ค่าเงินบาทเปิดตลาด’แข็งค่า’ที่ 34.36 บาทต่อดอลลาร์ จากแรงขายทำกำไรทองคำ
กรุงไทย ชี้เงินบาทแข็งค่าตามแรงขายทองทำกำไร ตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง มากขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงแรงขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ กดดันฝั่งบาทอ่อนค่าได้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.20-34.50บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (26 เม.ย.) ที่ระดับ 34.36 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.38 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.50 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลง ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์บ้าง (อ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 34.45 บาทต่อดอลลาร์) ก่อนที่จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินที่อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้เราประเมินว่า เงินบาทยังคงมีโอกาสเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่อาจยังคงขายสุทธิหุ้นไทยต่อได้บ้าง(แต่คาดว่าแรงขายอาจไม่ได้รุนแรงมาก เพราะนักลงทุนต่างชาติได้ขายหุ้นไทยไปไม่น้อยกว่า 6.3 หมื่นล้านบาทแล้วในปีนี้)
ขณะเดียวกันโฟลว์จ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติก็มีอยู่ ทำให้หากเงินบาทมีการแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ในกรณีที่ราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ เราประเมินว่าโซนแนวรับของเงินบาทก็จะยังคงอยู่ใกล้เส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน แถว 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ เราเริ่มเห็นสัญญาณการรอจังหวะซื้อบอนด์ระยะสั้นของผู้เล่นต่างชาติในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าลง ทดสอบโซนแนวต้านแถว 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นการทยอยเพิ่มสถานะ Long THB หรือมองเงินบาทแข็งค่าขึ้น ของผู้เล่นต่างชาติบางส่วน ทำให้เราคงมองว่า แม้ค่าเงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง แต่ก็จะยังไม่อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ที่ประเมินไว้ไปได้ไกล แต่ควรติดตาม รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด ว่าจะทำให้บรรยากาศในตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นหรือไม่ เพราะถ้าตลาดปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อ ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยได้ ซึ่งจุดที่ต้องจับตาของเงินดอลลาร์ คือ โซนแนวต้านสำคัญของ ดัชนีเงินดอลลาร์ หรือ DXY แถว 102.5 จุด
ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูงทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ความผิดหวังต่อรายงานผลประกอบการและคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน อาทิ บริษัทกลุ่มขนส่งอย่าง UPS -10% ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลว่า ผลประกอบการที่น่าผิดหวังอาจสะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชัดเจนมากขึ้น
ประกอบกับรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคล่าสุด (Conference Board Consumer Confidence) เดือนเมษายนก็ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 101.3 จุด แย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว และเลือกที่จะขายสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้นออกมา กดดันให้ ดัชนี S&P500 ดิ่งลง -1.58%
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อ -0.40% หลังผลประกอบการของกลุ่มธนาคาร/การเงินออกมาน่าผิดหวัง ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารยุโรป (Santander -6%, BNP -2.4%, UBS -2.2%) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง กลุ่มHealthcare (Sanofi +1.8%, AstraZeneca +1.1%) หลังบริษัท Novartis +4.0% ได้คาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการที่สดใส
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะถือบอนด์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว ได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาคาดหวังว่า เฟดอาจจะทยอยลดดอกเบี้ยลงครั้งละ -0.25% ได้ตั้งแต่การประชุมเดือนกันยายน ทำให้โดยรวมบอนด์ยีลด์10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.42% เข้าใกล้โซนแนวรับสำคัญแถว 3.30%-3.40% อีกครั้ง
ในฝั่งตลาดค่าเงิน แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะกลับมากังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และคาดหวังว่าเฟดจะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง แต่ทว่าบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้หนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในช่วงตลาดผันผวน ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 101.8 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะถือทองคำเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ปลอดภัยเช่นกัน ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาดCOMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) สามารถรีบาวด์ขึ้น สู่โซนราคาแถว 2,010 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำก็ถูกจำกัดโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์เช่นกัน ทั้งนี้ เรามองว่าผู้เล่นบางส่วนที่ได้ทยอยซื้อทองคำในช่วงย่อตัวลง อาจเริ่มทยอยขายทำกำไรบางส่วน ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง
สำหรับวันนี้ เนื่องจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอาจมีไม่มากนัก ทำให้ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสำคัญกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ บริษัทขนาดใหญ่ในฝั่งสหรัฐฯ อย่าง Boeing และMeta เป็นต้น
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ในปีนี้
และในฝั่งไทย ตลาดคาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอาจกดดันให้ ยอดการส่งออก (Exports) เดือนมีนาคมอาจหดตัวถึง -16%y/y สอดคล้องกับการปรับตัวลงแรงของดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนมีนาคม อนึ่ง ยอดการนำเข้า(Imports) ก็อาจหดตัวราว -5%y/y ตามราคาสินค้าโดยเฉพาะสินค้าพลังงานที่ลดลงต่อเนื่อง ทำให้ดุลการค้าอาจขาดดุลราว -1 พันล้านดอลลาร์