สัญญาณเศรษฐกิจสับสนบ่งชี้อะไร มีนัยยะต่อการลงทุนอย่างไร
ภาพความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่มากขึ้น ทาง InnovestX จึงได้มีมุมมอง "ระมัดระวัง" ในการลงทุน โดยสินทรัพย์ที่ยังคงแนะนำ ได้แก่ ตราสารหนี้โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้คุณภาพดี
ในปัจจุบัน ภาพทิศทางเศรษฐกิจโลกดูเหมือนสับสนและขัดแย้งกันมากขึ้น โดยเฉพาะจากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเบื้องต้น (Flash PMI) ของประเทศพัฒนาแล้วออกมาดีเกินคาด แต่ตัวเลขเศรษฐกิจจริงมีทิศทางชะลอลงมากขึ้น ภาพเหล่านี้บ่งชี้อะไร และนัยยะต่อการลงทุนคืออะไร บทความฉบับนี้จะมาหาคำตอบ
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางสำนักวิจัย S&P Global ได้เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเบื้องต้น (Flash PMI) ของประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งระบุว่า กิจกรรมทางธุรกิจในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบเกือบหนึ่งปีในเดือน เม.ย. โดยได้แรงหนุนจากภาคบริการ ซึ่งส่งสัญญาณถึงเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว
โดยในสหรัฐ ดัชนี S&P Global Flash Composite Output เพิ่มขึ้นเป็น 53.5 ในเดือน เม.ย. จาก 52.3 ในเดือน มี.ค. สูงสุดในรอบ 11 เดือน (ค่ากลางอยู่ที่ 50) โดยองค์ประกอบสำคัญเป็นผลจาก PMI ภาคบริการของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 53.7 จาก 52.6 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์นักเศรษฐศาสตร์ที่ 52.0 และสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเดียวกันของปี 2022 ขณะเดียวกัน PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 50.4 จาก 49.2 ซึ่งเหนือความคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์ที่จะลดลงเหลือ 49.0 โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของผลผลิตและการจ้างงาน ควบคู่ไปกับคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นอีกครั้ง
ด้านดัชนี Flash Composite PMI ของยุโรปฟื้นขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นเป็น 54.4 สูงกว่าประมาณการของนักเศรษฐศาสตร์ที่ 53.7 แต่ภาคการผลิตหดตัวต่อเนื่องไปอยู่ที่ 45.0 จาก 47.3 ในเดือนก่อน ซึ่งการที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตของยุโรปหดตัวมากขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากบริษัทฝรั่งเศสบางแห่งที่ได้รับผลกระทบจากการประท้วงและการนัดหยุดงานเพื่อต่อต้านการปฏิรูปเงินบำนาญของรัฐบาลฝรั่งเศส
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจต่าง ๆ มีมุมมองที่ “ค่อนข้างเป็นบวก” เนื่องจากความกังวลด้านพลังงานที่ผ่อนคลายลง การปรับปรุงห่วงโซ่อุปทาน และความหวังว่าอัตราเงินเฟ้อจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และนอกจาก PMI ของสหรัฐและยุโรปที่ดีขึ้นแล้ว PMI ของอังกฤษและญี่ปุ่นก็ดีขึ้นเช่นกัน
เราวิเคราะห์ว่า แม้ตัวเลข Flash PMI ในเขตเศรษฐกิจใหญ่จะดูดีขึ้น แต่ก็เป็นผลจากภาคบริการเป็นหลัก แต่ภาคการผลิตยังคงมีความเสี่ยง ซึ่ง PMI ในภาพรวมที่ยังฟื้นขึ้นน่าจะยังทำให้ ธนาคารกลางต่าง ๆ ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยเฉพาะธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่อาจขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงประมาณ 3.75-4.00% จากปัจจุบันที่ 3% ขณะที่ในสหรัฐน่าจะยังคงดอกเบี้ยในระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งภาพดังกล่าว ประกอบกับมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่จะเข้มงวดขึ้นต่อเนื่อง จะทำให้เศรษฐกิจในระยะต่อไปมีความเสี่ยงมากขึ้น
โดยล่าสุด รายงาน Global Financial Stability Report ของ IMF บ่งชี้ว่า มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อทั้งในสหรัฐและยุโรปเข้มงวดขึ้นทั้งจากความเสี่ยงการผลิตนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น แนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอลง การหาแหล่งเงินทุนของธนาคารที่ยากขึ้น และระดับความทนทานต่อความเสี่ยงของธนาคารลดลง โดยในปัจจุบัน มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสหรัฐเข้มงวดระดับเดียวกับช่วงวิกฤต Covid และวิกฤตการเงินโลกแล้ว
ภาพนี้สอดคล้องกับดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐที่หดตัวต่อเนื่องกว่า 1 ปี และลดลงรุนแรงใกล้เคียงกับระดับวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงก่อนหน้า โดยดัชนี Conference Board Leading Economic Index ลดลง 1.2% สู่ 108.4 ในเดือน มี.ค. (และลดลง -7.8% YoY ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดเศรษฐกิจถดถอยครั้งก่อน ๆ) โดยครั้งสุดท้ายที่ดัชนีติดลบนานขนาดนี้คือตั้งแต่ปี 2007-09 ก่อนวิกฤติการเงินโลก
ทั้งนี้ Conference Board กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่จะถดถอยในอนาคต โดยในองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น การขอรับสวัสดิการว่างงาน คำสั่งซื้อใหม่ของผู้ผลิต ใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลใหม่ ราคาหุ้น และความคาดหวังของผู้บริโภค ต่างลดลง และเนื่องจากดัชนีดังกล่าวเป็นเครื่องชี้นำเศรษฐกิจล่วงหน้าประมาณ 6 เดือน ทำให้ Conference Board คาดว่าจะเห็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เริ่มขึ้นในกลางปีนี้
ภาพดังกล่าวสอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐตกต่ำมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน มี.ค.โดยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ลดลงเกือบ 1.05 แสนล้านดอลลาร์ ภาพดังกล่าวทำให้สินเชื่อขยายตัวชะลอลงเหลือ 10.2% ต่อปี จาก 11.3% ในเดือนก่อน โดยสินเชื่อที่ลดลงนั้นเป็นผลทั้งจากสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม นอกจากนั้น เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ลดลง 6.47 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นครั้งที่ 10 บ่งชี้ถึงภาวะ Silent Bank Run ดังที่เราเคยกล่าวไว้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าภาวะสินเชื่ออ่อนแอลงในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ส่งผลให้ธนาคารมีแนวโน้มเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากขนาดธนาคาร การปล่อยสินเชื่อลดลง 23,500 ล้านดอลลาร์ที่ธนาคารที่ใหญ่ที่สุด 25 แห่ง และลดลง 73,600 ล้านดอลลาร์สำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งภาพดังกล่าวนี้ เป็นเช่นเดียวกับที่เราเคยเตือนไว้ในบทความนี้ (จะลามหรือไม่ เศรษฐกิจก็จะแย่ลง ตีพิมพ์วันที่ 22 มี.ค.)
ในทางหนึ่ง ภาพนี้เป็นสิ่งที่ทางธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ต้องการให้เกิดขึ้น โดยในรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Fed Minute) เดือน มี.ค. ที่ระบุว่าจะเกิด Recession แบบอ่อน ๆ ในปีนี้ แต่ก็ยังคงขึ้นดอกเบี้ย โดยเราเห็นว่า คณะกรรมการฯ พร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยจนเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยเพื่อให้เงินเฟ้อเข้าไปอยู่ในเป้าหมาย ซึ่งภาพดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจรายภูมิภาคหรือ Fed Beige book ที่ส่งสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวและการปล่อยสินเชื่อเริ่มตึงตัวขึ้นหลังเกิดวิกฤตธนาคารในเดือน มี.ค.
ด้วยภาพความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่มากขึ้น ทาง InnovestX จึงได้มีมุมมองระมัดระวังในการลงทุน โดยสินทรัพย์ที่เรายังคงแนะนำได้แก่ตราสารหนี้โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้คุณภาพดี ในส่วนหุ้นต่างประเทศ เราแนะนำหุ้นที่มีผลประกอบการดี มีหนี้สินต่ำ มีความสามารถในการกำหนดราคาในช่วงเศรษฐกิจผันผวน (Pricing power)
ในส่วนของไทย เรามองว่าเป็นโอกาสซื้อสะสมในช่วงเศรษฐกิจและตลาดการเงินผันผวน โดยเราคัดเลือก 5 หุ้นเด่นในธีม Best of the Best ได้แก่ AU, BBL, BDMS, CPALL และ GULF ที่มีจุดแข็งร่วมกันคือ (1) เป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรม (2) มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง (3) กำไรอยู่ในทิศทางขาขึ้นและสูง (Outperform) กว่าตลาดในท้ายที่สุด เราเชื่อว่าแม้เศรษฐกิจจะมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ก็ยังมีช่องทางให้ลงทุนได้ แต่นักลงทุนจะต้องจับจังหวะและโอกาสให้ดีด้วย
ขอให้นักลงทุนทุกท่านโชคดี รวมทุกช่องทาง InnovestX official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก : https://linktr.ee/InnovestX เปิดบัญชีลงทุน InnovestX วันนี้! เปิดครั้งเดียวลงทุนได้ครบทั้งจักรวาลการลงทุน
โหลดเลย คลิก https://innovestx.onelink.me/23if/bkznewstockfocus
ติดตามบทวิเคราะห์การลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมจาก InnovestX คลิก : https://bit.ly/respublisher #InnovestX #InnovestXResearch #InnovestXApp #จักรวาลการลงทุนในมือคุณ
*ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้