กรุงศรี ผู้นำสินเชื่อบรรษัทข้ามชาติ-นักลงทุนญี่ปุ่น ปักธงสินเชื่อโต3%
กรุงศรี ครองแชมป์ผู้นำ ให้สินเชื่อ บรรษัทข้ามชาติ-นักลงทุนญี่ปุ่นต่อเนื่อง ล่าสุดครองมาเก็ตแชร์ 75% คาดสินเชื่อปีนี้โตต่อเนื่อง ปักธงโต3% สอดคล้องจีดีพี
นายบุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบัน ภาพรวมการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทข้ามชาติในไทยยังคงเห็นการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนการลงทุนในไทยติดอันดับ 1 ใน 3
ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารกรุงศรีฯ มีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ของบริษัทญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติประมาณ 75% ของบริษัทที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 4,500 บริษัท ซึ่งธนาคารยังคงเป็นผู้นำในตลาดนักลงทุนญี่ปุ่น
โดยหากดูการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ พบว่าส่วนใหญ่จะเข้ามาเปิดสำนักงานใหญ่ในไทย เพื่อเชื่อมต่อไปยังตลาดอาเซียน ซึ่งธนาคารมีเครือข่ายในการให้บริการลูกค้าต่อเนื่อง ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีการขยายการลงทุนในอาเซียน
ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศอินโดนีเซียและอินเดีย อุตสาหกรรมเกษตรในประเทศกัมพูชา และอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนาม ส่วนการลงทุนในเมียนมาอาจจะชะลอตัว เนื่องจากมีความไม่แน่นอนอยู่
สำหรับเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติในปี 2566 ธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่ออยู่ที่ 3% สอดคล้องกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
กลยุทธ์ หลักๆของธนาคารปีนี้ เน้นให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่ออาเซียน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของกรุงศรีโดยได้ยกระดับบริการที่ปรึกษาทางธุรกิจเพื่อเชื่อมต่อทั้งภูมิภาคอาเซียนด้วยบริการใหม่ ‘ASEAN LINK’ ที่พร้อมตอบโจทย์ทุกความต้องการในการทำธุรกิจ เพื่อช่วยให้ลูกค้าของเราเติบโตใน 9 ประเทศทั่วทั้งอาเซียน และต่อยอดได้ในอีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลกผ่านเครือข่ายที่แข็งแกร่งของ MUFG
สำหรับบริการ Krungsri ASEAN LINK นับเป็นศูนย์กลางบริการด้านการทำธุรกิจในระดับภูมิภาคอาเซียนผ่านเครือข่ายที่แข็งแกร่งของกรุงศรี และ MUFG มีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมที่แตกต่างและหลากหลาย
พร้อมนำเสนอโซลูชันทางการเงินให้กับลูกค้าแบบ Tailor-made โดยเริ่มตั้งแต่การให้คำปรึกษา วิเคราะห์ และสนับสนุนข้อมูลด้านการตลาด รวมถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจเพื่อการควบรวมกิจการและการขยายการลงทุนในต่างประเทศ การพัฒนาและจัดตั้งสำนักงานธุรกิจในระดับภูมิภาค การให้บริการที่ปรึกษาทางกฎหมายและภาษีอากร และการจับคู่ทางธุรกิจ เป็นต้น
นอกจากนี้ กรุงศรียังคงเดินหน้ากลยุทธ์ในการต่อยอดการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน และร่วมเป็นส่วนช่วยผลักดันสตาร์ทอัพสู่เวทีอาเซียนผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนี้
• การสนับสนุนธุรกิจที่ดำเนินการตามกรอบความยั่งยืน (ESG) ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านเครือข่ายพันธมิตร พร้อมต่อยอดความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT)
และ Zeroboard Inc. สตาร์ทอัพสัญชาติญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญด้านคลาวด์เทคโนโลยีเกี่ยวกับการคำนวณและการแสดงผลลัพธ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจและ Supply chain เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจ สีเขียวอย่างเป็นรูปธรรม
• การสร้างเครือข่ายและสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)และ Techo Startup Center หน่วยงานภายใต้รัฐบาลกัมพูชาซึ่งส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างโอกาสทั้งในเวทีระดับประเทศและระดับอาเซียน โดยในปีนี้กรุงศรีได้ร่วมจัดงาน Japan-ASEAN Start-up Business Matching Fair 2023 ร่วมกับกระทรวงเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น (METI) depa และ Techo
ซึ่งเป็นงานจับคู่ธุรกิจสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีสตาร์ทอัพเข้าร่วมงานมากกว่า60 บริษัท จาก 9 ประเทศ และจากหลากหลายอุตสาหกรรม โดยมีนักลงทุนเข้าร่วมถึง 160 บริษัท จาก 6 ประเทศ นับเป็นการผนึกกำลังภายใต้เครือข่าย MUFG ในการสร้างโอกาสครั้งสำคัญให้กับสตาร์ทอัพ
“เราเชื่อมั่นว่าด้วยความเชี่ยวชาญของกรุงศรี และเครือข่ายที่แข็งเกร่งของ MUFG จะช่วยขยายโอกาสและขับเคลื่อนการเติบโตของทั้งธุรกิจญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ รวมทั้งช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน” นายโอคุโบะ