการปล่อยสินเชื่อลดลงเหลือ -10 หน่วยหรือต่ำกว่านั้นหมายความว่าสหรัฐได้เข้าสู่วิกฤติสินเชื่อเรียบร้อยแล้ว" BofA กล่าว
9. แบงก์ยุโรปปล่อยกู้ลดลง
"อัตราการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในยุโรปลดลงสามเดือนติดต่อกัน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากมาก นอกเสียจากเกิดวิกฤติการเงินครั้งใหญ่, วิกฤติหนี้ยูโร หรือช่วงโควิด ทั้งนี้เศรษฐกิจยุโรปขึ้นอยู่กับเครดิตธนาคารคิดเป็นตัวเลขกว่า 14 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 462 ล้านล้านบาท" BofA กล่าว
10. ตลาดงานที่อ่อนแอนําไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่
"การเปิดรับสมัครงานในสหรัฐที่ลดลง = ตลาดแรงงานอ่อนแอลง = อัตราเงินกองทุนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดลง โดยในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า เส้นอัตราผลตอบแทนมีแนวโน้มที่จะปรับตัวชันมากขึ้นเนื่องจากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนการเลือกตั้ง แต่อุปสรรคสำคัญคือ เงินเฟ้อ และนโยบายทางการคลัง" BofA กล่าว
11. หุ้นปรับตัวลงหลังจากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดในช่วงเงินเฟ้อ
"มุมมองของเรา: ขายหุ้นในช่วงการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย (Sell the last rate hike) จริงๆ แล้วตอนนี้นักลงทุนมองโลกในแง่ดีมากเกินไปโดยเฉพาะกับแนวโน้มการลดอัตราของเฟด และพวกเขามักไม่มองถึงการกำลังจะมาถึงของสภาวะเศรษฐกิจถดถอย”
“เรามองว่า การขายก่อนขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้องสำหรับหุ้นในช่วงเงินเฟ้อในทศวรรษ 1970/1980 และเทคนิคซื้อในช่วงการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย (buy the last hike) ได้ผลในช่วงตลาดปั่นป่วนยุค 1990”
12. กราฟตลาดหุ้นสวนทางกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย
“ตั้งแต่ในอดีต ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจล้วนส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้น โดยในอนาคตดัชนี S&P 500 ยังมีโอกาสปรับตัวลดลงอีกมาก” BofA ระบุ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์