SCB EIC ส่องเศรษฐกิจไทย ฟื้นกลับไปเท่า Pre-COVID กลางปีนี้

SCB EIC ส่องเศรษฐกิจไทย ฟื้นกลับไปเท่า Pre-COVID กลางปีนี้

SCB EIC มองเศรษฐกิจไทยกลับไปเท่า Pre-COVID ได้ช่วงกลางปีนี้ และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากแรงส่งภาคการท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน และอาเซียน รวมถึงท่องเที่ยวในประเทศคึกคัก

     ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ  Economic Intelligence Center (EIC) ระบุว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปีนี้ ที่ออกมาขยายตัวต่อเนื่อง 2.7% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน สูงกว่าตลาดคาด (ผลสำรวจจาก Reuters) ที่ 2.3% 

      และปรับดีขึ้นจาก 1.4% ในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเศรษฐกิจไทยสามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้ 1.9% หากเทียบไตรมาสต่อไตรมาส  สูงสุดในรอบ 10 ไตรมาส หลังจากหดตัว -1.1%QOQ ในไตรมาสก่อน

 

 

 

 

 

 

         โดย เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2023 ขยายตัวดีในภาคบริการ และภาคเกษตร ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัว

          ในด้านการใช้จ่าย (Expenditure approach) สะท้อนให้เห็นว่าภาคบริการ การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในไตรมาสนี้

         • การส่งออกภาคบริการขยายตัวในอัตราสูงมาก 87.8%YOY ต่อเนื่องจาก 94.9% ในไตรมาสก่อน ตามรายรับการท่องเที่ยว และบริการค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้น สำหรับการนำเข้าภาคบริการขยายตัว 8.9% จากรายจ่ายค่าบริการท่องเที่ยว ค่าเดินทาง ค่าบริการทางการเงิน และค่าบริการธุรกิจอื่นๆ ขณะที่ค่าระวางสินค้ายังคง
หดตัวสอดคล้องกับปริมาณการส่งออก และนำเข้าสินค้าที่หดตัว

       • การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 5.4%YOY ต่อเนื่องจาก 5.6% ในไตรมาสก่อน จากแรงสนับสนุนสำคัญในการบริโภคหมวดบริการที่ขยายตัวมากถึง 11.1% โดยเฉพาะการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรม นอกจากนี้ การบริโภคในหมวดอื่น ได้แก่ หมวดสินค้าคงทน สินค้าไม่คงทน และสินค้าคงทน ขยายตัวได้ทุกหมวดในไตรมาสนี้

      • การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.6%YOY ชะลอตัวลงจาก 4.5% ในไตรมาสก่อน เป็นการชะลอตัวทั้งการลงทุนในเครื่องมือ เครื่องจักร และการก่อสร้าง ด้านการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัว 2.8% ชะลอลงจาก 5.1% ในไตรมาสก่อนใน 3 หมวดสำคัญ

        ได้แก่ เครื่องใช้สำนักงาน  ยานยนต์ และเครื่องจักรอุตสาหกรรม สำหรับด้านการก่อสร้างขยายตัว 1.1% จาก 1.9% ในไตรมาสก่อน จากการลดลงของการก่อสร้างโรงงาน และอาคารพาณิชย์ ซึ่งเร่งก่อสร้างไปแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา

       • การลงทุนภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้น 4.7%YOYเทียบ 1.5% ในไตรมาสก่อน โดยการลงทุนของรัฐบาลขยายตัว 6.9% เร่งตัวขึ้นจาก -2.2% ในไตรมาสก่อน ส่วนการลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัว 1.8% ชะลอตัวลงจาก 10.3% ในไตรมาสก่อน 

       หากพิจารณาด้านการก่อสร้าง พบว่า การก่อสร้างของรัฐบาลขยายตัวเร่งขึ้นมาก 8.3% เทียบ 0.1% ในไตรมาสก่อน จากการลงทุนสร้างถนน และสะพาน ขณะที่การก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจขยายตัว 1.3% ชะลอตัวค่อนข้างมากจาก 11.5% ในไตรมาสก่อน เนื่องจากยังไม่มีการลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 

        หากพิจารณาด้านการลงทุนเครื่องมือเครื่องจักร พบว่า การลงทุนซื้อเครื่องจักรเครื่องมือของรัฐบาลหดตัวน้อยลงที่ -0.5% เทียบกับ -10.2% ในไตรมาสก่อน ขณะที่การลงทุนเครื่องมือเครื่องจักรของรัฐวิสาหกิจชะลอตัวลงเหลือ 2.2%จาก 7.2% ในไตรมาสก่อน

       • การอุปโภคภาครัฐหดตัว -6.2%YOY ต่อเนื่องจาก -7.1%YOY ในไตรมาสก่อน จากการโอนเงินเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้า และบริการในระบบตลาด (ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโควิด) ที่หดตัวรุนแรงถึง -40.4% เป็นสำคัญ

        ขณะที่การอุปโภคภาครัฐในหมวดอื่น ได้แก่ ค่าตอบแทนแรงงาน รายจ่ายค่าซื้อสินค้า และบริการ ค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ถาวร และรายได้จากการขายสินค้า และบริการให้ครัวเรือน และผู้ประกอบการยังขยายตัวได้

       • มูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงหดตัว -6.4%YOY แม้ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนที่ -10.5% แล้ว แต่นับว่าเป็นการหดตัวสูง สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และการค้าโลก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวได้จากความต้องการรักษาความมั่นคงทางอาหารในหลายประเทศ

         • มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่แท้จริงลดลง -3.3%YOYต่อเนื่องจาก -5.9% ในไตรมาสก่อน โดยการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบลดลง โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ การนำเข้าสินค้าทุนลดลงสอดคล้องกับข้อมูลการลงทุนเครื่องมือเครื่องจักรที่ชะลอตัวลง ขณะที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคยังขยายตัวได้สอดคล้องกับข้อมูลการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดี

         • สินค้าคงเหลือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 60,852 ล้านบาท โดยการสะสมสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นในสินค้าอุตสาหกรรม ขณะที่การสะสมสินค้าคงคลังในสินค้าเกษตรลดลงเล็กน้อย สำหรับการสะสมทองคำลดลงเนื่องจากราคาทองคำอยู่ในระดับสูงส่งผลให้มีแรงจูงใจในการส่งออกทองคำเพิ่มขึ้น

       อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือที่เพิ่มขึ้น 60,852 ล้านบาทนี้ เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 7 ไตรมาส

      ในด้านการผลิต (Production approach) เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคบริการ และภาคเกษตร ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง

        • การผลิตภาคการเกษตรขยายตัวมากสุดในรอบ 19 ไตรมาสที่ 7.2%YOY โดยผลผลิตหมวดปศุสัตว์และพืชผลเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศ และปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะอ้อย ปาล์มน้ำมัน ข้าวเปลือก ผลไม้ สุกร และไก่เนื้อ ขณะที่ผลผลิตหมวดประมงลดลง

         • การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว -3%YOY ต่อเนื่องจาก -4.6% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยสาขาการไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำ และระบบปรับอากาศพลิกกลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาสที่ -4.2% จากการผลิตที่ลดลงในหมวดไฟฟ้า และหมวดโรงแยกก๊าซ สอดคล้องกับข้อมูลการใช้กระแสไฟฟ้าทั่วประเทศที่ลดลง 
        ด้านสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว -3.1% ดีขึ้นจาก -5% ในไตรมาสก่อน ขณะที่สาขาเหมืองแร่และเหมืองหินหดตัว -2.4% ดีขึ้นจาก -6.9% ในไตรมาสก่อน

        • หมวดบริการขยายตัวต่อเนื่อง 6 ไตรมาสอยู่ที่ 5.2%YOY โดยขยายตัวในทุกสาขาสำคัญ โดยเฉพาะสาขาที่พักแรม และบริการด้านอาหารที่ขยายตัวมากถึง 34.3% และสาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้าที่ขยายตัว 12.4% สอดคล้องกับข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยที่ฟื้นตัวดี 

     ทั้งนี้  ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยในไตรมาสนี้มีแรงหนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 6.5 ล้านคนในไตรมาสนี้ 

       อีกทั้งความต้องการท่องเที่ยวในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนไทยที่เติบโตได้สูงกว่าช่วงก่อนโควิดแล้วในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 พร้อมกับโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 ของภาครัฐที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงเดือนมีนาคม ส่งผลดีต่อตลาดแรงงาน การผลิต การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน 

         นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐยังขยายตัวได้ดีจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณก่อนการยุบสภา อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ายังหดตัวต่อเนื่องตามแนวโน้ม และความผันผวนของเศรษฐกิจ และการค้าโลก 

         ด้านการบริโภคของภาครัฐแม้จะได้รับประโยชน์จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ แต่นับว่าหดตัวลงมากหลังเม็ดเงินกู้พิเศษในช่วงวิกฤติโควิดหมดลงสำหรับภาคการผลิต (Production approach) พบว่าภาคบริการขยายตัวสูง ภาคเกษตรขยายตัวเร่งขึ้นตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูก

        อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่องตามการหดตัวของการผลิตเพื่อส่งออก

         ภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวใกล้ระดับก่อนโควิดมากขึ้น หลายภาคส่วนฟื้นตัวเหนือระดับดังกล่าวแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2023 อยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนวิกฤติโควิดประมาณ 1.5% หากพิจารณาในด้านการใช้จ่าย การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การบริโภคภาครัฐ การลงทุนภาครัฐ และการส่งออกสินค้าอยู่ในระดับสูงกว่าระดับก่อนวิกฤติโควิดแล้ว

        แต่การส่งออกภาคบริการ (ซึ่งส่วนมากเป็นภาคการท่องเที่ยว) ยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติราว 40% และหากพิจารณาในด้านภาคการผลิต ภาคเกษตรฟื้นตัวอยู่ในระดับสูงกว่าก่อนวิกฤติโควิดแล้วตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนเกิดวิกฤติราว 1% และ 3.6% ตามลำดับ

       ทั้งนี้คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติได้ในช่วงกลางปี 2023

        ในระยะถัดไปเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยปัจจัยสนับสนุนหลักยังคงมาจากภาคการท่องเที่ยว SCB EIC ประเมินว่า จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยมากถึง 30 ล้านคนในปี 2023 

         ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากการที่นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางเข้ามาในไทยได้มากถึง 4.8 ล้านคนจากการประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบของจีน อีกทั้ง จำนวนผู้เยี่ยมเยือนไทยในเดือนเมษายนยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

         อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยกดดันจากนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้นด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจโรงแรม สายการบิน บริษัททัวร์ รถเช่า สถานที่และกิจกรรมท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหาร สปาและเวลเนส

        รวมถึงบริการทางการแพทย์ด้านการส่งออกสินค้าที่หดตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรกคาดว่าจะมีแนวโน้มหดตัวในอัตราชะลอลง และขยายตัวได้ในครึ่งหลังของปี 2023 ด้านการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่สูงขึ้น

        อีกทั้ง ภาคการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอุปสงค์ภายในประเทศ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตที่อยู่ในระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการสำรวจในเดือนธันวาคม 2015 

        อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปี 2023 ยังต้องเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำหลายประการ ได้แก่ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจรุนแรงขึ้น ปัญหาวิกฤติเสถียรภาพทางการเงินโลกที่อาจลุกลาม เงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวแรงขึ้น นโยบายการเงินโลก และไทยที่อาจตึงตัวแรงขึ้น หนี้ครัวเรือนและแนวโน้มการผิดชำระหนี้ที่อาจสูงขึ้น และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเมืองจากการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล

        การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตาในปี 2023 การเลือกตั้งและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 เนื่องจาก พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2023 จะครอบคลุมการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจนถึงสิ้นไตรมาส 3 ของปี 2023 และทำให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการตามนโยบายและโครงการต่าง ๆ ที่มีการกำหนดไว้แล้วได้เป็นปกติ

     อีกทั้ง ยังมีการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ และนำเรื่องเข้ากระบวนการพิจารณาก่อนการยุบสภา นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยจะยังได้รับแรงสนับสนุนจากเม็ดเงินในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

    อย่างไรก็ดี ผลกระทบด้านลบจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 จากความไม่แน่นอนของระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ส่งผลให้มีเม็ดเงินสนับสนุนเศรษฐกิจจากภาครัฐเพิ่มเติมได้ไม่มากนัก อีกทั้งนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่จะมีผลกระทบสู่เศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2024

       ทั้งนี้ตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2023 ล่าสุดอยู่ที่ 3.9% (คาดการณ์ ณ เดือนมีนาคม) โดย SCB EIC กำลังติดตามและวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ก่อนที่จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน นี้

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์