‘อินเดีย’ หวังเป็นห่วงโซ่อุปทานโลก ดึงบริษัทจีนเข้าลงทุน

‘อินเดีย’ หวังเป็นห่วงโซ่อุปทานโลก ดึงบริษัทจีนเข้าลงทุน

“นิรมาลา สิทธารามัน” ชี้อินเดียต้องการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกและตลาดทางเลือกให้บริษัทจากประเทศจีนมาลงทุนมากขึ้น หลังจากรับบทบาทสำคัญในฐานะประธานกลุ่มจี 20 ช่วงก่อนหน้า ภายใต้แรงกดดันจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

Key Points

  • อินเดียต้องการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก  และตลาดทางเลือกให้บริษัทจากจีน
  • โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการผลิตคือ หนึ่งเครื่องมือที่จะนำพาอินเดียไปสู่จุดหมายดังกล่าวได้ดีมากขึ้น
  • อินเดียจ่อสานสัมพันธ์ทวิภาคีทางการค้ากับอียู

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานถ้อยแถลงของนิรมาลา สิทธารามัน (Nirmala Sitharaman) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินเดียเมื่อวันที่ 11 เม.ย.2566 ว่า อินเดียพยายามเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก (World Supply Chains) และตลาดทางเลือกให้บริษัทจากประเทศจีน มาลงทุนมากขึ้น ตามแผนการกระตุ้นการเติบโตของตลาดการบริโภคภายในประเทศ และแผนกระตุ้นแรงจูงใจในการผลิต (Output-incentive Plans)

นิรมาลา กล่าวว่า “โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการผลิต” (Production-Linked Incentive Scheme) ของอินเดียเป็นโครงการกระตุ้นการผลิตสําหรับการลงทุนขนาดใหญ่ โดยครอบคลุมอุตสาหกรรมทั้งหมด 13 สาขา หนึ่งในนั้นคือ อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการดึง “ห่วงโซ่คุณค่าโลก” (Global Value Chains) เข้ามาสู่อินเดียได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว อินเดียกำหนดเป้าหมายการส่งออกโดยรวมที่มูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 66 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2573 หรือราว 7 ปีข้างหน้า ท่ามกลางความต้องการของประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ต้องการผันตัวเองเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในการเป็นห่วงโซ่อุปทานของบริษัทจากประเทศจีน

นิรมาลา ยกตัวอย่างการผลิตโทรศัพท์มือถือที่ในปี 2557 ประเทศในเอเชียผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวน้อยมาก ในขณะที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมดังกล่าวในเอเชียเติบโตจนกลายเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก

ในช่วงปีที่ผ่านมา อินเดียได้ดำเนินการตามข้อตกลงการค้าทวิภาคี (Bilateral Trade Deals) กับหลายประเทศ รวมถึงออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และแคนาดา ซึ่งเป็นท่าทีที่เปลี่ยนไปจากท่าที “ค่อยเป็นค่อยไป” ในช่วงก่อนหน้า มาอยู่ในท่าทีแบบ “เชิงรุก” มากขึ้น โดยในอนาคตอินเดียมีแผนสานความสัมพันธ์ดังกล่าวกับสหภาพยุโรป (EU) ต่อไปด้วย

กลุ่มประเทศจี 20 และปัญหาหนี้ของประเทศสมาชิก

อินเดียดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม G20 หรือ กลุ่มประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 19 ประเทศ รวมกับอียู ภายใต้ความกดดันในการปรับเปลี่ยนถ้อยคำในข้อตกลง หลังจากจีน และรัสเซียคัดค้านการใช้ภาษาที่รุนแรงเกี่ยวกับประเด็นสงครามในยูเครน

“นี่เป็นโอกาสที่ดีสำหรับอินเดียในการพิสูจน์ และทำงานร่วมทุกประเทศ ท่ามกลางบทบาทในการเป็นตัวกลางสานความสัมพันธ์ของประเทศสมาชิก” นิรมาลา กล่าว

“ถึงเวลาแล้วที่สมาชิกของ G-20 จะต้องลุกขึ้นมาจัดการประเด็นที่สำคัญเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันมีความจำเป็นในการบรรเทาหนี้ให้กับประเทศที่มีรายได้น้อยกว่า 70 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นจำนวนหนี้สุทธิทั้งหมดรวมที่ 3.26 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 10.758 ล้านล้านบาท)” 

มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศที่มีรายได้น้อยในโลกมีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาหนี้สินหรืออยู่ในภาวะดังกล่าว และหลายประเทศผิดนัดชำระหนี้ไปแล้ว แม้ว่าในปี 2020 กลุ่มประเทศ G-20 จะตกลงแผน “Common Framework” ที่มุ่งทำให้กระบวนการปรับโครงสร้างเงินกู้ให้ราบรื่นมากขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการดังกล่าว

“เรื่องข้างต้นต้องได้รับการดำเนินการต่ออย่างจริงจัง และในอนาคตอันใกล้ต้องมีความคืบหน้าในทางบวกแน่นอน” นิรมาลา กล่าว

ด้านบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า นิรมาลาเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ดีของนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย นอกจากนี้เธอยังเป็นรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศอีกด้วย โดยเธอได้รับความชอบธรรมจากการสนับสนุนโครงการสวัสดิการสังคม (Social-welfare Programs) ในช่วงที่มีโรคระบาด และลดช่องว่างงบประมาณ (Narrowing the Budget Gap) ให้เหลือ 5.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จากเดิมบันทึกไว้ที่ 9.2% ในปีงบประมาณที่เริ่มตั้งแต่เดือนเม.ย. ปี 2564

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์