หนี้ท้องถิ่นจีน พุ่ง 760 ล้านล้านบาท รัฐปรับโครงสร้างหนี้ - เขย่าชีวิตชาวจีน
“หนี้ท้องถิ่น” ทั่วประเทศจีน พุ่งขึ้นแตะ 23 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 759 ล้านล้านบาท) ด้านรัฐบาลกลางปักกิ่งจ่อ “ปรับโครงสร้างหนี้” ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ด้าน “ประชาชน” ชี้ประสบกับความยากลำบาก
Key Points
- หนี้ท้องถิ่นทั่วประเทศจีน พุ่งขึ้นแตะ 23 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 759 ล้านล้านบาท
- รัฐบาลกลางปักกิ่งจ่อปรับโครงสร้างหนี้
- ชาวจีนจำนวนหนึ่งออกมาแสดงความคิดเห็นว่าประสบกับความยากลำบาก โดนลดเงินเดือน แถมเงินนอกเวลาออกช้าลงกว่า 10 วัน
หากย้อนกลับไปในปี 2564 เมืองในชนบทซึ่งขึ้นชื่อเรื่องถ่านหินเมืองหนึ่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนถูกบังคับให้ “ปรับโครงสร้างทางการเงิน” แบบฉับพลัน โดยการปรับโครงสร้างในครั้งนั้น นับเป็น “สัญญาณแห่งลางร้าย” สำหรับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jingping) เพราะยังมีอีกหลายพื้นที่ในจีนที่ประสบกับปัญหาคล้ายกัน
เมืองที่กล่าวมาคือ เมือง “เฮอกัง” (Hegang) ซึ่งมีประชากรเกือบล้านคน ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนรัสเซีย โดยเทศบาลเมืองเฮอกังมีหนี้สินมากกว่ารายได้จากกระทรวงการคลัง “มากกว่าสองเท่า” จนกลายเป็นพาดหัวใหญ่โตของบรรดาสื่อหลายประเทศอยู่เกือบ 18 เดือน และนับเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายบริหารเฮอกังใช้มาตรการฉุกเฉินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในการจัดการกับความเสี่ยงด้านหนี้สินครั้งนั้น
ตอนนี้ชาวเมืองเฮอกังเริ่มรู้สึกถึงความโหดร้ายของ “การยึดอํานาจทางการเงิน” ในระหว่างที่บรรดานักข่าวเดินทางไปเยี่ยมชมเมืองเมื่อไม่นานมานี้ ชาวบ้านบ่นเกี่ยวกับการขาดสถานที่สร้างความอบอุ่น ในช่วงฤดูหนาวที่เยือกแข็ง รวมทั้งบรรดาคนขับรถแท็กซี่ต่างกล่าวว่า พวกเขาถูกรีดไถด้วยค่าปรับจราจรที่แพงมากขึ้น ส่วนครูโรงเรียนของรัฐก็กังวลว่าจะถูกปลดจากต่ำแหน่ง ขณะที่พนักงานทําความสะอาดถนนต้องรอกว่า 2 เดือนเงินเดือนจึงจะเข้าบัญชี
ณ บริเวณ นอกโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดของเมือง หญิงวัยกลางคนสวมเสื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์สีเขียวและหน้ากากอนามัยอย่างเป็นระเบียบ กล่าวว่า นายจ้างเปลี่ยนสัญญาการทํางานจากสถานพยาบาลที่ดําเนินการโดยรัฐบาล ไปเป็นบุคคลอื่น ซึ่งส่งผลให้ผลประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ ลดลง เช่น ค่าล่วงเวลาสําหรับการทํางานในวันหยุดจำนวน 1,600 หยวน หรือ ประมาณ 228 ดอลลาร์ (กว่า 7,524 บาท) ล่าช้ากว่า 10 วัน ทุกเดือนตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
"ฉันอารมณ์เสียกับเรื่องนี้มาก" สตรีคนดังกล่าวซึ่งขอไม่ระบุชื่อเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสภาพการทํางานของเธออย่างอิสระกล่าวในขณะที่เข็นรถที่บรรจุกล่องกระดาษแข็งแบนไปยังจุดรีไซเคิลกลางแจ้ง "ทุกอย่างแพงมาก แทบจะไม่พอซื้ออาหารให้ครบสามมื้อต่อวันเลย" เธอเสริม
ทั้งนี้ เฮอกัง เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของยอดภูเขาน้ำแข็งในปัญหาหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นเท่านั้น ปัญหานี้ทําให้นักลงทุนวิตกกังวลอย่างมาก ยังมองว่า ปัญหาดังกล่าวอาจเป็น “แรงฉุดเศรษฐกิจ” ของประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในอีกหลายปีข้างหน้า
ด้านนักวิเคราะห์จาก โกลด์แมน แซคส์ ประเมินว่า หนี้ของรัฐบาลจีนทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 23 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 759 ล้านล้านบาท) ซึ่งรวมถึงการกู้ยืมที่ซ่อนอยู่ของ บริษัทด้านเงินทุนหลายพันแห่ง ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยจังหวัดและบรรดาเมืองต่างๆ ด้วย
บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ให้ข้อมูลว่า แม้โอกาสที่เทศบาลจีนจะ “ผิดนัดชำระหนี้” อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากการค้ำประกันหนี้ทันทีของรัฐบาลกลางปักกิ่ง แต่ความกังวลที่ใหญ่กว่าคือรัฐบาลท้องถิ่นจะต้องลดค่าใช้จ่ายลงอย่างเจ็บปวด หรือหั่นเม็ดเงินออกจากโครงการที่กระตุ้นการเติบโตเพื่อชำระหนี้ต่อไป โดยเดิมพันสำหรับ สี คือความทะเยอทะยานของเขาในการเพิ่มระดับรายได้เป็น 2 เท่าภายในปี 2578 พร้อมกับลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างเสถียรภาพทางสังคม ประกอบกับความต้องการอยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศไปอีกหลายทศวรรษ
ส่วน เฮาเซอ ซง (Houze Song) นักเศรษฐศาสตร์จากมาโครโปโล (MacroPolo) ของสหรัฐ กล่าวว่า “หลายเมืองในจีนจะเป็นแบบเฮอกังในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า” พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า จากจำนวนประชากรสูงอายุที่มากขึ้นและการลดลงของประชากรที่สูงขึ้น อาจหมายความว่า หลายเมืองจะไม่มีแรงงานที่จะรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจัดเก็บภาษีไว้ได้
"รัฐบาลกลางอาจสามารถรักษาเสถียรภาพในระยะสั้นได้โดยขอให้ธนาคารทบยอดหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นไว้ก่อน" ซงกล่าว โดยหากไม่มีการขยายเวลากู้เขาเสริมว่า "กว่าสองในสามของท้องถิ่นจะไม่สามารถชําระหนี้ได้ทันเวลา"
อนึ่ง ในมณฑลเฮย์หลงเจียง (Heilongjiang) ของจีน ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของเมืองเฮอกัง นักลงทุนตราสารหนี้ได้วางแผนควบคุมความเสี่ยงไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ขณะที่พันธบัตรอายุ 7 ปีที่โดดเด่นของมนฑล มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 3.53% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ 0.188% และอยู่ในพันธบัตร 4 อันดับแรกที่แพงที่สุดในประเทศ
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า การปรับโครงสร้างทางการคลังมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้ 2 วิธี
- หากการจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรของเทศบาลเกิน 10% ของรายจ่าย
- ในกรณีที่ผู้นําท้องถิ่นเห็นว่าจําเป็น
โดย บริษัทหลักทรัพย์ เยวไค (Yuekai) ในจีน ประเมินว่า มีประมาณ 17 เมืองที่มีค่าจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรมากกว่า 7% ของรายจ่ายตามงบประมาณในปี 2563 ซึ่งหมายความว่าใกล้แตะระดับ 10% แล้ว นอกจากนี้เมืองส่วนใหญ่ยังอยู่ในจังหวัดที่ยากจนกว่าเฮอกัง เช่นมณฑลเหลียวหนิง (Liaoning) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน นั้นหมายความว่าอาจมีสถานภาพทางการเงินที่แย่กว่า
ปัญหาคล้ายกันปรากฏชัดเจนในอีกหลายเมืองของจีน เช่น ฉางชิว (Shangqiu) เมืองที่มีประชากร 7.7 ล้านคน ซึ่งอยู่ในมณฑลเหอหนาน (Henan) ตอนกลางของจีนตกเป็นข่าวพาดหัวข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ หลังจากเกือบจะปิดบริการขนส่งสาธารณะเพียงแห่งเดียวในอู่ฮั่นและกวางโจว รวมทั้ง ทางการพยายามเสนอให้ลดสวัสดิการทางการแพทย์ของผู้รับบํานาญ จนกระทั่งเกิดการประท้วงบนท้องถนน ซึ่งไม่ค่อยเกิดขึ้นมากนักในจีน โดยมีรายงานว่าข้าราชการในเมืองที่ร่ำรวยอย่าง เซี่ยงไฮ้ (Shanghai) ก็ถูกลดเงินเดือนเช่นเดียวกัน
ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนพยายามผลักดันให้รัฐบาลท้องถิ่นควบคุมความเสี่ยงด้านหนี้มาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหนี้ "ซ่อนเร้น" หรือหนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายด้านการคมนาคม และจัดซื้อยานพาหนะในนามของเทศบาล แต่ไม่ปรากฏในงบดุลของท้องถิ่น โดยหลิว คุน (Liu Kun) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเจ้าหน้าที่ท่านอื่นพยายามคลายความกังวลของสาธารณชน ผ่านการระบุว่าการเงินของรัฐบาลท้องถิ่นโดยรวม "มีเสถียรภาพ"
ด้าน ฌอง ออย (Jean Oi) ศาสตราจารย์ด้านการเมือง ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการปฏิรูปการคลังของจีน กล่าวว่า
“ปัญหาหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นกระจายอยู่ทั่วประเทศ” พร้อมกล่าวเสริมว่า “ขณะที่พื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มีโอกาสในการชําระหนี้มากขึ้น แต่ในพื้นที่อื่นที่ค่อนข้างมีทรัพยากรน้อยก็มีความสามารถในการจ่ายหนี้น้อยลงสอดคล้องกันไป”
การปฏิเสธของ ‘เฮอกัง’
เฮอกังเผชิญกับรายได้ที่ลดลงหลายปีจากกำไรของอุตสาหกรรมถ่านหินที่ลดลงและการสูญเสียผู้เสียภาษีเนื่องจากประชากรของเมืองหดตัวลง 16% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประกอบกับเกิดการปะทะกัน 2 ครั้งและการปราบปรามจากรัฐบาลกลางปักกิ่งในตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการปิดประเทศจากมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid)
ทั้งนี้ ข้อมูลซึ่งรวบรวมโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ในปี 2563 เจ้าหน้าที่เมืองเฮอกังระบุว่า ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นมูลค่า 5.57 พันล้านหยวน ได้เนื่องจากประสบกับการขาดเงินทุน โดยภายในปี 2564 หนี้รวมของเมือง รวมถึงจากแหล่งนอกงบดุลเพิ่มขึ้นเกือบแตะ 30 พันล้านหยวน หรือประมาณ 230% ของรายได้ทางการคลังทั้งหมด
จากนั้น เจ้าหน้าที่จากเมืองเฮอกังมีพยายามเดินหน้าลดอัตราส่วนหนี้เป็น 209% ภายในปี 2565 แต่ความพยายามในการปีนออกจาก “หลุมหนี้ทางการคลัง” ดังกล่าวก็เป็นเรื่องยากของสี และทีมเศรษฐกิจของเขา จามบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก
ทั้งนี้ รายได้ทั่วไปของเมือง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาษี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9% ในปี 2565 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาถ่านหินที่พุ่งสูงขึ้น แต่แม้ว่ารายได้จากการขายสินทรัพย์ของรัฐคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10% แต่ก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวของสิ่งที่ เฮอกัง ต้องการสำหรับรวมในงบประมาณประจำปี โดยประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ของเมืองในปีที่แล้วมาจากการถ่ายโอนจากรัฐบาลจังหวัดเท่านั้น
ส่วนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของ เฮอกัง พยายามดันภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่นการขุดกราไฟท์ขึ้นเป็น “อุตสาหกรรมสร้างรายได้” เพื่อลดการพึ่งพาถ่านหิน
อย่างไรก็ดี ในปี 2563 กราไฟท์ ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ใช้ในทุกสิ่ง ตั้งแต่ดินสอไปจนถึงแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า นับเป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างมีสัดส่วนน้อย คือคิดเป็นเพียง 1 ใน 6 ของภาคถ่านหินของเมือง รวมทั้งขณะที่ทางการกําลังส่งเสริมให้ เฮอกัง เป็นสถานที่พักผ่อนในช่วงฤดูร้อน เพราะมีอุทยานแห่งชาติสามแห่งและเขตอนุรักษ์ธรรมชาติพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่ด้วยความห่างไกลและสภาพอากาศที่เหน็บหนาวก็ทำให้ประชาชนไม่ค่อยเดินทางไปท่องเที่ยวเลย
ในรายงานการทํางานประจําปีของรัฐบาลที่ส่งมอบในเดือน มี.ค. หวัง ซินซู (Wang Xingzhu) นายกเทศมนตรีของเมืองเฮอกังยอมรับว่า
"อุตสาหกรรมเกิดใหม่ไม่ได้สร้างเม็ดเงินที่แข็งแกร่ง" ต่อเศรษฐกิจ ในขณะที่ "อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมก็ยังต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน" ถึงกระนั้นเขาก็มีน้ำเสียงที่สดใส โดยกล่าวว่าเทศบาลได้พยายามลด “หนี้นอกงบดุล” บางส่วนและ "ได้ผ่านช่วงเวลายากลำบากสูงสุดของการชําระหนี้ไปอย่างราบรื่นแล้ว"
ด้านบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า หนึ่งสิ่งที่น่าดึงดูดใจในเฮอกัง คือราคาอสังหาริมทรัพย์ถูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสำหรับหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ที่ท้อแท้กับความเครียดและค่าครองชีพที่สูงในเมืองใหญ่ของจีน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ประชากรหดตัว และอุปทานล้นเกิน
โดย ดีย่า (Diya) นักร้องและครูสอนดนตรีวัย 33 ปีที่ขอให้ระบุเพียงชื่อในวงการ กล่าวว่า เขาย้ายจากเซี่ยงไฮ้ไปอยู่เฮอกังเมื่อสองปีก่อน เพราะ "แม้จะพยายามอย่างหนัก และทํางานตลอด 24 ชั่วโมงในเซี่ยงไฮ้ แต่ก็ไม่สามารถหาเงินได้มากพอที่จะรวยหรือเป็นเจ้าของบ้านได้เลย"
ทว่าตอนนี้ ดีย่า สามารถเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ 3 แห่งในเมืองเฮอกัง รวมถึงมีอพาร์ทเมนท์แบบวอล์กอัพ ขนาดสามชั้น ด้วยพื้นที่ 50 ตารางเมตรในราคา 40,000 หยวน หรือคิดเป็นเพียง 1% ของราคาที่อยู่อาศัยขนาดใกล้เคียงกันในเซี่ยงไฮ้
"เพื่อนร่วมงาน เพื่อน และญาติๆ ทุกคนต่างหัวเราะเยาะตอนที่บอกว่าจะย้ายไปเฮอกัง เพราะถือเป็นการลดระดับการใช้ชีวิตลง" เขากล่าว "แต่เฮอกังเป็นสถานที่ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินหรือความทะเยอทะยานมากมายในการจะมีชีวิตที่ดี” ดีย่า ทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์