3 เหตุผล แม้แต่ รัฐบาลจีน ยังไม่ต้องการให้ ‘หยวน’ เป็น ทุนสำรองระหว่างประเทศ

3 เหตุผล แม้แต่ รัฐบาลจีน ยังไม่ต้องการให้ ‘หยวน’ เป็น ทุนสำรองระหว่างประเทศ

เปิด 3 เหตุผลที่ทำให้ แม้แต่ “รัฐบาลกลางปักกิ่ง” ยังไม่ต้องการให้หยวนเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ เริ่มตั้งแต่ การจำกัดการเข้า-ออกเงินทุน ไม่สามารถดำเนินนโยบายแบบขาดดุลต่อเนื่องได้ และ ปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์

Key Points

  • จีนยังไม่พร้อมให้เงินทุนต่างประเทศไหลเข้า-ออกอย่างเสรี
  • จีนไม่สามารถดำเนินนโยบายแบบขาดดุลได้ต่อเนื่อง
  • จีนเผชิญกับปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์จำนวนมาก

การพูดคุยเรื่อง “การลดการพึ่งพิงสกุลเงินดอลลาร์” (De-dollarization) เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ท่ามกลางความวิตกว่าสหรัฐพยายามแบ่งระบบการเงินโลกเป็น 2 ขั้ว เพื่อต่อต้านรัสเซียจากการรุกรานยูเครน

แม้แต่นักลงทุนที่มีชื่อเสียงก็กล่าวถึงประเด็นดังกล่าว โดยในเดือน เม.ย. เรย์ ดาลิโอ (Ray Dalio) นักลงทุนและมหาเศรษฐีชาวสหรัฐ เตือนว่าการคว่ำบาตรที่บีบทุนสํารองระหว่างประเทศ ในรูปแบบสกุลเงินดอลลาร์ของรัสเซีย “เพิ่มความเสี่ยงที่หลายประเทศก็อาจเผชิญเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันได้”

จากเหตุผลข้างต้น ประเทศต่างๆ จึงเริ่มเตรียมหาเงินที่ไม่ใช่ดอลลาร์และสินทรัพย์ทางเลือกเพื่อใช้ในการค้าและสะสมไว้เป็นทุนสำรองของตัวเอง เช่นการหันมาใช้ “สกุลเงินหยวน” เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการจำนวนมากมองว่า คงเป็นเรื่องยากที่จะยกเลิกหรือลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์  นอกจากนี้ หากลดการพึ่งพาดอลลาร์ได้จริง ทางเลือกรองคือ “ยูโร” ไม่ใช่หยวน

และที่สำคัญกว่านั้น บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวอินไซด์เดอร์ ระบุว่า รัฐบาลกลางปักกิ่งก็ไม่ได้ต้องการให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลกด้วยซ้ำ เนื่องจาก 3 เหตุผลดังต่อไปนี้

3 เหตุผลที่หยวนยังไม่สามารถแทนที่ดอลลาร์ได้

1. จีนไม่ต้องการเปิดเสรีสกุลเงินและปล่อยให้เงินเคลื่อนย้ายเข้า-ออกจากระบบเศรษฐกิจของตัวเองอย่างเสรี

โรรี กรีน (Rory Green) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ชาวจีน จากบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ทีเอส ลอมบาร์ด​ (TS Lombard) ในลอนดอน กล่าวว่า แม้ว่าจีนจะกระตือรือร้นในการมีบทบาทนำ ในประเด็นที่สหรัฐพยายามครอบงำระบบการเงินโลก แต่บทบาทดังกล่าวก็ทำได้แบบจำกัดตามเงื่อนไขของพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น

“ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (PBOC) ออกมาเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวังในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้เงินหยวนมากขึ้นโดยไม่กระทบต่อความมั่นคงทางการเงิน และพีบีโอซีก็น่าจะดำเนินนโยบายดังกล่าวต่อไป” กรีนเขียนในบันทึกเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ ทางการจีนพยายามรักษาพลวัตดังกล่าวไว้ ผ่านการควบคุมเงินทุน ซึ่งเป็นการควบคุมปริมาณเงินต่างประเทศที่สามารถเคลื่อนย้ายเข้าและออกจากระบบเศรษฐกิจของจีน และการกระทำดังกล่าวก็ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของจีนด้วย

“โดยทั่วไป นโยบายของปักกิ่งมักจะเอนเอียงไปทางการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุนต่างประเทศ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการรักษาความมั่นคงของประเทศในแบบของจีน”กรีนระบุ 

แทนที่จะผลักดันให้เงินหยวนกลายเป็นสกุลเงินสำรองของโลกที่โดดเด่น ทว่าปักกิ่งกลับมีแนวโน้มที่จะสร้าง อิทธิพลของเงินหยวน และทำลายการครอบงำของเงินดอลลาร์ในประเทศคู่ค้าเท่านั้น

2. จีนไม่ต้องการและไม่สามารถดำเนินการขาดดุลอย่างต่อเนื่องได้เหมือนสหรัฐ

ตำแหน่งและอิทธิพลของเงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินสำรองนั้นมีค่าใช้จ่าย คือต้องดำเนินนโยบายทางการเงินแบบ “ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด” นั่นเป็นเพราะมีความต้องการเงินดอลลาร์อยู่ทั่วโลกมากกว่าความต้องการนำเข้า

โดยข้อเสียของการดำเนินการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด คือถือเป็นการปล่อยให้ประเทศเปิดรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดของกระแสเงินทุนทั่วโลก

กรีน กล่าวว่า ในขณะที่จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในขณะนี้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะขาดดุลอย่างต่อเนื่องเหมือนสหรัฐได้ 

“ในทางการเมืองจีนไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และขณะเดียวกันก็ไม่สามารถดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบนั้นได้เช่นเดียวกัน ยกเว้นจะปฏิรูปโครงสร้างทางการเงินใหม่ทั้งหมด เพื่อดำเนินการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยั่งยืน” 

3. ปักกิ่งเผชิญกับความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์หลายประการ ดังนั้นจีนจึงต้องการสินทรัพย์ทางเลือก

ในเดือน เม.ย 43% ของการชำระเงินทั่วโลกผ่าน ระบบโอนเงินโลกสวิฟต์ (SWIFT) ชำระด้วยสกุลเงินดอลลาร์ ขณะที่ 32% ชำระด้วยสกุลเงินยูโร มีเพียง 2.3% ของการทำธุรกรรมในสกุลเงินหยวน

นอกจากนี้ ตามข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในไตรมาส 4 ของปี 2565 ดอลลาร์คิดเป็น 54% ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั่วโลก โดยเงินยูโรคิดเป็น 20% ของทุนสำรอง ในขณะที่เงินหยวนคิดเป็น 2.5% เท่านั้น 

ทั้งหมดหมายความว่า ก่อนที่ทั้งโลกจะหันมาใช้สกุลเงินหยวนเป็นหลัก สกุลเงินยูโรอาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากกว่า ซึ่งนั้นยังไม่รวมถึงปัญหาทางการเมือง ความไม่โปร่งใสในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ รวมทั้งความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในทะเลจีนใต้ ไต้หวัน และสงครามการค้ากับสหรัฐ​ ที่ลดความน่าสนใจของสกุลเงินหยวนลง

อ้างอิง

1. Insider.com