‘เยลเลน’ ย่องพบ ‘ซีอีโอดัง’ หวัง กดดัน รีพับลิกัน ขยับเพดานหนี้ขึ้น

‘เยลเลน’ ย่องพบ ‘ซีอีโอดัง’ หวัง กดดัน รีพับลิกัน ขยับเพดานหนี้ขึ้น

“แหล่งข่าววงในจากกระทรวงการคลัง” เผย เจเน็ต เยลเลน เดินหน้าพูดคุยกับบรรดาซีอีโอดังจำนวนมากเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากไม่ปรับเพดานหนี้สาธารณะขึ้นภายใน 1 มิ.ย. หวั่น ชาวอเมริกันอาจตกงานนับล้าน ตลาดการเงินระยะสั้นอาจปิดตัว

Key Points

  • เจเน็ต เยลเลน เข้าพูดคุยกับซีอีโอดังจำนวนมากถึงผลกระทบจากการไม่ปรับเพดานหนี้สาธารณะ
  • แหล่งข่าววงในคลัง เผยมีผู้บริหารดังจากภาคการเงินและเศรษฐกิจด้วย
  • ไบเดน จ่อพูดคุยกับ แมคคาร์ธี เกี่ยวกับประเด็นเพดานหนี้วันนี้

สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) รายงานคำกล่าวของแหล่งข่าวในกระทรวงการคลังสหรัฐ 2 ท่าน วันนี้ (9 พ.ค. 66) ว่า เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังพยายามติดต่อบรรดานักธุรกิจและผู้นำทางด้านการเงินเพื่ออธิบายถึง “หายนะทางเศรษฐกิจ” ที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศ หากรัฐบาลไม่ขยายเพดานหนี้สาธารณะ 

หนึ่งในแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังของรอยเตอร์ส กล่าวย้ำว่า “รัฐมนตรีฯ อยู่ในช่วงนัดเจรจา “แบบตัวต่อตัว” กับบรรดาซีอีโอของบริษัทต่างๆ เพื่อเตือนถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้น”

ทั้งนี้ แหล่งข่าวทั้งสอง ปฏิเสธที่จะระบุชื่อเหล่าซีอีโอที่เยลเลนสนทนาด้วย รวมทั้งปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดในบทสนทนา ทว่าหนึ่งในแหล่งข่าว ให้ข้อมูลว่า มีกลุ่มผู้บริหารในภาคการเงิน และภาคส่วนที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจในภาพกว้างด้วย 

อย่างไรก็ดี แม้แหล่งข่าวทั้งสองจะไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับจุดประสงค์และรายละเอียดของการสนทนาของเยลเลน มากนัก ทว่า ในช่วงที่ผ่านมา คณะบริหารของโจ ไบเดน (Joe Biden) ได้นัดพูดคุยกับบรรดาเจ้าของธุรกิจเกี่ยวกับความต้องการ “กดดัน” พรรครีพับลิกันให้เพิ่มเพดานหนี้โดยไม่มีเงื่อนไข

นอกจากนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ส ระบุอีกว่า เจเน็ต เยลเลย เลื่อนแผนการเดินทางไปญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ในการประชุมที่รวมบรรดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของ 7 ประเทศ หรือ จี 7 เพื่อไปกล่าวถึงเรื่องวิกฤติเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐขณะนี้ ในรายการข่าวของเอบีซี นิวส์ (ABC News) โดยระบุว่า หากไม่ขยับขึ้นเพดานหนี้อาจก่อให้เกิด “วิกฤติรัฐธรรมนูญ” (A Constitutional Crisis)

ทั้งนี้ เยลเลนจะเดินทางไปญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ จากนั้นจึงจัดแถลงข่าวในวันพฤหัสบดีที่เมืองนีงาตะ ประเทศญี่ปุ่น ก่อนการประชุมจี 7

“การพูดคุยในประเด็นเรื่องการขยายเพดานหนี้ ไม่ควรเกิดขึ้นในลักษณะเหมือนนำปืนไปจ่อหัวคนอเมริกัน” เยเลนกล่าว พร้อมอ้างอิงถึงท่าทียืนกรานไม่ปรับขึ้นเพดานหนี้ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากรีพับลิกันจนกว่าจะสามารถปรับลดงบประมาณในนโยบายของพรรคเดโมแครตได้

ด้าน ไบเดน ยืนยันว่า สภาคองเกรสมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการเพิ่มเพดานหนี้โดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเพดานหนี้ดังกล่าวก็เป็นตัวสะท้อนถึงการใช้จ่ายของรัฐบาลในช่วงก่อนหน้า

โดย ไบเดน จะพูดคุยกับ เควิน แมคคาร์ธี (Kevin McCarthy) ประธานสภาผู้แทนราษฎร จากพรรครีพับลิกัน ในวันอังคาร รวมทั้งมิตช์ แมคคอนเนลล์ (Mitch McConnell) ผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภา และสมาชิกรัฐสภาระดับสูงของพรรคเดโมแครต อยู่ในขั้นตอนพยายามผลักดันให้เกิดการขยายเพดานหนี้ขึ้นภายในวันที่ 1 มิ.ย. 2566

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เยลเลน กล่าวกับฝ่ายนิติบัญญัติว่า กระทรวงการคลังน่าจะไม่สามารถชำระ “หนี้ทั้งหมดของรัฐบาล” ได้ภายในวันที่ 1 มิ.ย. หากปราศจากการเพิ่มวงเงินหนี้ของรัฐบาลกลาง

ทั้งนี้ เยลเลน นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่ง และนักวิเคราะห์ท่านอื่นๆ ออกมาเตือนหลายครั้งว่า การผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐ จะส่งผลให้ประชาชนตกงานหลายล้านคน ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ค่าผ่อนบ้าน สินเชื่อรถยนต์ และบัตรเครดิตสูงขึ้นตามไปด้วย

โดยบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ทิ้งท้ายว่า ลักษณะการกู้ยืมเงินของสหรัฐแตกต่างจากลักษณะการกู้ยืมของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายแห่ง เพราะสหรัฐกำหนดวงเงินกู้ยืมที่เข้มงวด เนื่องจากโดยปกติรัฐบาลกลางมัก “ใช้จ่ายมากกว่าเงินที่หามาได้” ดังนั้นหากต้องการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น ส.ส. ต้องทำเรื่องขอเพิ่มเพดานหนี้เป็นครั้งๆ ไป

ด้านสำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) ระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์ที่มีทัศนคติทางการเมืองสอดคล้องกับทั้ง 2 พรรคการเมืองต่างเห็นตรงกันว่า แม้การผิดนัดชำระหนี้เพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็จะส่ง “แรงสั่นสะเทือน” ไปที่ตลาดหุ้น และทำให้อัตราดอกเบี้ยกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง

โดย มาร์ค แซนดาย (Mark Zandi) นักเศรษฐศาสตร์จาก มูดี้ส์ อินเวสเมนท์ เซอร์วิส (Moody’s Investment Service) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำระดับโลก กล่าวในช่วงการเปิดรับฟังความคิดเห็นของวุฒิสภา ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ว่า 

“หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ตลาดการเงินระยะสั้น (Short-term Funding Markets) ซึ่งจำเป็นต่อการไหลเวียนของสินเชื่อ ที่ช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในชีวิตประจำวัน ก็มีแนวโน้มที่จะปิดตัวลงเช่นกัน”