ตั้งการ์ดให้พร้อม รับมือโลกแบ่งขั้ว
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน สะท้อนให้เห็นมูลค่าการค้าโลกที่มีแนวโน้มลดลงตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก่อนจะลุกลามมาสู่ภาคการลงทุนและการเงิน สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายว่าจะรับมืออย่างไร? แล้วโอกาสเติบโตจะยังมีอยู่หรือไม่? ติดตามอ่านได้จากบทความนี้
สถานะของประเทศมหาอำนาจอย่าง "สหรัฐอเมริกา" กำลังถูกสั่นคลอนจากเหตุการณ์ระหว่างประเทศหลายครั้งหลายครา กลายเป็นรอยร้าวของโลกที่ชัดเจนขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีจีน "สี จิ้นผิง" เดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบียในช่วงปลายปี 2565 ได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ ชนิดตบหน้าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา "โจ ไบเดน" ที่ได้เดินทางมาเยือนซาอุดีอาระเบียในช่วงกลางปี 2565 จนเกิดการเปรียบเทียบว่า เป็นการต้อนรับที่แตกต่างอย่างลิบลับ และจีนยังไม่หยุดแค่นั้น เมื่อเดือนที่ผ่านมาได้เดินหน้าใช้ความสัมพันธ์ทางการทูตเข้าไปเป็นกาวใจให้กับอิหร่านและซาอุดีอาระเบียที่ขัดแย้งมายาวนานให้สามารถสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันได้อีกครั้ง ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้แก่ชาวโลก
แต่ก็ใช่ว่าสหรัฐจะยอมให้ถูกท้าทายอยู่เพียงฝ่ายเดียว อีกด้านหนึ่งการไปมาหาสู่กันระหว่างผู้นำไต้หวันและสหรัฐ ทั้งการเดินทางไปเยือนไต้หวัน เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น และล่าสุดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ไช่ อิง-เหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน ก็ได้เดินทางไปพบกับเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา ที่แคลิฟอร์เนียเช่นกัน การเหยียบจมูกเสือครั้งนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับจีน และเพิ่มดีกรีความตึงเครียดระหว่างจีน สหรัฐ และไต้หวันเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อย
ขณะที่ผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อมานานกว่า 1 ปี ก็ยังไม่มีทีท่าสิ้นสุด เห็นได้จากมหาอำนาจโลกเริ่มแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน ระหว่างสหรัฐอเมริกา - สหภาพยุโรป ที่สนับสนุนยูเครน กับอีกฝั่งคือ จีน อินเดีย และชาติพันธมิตรในตะวันออกกลางที่เป็นพันธมิตรของรัสเซีย ซึ่งสงครามไม่เพียงสร้างผลกระทบทั้งในเรื่องของการสูญเสียชีวิต ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ ห่วงโซ่การผลิต รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไปทั่วโลก
สำนักเศรษฐกิจสำคัญของโลก ประเมินความเสี่ยงที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกในปีนี้ โดยให้น้ำหนักกับเรื่องของเงินเฟ้อเป็นอันดับหนึ่ง แต่ปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้ลำดับถัดมาคือ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk)
ก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์ว่า การกีดกันทางการค้า ระหว่างสหรัฐและจีน จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของโลกจะสูญหายไป 1.5% ซึ่งการค้าโลกที่ถูกแบ่งเป็น 2 ขั้วนี้ได้สร้างความเสียหายเป็นมูลค่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ภูมิภาคเอเชียอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงเป็นสองเท่า หรือมากกว่า 3% ของจีดีพี เนื่องจากภูมิภาคเอเชียมีการบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่คุณค่าโลก (Global Value Chains - GVC) มากขึ้น
ขณะที่ประธานธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี มองว่า ความขัดแย้งของ 2 ขั้วอำนาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกอ่อนแอและ ภาวะเงินเฟ้อ พุ่งสูงต่อเนื่อง โดยอ้างถึงข้อมูลในอดีตว่า "ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์นำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงอยู่เสมอ" โดยเฉพาะระบบห่วงโซ่อุปทานต้องแบ่งแยกด้วยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เงินเฟ้อจะปรับขึ้นไปที่ 5% ในเวลาอันใกล้ และ 1% ในระยะยาว
แน่นอนว่า ความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจของโลกและสงครามรัสเซีย-ยูเครนย่อมส่งผลกระทบต่อการค้าโลก โดย องค์การการค้าโลก หรือ WTO คาดการณ์ว่า ในปี 2566 การค้าโลกจะขยายตัว 1.7% ชะลอลงจากปี 2565 ที่ขยายตัว 2.7% และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการขยายตัว 2.6%
การแยกขั้วทางเศรษฐกิจ (Decoupling) ระหว่างสหรัฐและจีน ทั้งด้านการค้า การลงทุน และเทคโนโลยี มีการคาดการณ์ว่าอาจนำพาโลกเข้าสู่สงครามเย็นยุคใหม่ที่มีรูปแบบแตกต่างไปจากสงครามในอดีต ที่แน่ๆ ความขัดแย้งของสองประเทศมหาอำนาจย่อมส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตและการค้าโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เห็นได้จากข่าวที่รัฐบาลสหรัฐสั่งห้ามเจ้าตลาดชิปอย่าง Nvidia และ AMD ไม่ให้ส่งออกชิปไปยังจีน ส่งผลกระทบต่อบริษัทเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ รวมถึงภาพของห่วงโซ่การผลิตที่ค่อยๆ เปลี่ยนไป จากการย้ายฐานการผลิตของธุรกิจในสหรัฐที่เลือกถอนจากจีนมาตั้งฐานการผลิตที่เวียดนามแทน
ขณะที่รัฐบาลจีนเอง ดูเหมือนจะไม่ให้น้ำหนักกับความพยายามกีดกันของสหรัฐมากนัก หากแต่ได้มองข้ามชอตไปไกล ด้วยการประกาศให้ความสำคัญกับการผลักดันความเป็นผู้นำเทคโนโลยีของโลก พยายามพัฒนารากฐานด้านเทคโนโลยีสุดล้ำด้วยตัวเอง และมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี
ในสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ได้กล่าวในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ไม่เพียงย้ำถึงความมุ่งมั่นในการรวมไต้หวันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในแผ่นดินใหญ่เท่านั้น เขายังเน้นย้ำเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของจีนในระยะข้างหน้าด้วย
จึงไม่แปลกใจที่จะได้เห็นรัฐบาลและผู้นำจีนพยายามออกไปสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเล็กๆ ทั้งในลาตินอเมริกา หรือในเอเชียเพื่อเข้าถึงแหล่งแร่หายาก (Rare Earth) ที่จะใช้ในการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี เพราะจีนทราบดีว่าจะช่วยรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐและจีนได้
ในความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้านี้เอง ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ประเมินว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI หรือ Quantum Computing เป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่ด้วยประเทศไทยเอง ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมเดิม จึงยังไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก
ไม่เพียงการค้าและการลงทุน สหรัฐยังถูกจีนท้าทายในแง่ของบทบาททางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์ที่เป็นสกุลเงินหลักของโลกอาจจะเสียพื้นที่ตลาดการชำระเงินโลกให้กับสกุลเงินหยวนในอนาคต หลังจากที่รัฐบาลจีนมีนโยบายที่จะผลักดันเงินสกุลหยวนไปสู่การเป็นสกุลเงินหลักของโลก ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเริ่มเห็นบทบาทที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่รัสเซียหันมาใช้หยวนเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศถึง 1 ใน 3 กันเลยทีเดียว
ล่าสุดสมาคมเพื่อการโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก หรือ SWIFT ได้รายงานว่า เงินหยวนได้กลายเป็นสกุลเงินที่ใช้มากที่สุดสำหรับการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนในจีน แซงหน้าดอลลาร์เป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2566 จากการที่จีนได้ใช้เงินหยวนซื้อสินค้าโภคภัณฑ์จากรัสเซียเพิ่มขึ้นมากในช่วงปีที่ผ่านมา และได้ใช้เงินหยวนเกือบทั้งหมดในการซื้อน้ำมัน ถ่านหิน และโลหะบางประเภท แทนการใช้เงินดอลลาร์
นอกจากรัสเซียแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่ยอมรับเงินหยวนเป็นสกุลเงินเพื่อการชำระสินค้าและบริการโดยตรง ปัจจุบันธนาคารกลางของจีนได้เซ็นสัญญาร่วมกับกลุ่มธนาคารกลางใน 40 ประเทศ/ภูมิภาคทั่วโลก เพื่อแลกเปลี่ยนเงินตรากันโดยตรงระหว่าง 2 ประเทศ โดยไม่ต้องไปเปลี่ยนเป็นสกุลเงินกลางอย่างดอลลาร์และยูโรก่อน ขณะที่ไทยเอง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีแผนผ่อนคลายข้อจำกัดให้กับสถาบันการเงินและลูกค้าในการใช้เงินบาท และเงินหยวนในการทำธุรกรรมชำระสินค้าและบริการได้ภายในปีนี้ เพื่อส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้น ลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
เมื่อต้องอยู่ในวงล้อมการห้ำหั่นของประเทศยักษ์ใหญ่ เราควรจะอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งได้อย่างที่เรียกว่า "อยู่เป็น" ไม่หลงไปในอยู่ในวงล้อมของสงคราม ซึ่งบทความเรื่อง DEGLOBALIZATION กับเศรษฐกิจไทย ในวารสารพระสยาม ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม - มีนาคม 2566 ที่เขียนโดย ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้แนวทางการรับมือว่า ไทยควรเพิ่มสัดส่วนของการส่งออกสินค้าไทยในตลาดโลก เพื่อชดเชยอัตราการขยายตัวที่ต่ำของการค้าโลก ด้วยการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทย ในตลาดโลก รวมถึงการหา Product Champion ใหม่ๆ สร้างความยั่งยืนของการท่องเที่ยวต่างประเทศ ช่วยชดเชยการชะลอตัวของการส่งออกสินค้ารวมถึงการกระจายความเสี่ยงไปสู่การส่งออกบริการอื่นๆ ที่ใม่ใช่การท่องเที่ยว เช่น บริการด้านการเงิน บริการด้านไอที และการให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และข้อสุดท้ายที่น่าสนใจคือ ใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส ใช้โอกาสของแนวโน้มการแตกออกของห่วงโซ่การผลิตโลกในการดึงดูดการลงทุนจากทั้งสองขั้วความขัดแย้ง ระหว่างสหรัฐและจีน ด้วยการเป็นพันธมิตรกับทั้งสองประเทศ
อย่างไรก็ตามความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนกระทบต่อเงินเฟ้อและมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ กระทบต่อมูลค่าการค้าโลกให้มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยระหว่างปี 2551-2564 การค้าโลกขยายตัวเฉลี่ย 4.2% ต่อปีลดลงจากช่วงปี 2541-2550 ที่เติบโตได้ 9.9% และมองไปข้างหน้าแล้ว ยังไม่เห็นแนวโน้มการค้าโลกจะกลับเติบโตสูงกว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้ ซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการค้าโลกที่ชะลอลงน่ากลัวกว่า ผลกระทบที่เกิดจากอัตราเงินเฟ้อโลกค่อนข้างมาก
การแบ่งขั้วมหาอำนาจโลกเวลานี้ มองเผินๆ อาจจะเห็น 2 ขั้วอำนาจหลัก แต่มีการคาดการณ์กันว่าในอนาคตอาจจะได้เห็นโลกมีมากกว่า 2 ขั้ว หรือ Fragmentation แบ่งแตกแยกย่อยออกไป แต่ไม่ว่าจะกี่ขั้วก็ตาม ภาคธุรกิจควรติดตามสถานการณ์ เพื่อให้สามารถปรับกลยุทธ์รับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที